posttoday

วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยแข่งที่ไหนใครๆก็รัก

15 มิถุนายน 2566

เวลานี้คงไม่มีกระแสกีฬาไหนจะร้อนแรงเท่ากับ “วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย” อีกแล้ว เวลานี้สาวๆนักตบทีมชาติไทยกำลังลงแข่งวอลเลย์บอล Volleyball Nations League 2023 สนามที่ 2 อยู่

ซึ่งผลงานจากการลงสนาม 5 นัด เรามี 7 คะแนนอยู่อันดับที่ 9 จาก 16 ทีมที่ลงแข่ง 

16 ทีมที่ว่าคือทีมระดับท็อปของโลกซึ่งนักตบสาวไทยของเราอยู่ที่ 15 ของโลกในเวลานี้

แน่นอนว่าทุกครั้งที่นักตบสาวทีมชาติไทยลงสนามจะเรียกแฟนบอลที่เข้ามาเต็มความจุ และเรตติ้งการถ่ายทอดสดที่มากมายถล่มทลาย

เรามาย้อนเส้นทางของทีมวอลเลย์บอลสาวไทยกันว่า ทำไมพวกเธอตัวเล็กๆ ถึงทำให้กีฬาชนิดนี้โด่งดังและเรียกศรัทธาจากคนไทยได้ทั้งประเทศ และสร้างรอยยิ้มให้คนทั้งโลกจน FIVB สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ มักจะนำภาพของพวกเธอไปโปรโมทบ่อยๆด้วย

7 เซียนอดีตนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย

 

นักตบสาวไทยโชว์ตัวเวทีโลก

สำหรับทีมวอลเลย์บอลสายไทยของเราไปเล่นในศุกวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลกครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2541 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ตอนนั้นดาวเด่นของทีมคือ แอนณา ไภยจินดา  ซึ่งบทสรุปในปีนั้นเราจบที่ 13 ร่วมกับ เยอรมนี,เคนย่า และ สหรัฐ อเมริกา ซึ่งเป็นอันดับสุดท้ายของการแข่งขัน

ย้อนไปก่อนหน้านั้น 1 ปีคือปี 2540 สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยได้แต่งตั้ง เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร หรือ"โค้ชอ๊อต" เข้ามาเป็น 1 ในทีมสเกาท์ให้ช่วยเฟ้นหานักกีฬาดาวรุ่งฝีมือดีเข้ามาร่วมเก็บตัวในแคมป์ทีมชาติ 

แนวทางการสร้างทีมแบบของโค้ชอ๊อตคือเรียกดาวรุ่งจากทั่วประเทศไทยมารวมตัวฝึกซ้อม กินอยู่ร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และปรับความเข้าใจภายในทีม คนไหนมีความสามารถก็จะถูกผลักดันขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่

จากนั้นในปี 2545 ทีมวอลเลย์บอลสาวไทย ภายใต้การทำทีมของ "โค้ชอ๊อต" เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร สามารถผ่านรอบคัดเลือกเข้าไปเล่นในการแข่งขันวิลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกที่ประเทศเยอรมนี ครั้งนั้นเราจบที่อันดับ 17 ร่วม จากทีมที่เข้าร่วมทั้งหมด 24 ทีม

 

ซึ่งผู้เล่นในชุดนั้นเป็นรุ่นใหญ่ผสมกับดาวรุ่ง (จากโครงการที่โค้ชอ๊อต) ซึ่ง 3 ดาวรุ่งชุดนั้นคือ วรรณนา บัวแก้ว,อำพร หญ้าผา และ ปลื้มจิตร ถินขาว ที่กำลังจะก้าวเป็นกำลังสำคัญของทีมต่อไปในอนาคต

ภาพของเหล่าสาวๆนักวอลเลย์บอลทีมชาติไทยที่ FIVB นำไปใช้เป็น Cover เพจ

จุดกำเนิด 7 เซียนรวมตัว

ย้อนกลับไปในปี  2540  สามาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กำลังมีแผนที่จะเฟ้นหานักกีฬาดาวรุ่งหน้าใหม่ เข้ามารับไม้ต่อแทนที่รุ่นพี่วอลเลย์บอลทีมชาติชุดใหญ่ในเวลานั้น เพราะหลายคนอายุเยอะและเตรียมปลดระวางกันหลายคน ทำให้สมาคมฯ ต้องรีบแก้ไขปัญหาด้วยการเตรียมพร้อมเฟ้นหาดาวรุ่งขึ้นมา เพื่อเป็นตัวเลือก ในอนาคต

อย่างที่เกริ่นไปว่าสมาคมวอลเลย์บอลได้ เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร อดีตนักกีฬาวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทยที่ รีไทร์ ไปแล้ว เข้ามารับหน้าที่ในการดูแลตามหาเหล่านักตบลูกยางดาวรุ่งในครั้งนี้ จากการเฟ้นหานักกีฬาหลายร้อยคน คัดจนเหลือหัวกะทิ สุดท้ายก็ได้ผู้เล่นที่ลงตัวกับทีมและระบบที่สุด โดยเฉพาะผู้เล่น 7 เซียนที่แฟนวอลเลย์บอลตั้งให้ว่าผู้เล่นชุดนี้คือชุดที่ดีที่สุดของไทยที่เคยมีมา

7 เซียนที่ว่าได้แก่ วรรณา บัวแก้ว , ปลื้มจิตร ถินขาว , อำพร หญ้าผา,นุศรา ต้อมคำ, อรอุมา สิทธิรักษ์,วิลาวัลย์ อภิญญาพงษ์  และ มลิกา กันทอง

สำหรับนักตบลูกยางสาวไทยชุด 7 เซียน ถือว่าสร้างผลงานในเวทีระดับโลก และระดับทวีป มาตลอด 20 ปี เคยไปแข่งขันครบทุกรายการ ยกเว้นศึกโอลิมปิกเกมส์ คว้าแชมป์เอเชียได้ 2 สมัยในปี 2009 และ 2013 คว้าเหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์ปี 2014 และ เหรียญเงินเอเชี่ยนเกมส์ปี 2018 รวมถึงเหรียญทองซีเกมส์ ที่ยุค 7 เซียนผูกขาดมาคว้าเหรียญทองมาตลอดตั้งแต่ปี 2001

โค้ชด่วน ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ขณะติวเข้มลูกทีม

7 เซียนอำลาแต่ผลงาน"นักตบ"ไทยยังเปรี้ยง

กาลเวลาและสังขารไม่เคยรอใคร ผ่านการรับใช้ชาติมานาน 20 ปี การอำลาสนามของ 7 เซียนอย่างวรรณา บัวแก้ว , ปลื้มจิตร ถินขาว , อำพร หญ้าผา,นุศรา ต้อมคำ, อรอุมา สิทธิรักษ์,วิลาวัลย์ อภิญญาพงษ์  และ มลิกา กันทอง ก็มาถึงในที่สุดในปี 2564 

แฟนวอลเลย์บอลต่างวิตกกันว่าทีมจะขาดช่วงความสำเร็จ เพราะสิ่งที่ทั้ง 7 คนทำไว้ยิ่งใหญ่และสร้างกระแสให้คนดูเข้ามาชื่นชมกับความสำเร็จของทีมชาติไทยอย่างมาก

ทว่าทุกอย่างกลับตรงกันข้าม และอาจจะดูดีสดกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทัพนักตบสาวไทย ภายใต้การทำทีมของ"โค้ชด่วน" ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ที่รับไม้ต่อจากโค้ชอ๊อตได้แบบไร้รอยต่อ ผลงานประจักษ์ด้วยการทำทีมชาติไทยได้เหรียญเงินกีฬาเอเชียน เกมส์ 2018 

นักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยชุดปัจจุบัน

ส่วนผู้เล่นชุดปัจจุบัน มีดาวเด่นอย่าง ปิยะนุช แป้นน้อย หัวหน้าทีมที่โตมาจากสมัยโค้ชอ๊อตทำทีม ตามมาด้วย พรพรรณ เกิดปราชญ์ฐ,ทัดดาว นึกแจ้ง,ชัชชุอร โมกศรี,อัจฉราพร คงยศ และ พิมพิชยา ก๊กรัมย์ ทั้งหมดเหล่านี้คือรุ่นน้องที่คอยเสิร์ฟน้ำให้รุ่นพี่ 7 เซียน และได้เรียนรู้ซึมซับจากรุ่นพี่มาแล้วเมื่อคัร้งถูก "โค้ชอ๊อต" เรียกมาซ้อมและแข่งกับทีม

ดังนั้นการขึ้นมาของพวกเธอเหล่านี้จึงแทบไร้รอยต่อ แถมทำผลงานกันได้ดีจนเป็นที่ประทับใจกองเชียร์ไม่ต่างจากเดิม

ทัดดาว นึกแจ้ง ดาวเด่นของทีม

ปรากฎการณ์สนามแตก-ลูกรัก FIVB 

ความน่ารักสดใสของนักวอลเลย์บอลหญิงชุดนี้ ไม่เพียงแต่ประทับใจกองเชียร์ชาวไทย จนเกิดปรากฎการณ์สนามแตก แฟนวอลเลย์บอลเข้าสนามไปเชียร์แบบเต็มความจุดทุกนัด เท่านั้นไม่พอ บัตรเข้าชมเกมในสนาม โดยเฉพาะการแข่งขัน เนชั่นส์ ลีก สนามที่ 3 ที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ช่วงวันที่ 27 มิ.ย.ถึง 2 ก.ค. หมดตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้จองแล้ว

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเพจอย่างเป็นทางการของ Volleyball World ภายใต้การดูแลของ สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) ฝ่ายจัดการแข่งขัน วอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก (VNL) ได้ทำการเลือกตั้งรูปภาพหมู่สุดน่ารักของ 5 สาวไทย ประกอบด้วย ทัดดาว นึกแจ้ง, ชัชชุอร โมกศรี, ศศิภาพร จันทวิสูตร, สุพัตรา ไพโรจน์ และ ชิตพร กำลังมาก ขึ้นเป็นภาพหน้าปก (Cover) ของเพจอีกครั้ง เป็นการตอกย้ำว่า นักตบสาวไทย เป็นขวัญใจของแฟนวอลเลย์บอลทั่วโลก

และนี่คือรายชื่อผู้เล่นทีมชาติไทยชุดลงแข่งวอลเลย์บอล เนชั่นส์ลีก 2023 

1. ปิยะนุช แป้นน้อย (ตัวรับอิสระ) (หัวหน้าทีม)

2. พรพรรณ เกิดปราชญ์ (เซตเตอร์)

3. สิริมา มานะกิจ (เซตเตอร์)

4. สุพัตรา ไพโรจน์  (ตัวรับอิสระ)

5. ทัดดาว นึกแจ้ง  (บล็อกกลาง)

6. หัตถยา บำรุงสุข (บล็อกกลาง)

7. ชิตพร กำลังมาก  (บล็อกกลาง)

8. จรัสพร บรรดาศักดิ์ (บล็อกกลาง)

9. ชัชชุอร โมกศรี (หัวเสา)

10. อัจฉราพร คงยศ (หัวเสา)

11. พิมพิชยา ก๊กรัมย์ (บีหลัง)

12. วิภาวี ศรีทอง   (หัวเสา)

13. ศศิภาพร จันทวิสูตร (หัวเสา)

14. ธนัชชา สุขสด (บีหลัง)

"บุ๋มบิ๋ม" ชัชชุอร โมกศรี มือตบของทีมชุดปัจจุบัน

สำหรับ วอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ ลีก 2023 (VNL) สัปดาห์ 3 กลุ่ม 6 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยมีโปรแกรมแข่งขัน ดังนี้

  • วันที่ 27 มิถุนายน 2566 20.30 น. ไทย พบ เนเธอร์แลนด์
  • วันที่ 29 มิถุนายน 2566 20.30 น. ไทย พบ ตุรกี
  • วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 20.30 น. ไทย พบ ญี่ปุ่น
  • วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 20.30 น. ไทย พบ บราซิล