posttoday

8 บุคคล หัวใจสำคัญในงานพระราชพิธี ‘คิงชาร์ลส์’

05 พฤษภาคม 2566

ใกล้เข้ามาแล้วกับพิธีพระบรมราชาภิเษกครั้งประวัติศาสตร์ ‘คิงชาร์ลส์’ แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งคนทั่วโลกสามารถรับชมพิธียิ่งใหญ่ครั้งนี้ได้ แต่ก่อนที่จะถึงเวลานั้น มาดูกันว่ามีใครที่เป็นบุคคลสำคัญที่ควรรู้จักในพระราชพิธีที่โลกต้องจารึกครั้งนี้!

คิงชาร์ลส์

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

หลังจาก 8 เดือนของการเสด็จสวรรคตของผู้เป็นพระราชมารดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ก็ถึงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะทรงเข้ารับตำแหน่งสืบต่อพระราชมารดา ก่อนหน้านี้พระองค์เป็นรัชทายาทที่ดำรงพระยศองค์รัชทายาทยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์   และยังเป็นรัชทายาทที่พระชนมายุมากที่สุด ที่สืบราชบัลลังก์สหราชอาณาจักร

 

‘คิงชาร์ลส์’ ทรงมีพระนามเดิมว่า ‘ชาร์ลส์ ฟิลิป อาร์เธอร์ จอร์จ’ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ค.ศ.1948 ที่พระราชวังบักกิงแฮม ในกรุงลอนดอน ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ มีพระกนิษฐาและพระอนุชารวม 4 พระองค์

 

พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในสาขาประวัติศาสตร์   และเป็นพระรัชทายาทพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญา หลังจากที่ทรงรับตำแหน่งรัชทายาท พระองค์เข้ารับการฝึกทหารตามธรรมเนียมของราชวงศ์ โดยทรงผ่านการฝึกเป็นนักบินในกองทัพอากาศ และได้รับฉายาเชิดชูเกียรติคือ ‘Action Man’  พระองค์เคยทรงประจำการในเรือรบมาหลายลำ และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับการเรือค้นหาและทำลายทุ่นระเบิด HMS Bronington ในช่วงสุดท้ายที่ทรงรับราชการเป็นทหารเรือ

 

เมื่อครั้งวัยหนุ่มทรงถูกจับตาเรื่องการเลือกคู่ครองและเป็นข่าวหลายครั้งกับ คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ แต่ไม่อาจลงเอยได้เพราะติดขัดที่กฎระเบียบราชสำนัก พระองค์ได้ทรงเข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับ ‘เลดี้ ไดอานา’ ในเวลาต่อมา ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตไปทั่วโลก ด้วยความที่เจ้าหญิงไดอานาเป็นที่รักของผู้คน  และมีพระโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่

 

.. สุดท้ายพระองค์ได้หย่าร้างกันเพราะปัญหาความสัมพันธ์

 

ในปี 1997 เจ้าหญิงไดอานาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส ณ ขณะนั้นก็ทรงเป็นผู้ยืนกรานให้จัดพระราชพิธีพระศพอย่างสมพระเกียรติตามธรรมเนียมราชวงศ์อังกฤษ   หลังจากเหตุการณ์นี้เองได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนด้านภาพลักษณ์ของพระองค์ จากที่เคยถูกสื่อมองว่าเป็น ‘เพลย์บอย’  .. พระองค์ทรงเข้าหาประชาชน ปรากฏตัวในที่สาธารณชนมากขึ้น และทรงออกความเห็นในประเด็นต่างๆ ของสังคมมากยิ่งขึ้น

 

หลังจากนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้อภิเษกสมรสใหม่กับคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ ในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ.2005 และเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่เข้าพิธีสมรสในแบบของพลเมืองอังกฤษทั่วไป

 

ท้ายที่สุด สื่ออังกฤษอย่าง BBC รายงานว่าพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ในยุคสมัยที่ชาวอังกฤษมีความเห็นต่อราชวงศ์ในทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป .. สำหรับพระราชพิธีครั้งนี้พระองค์จึงต้องการแสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ได้ โดยวางแผนให้มีระยะเวลาของพระราชพิธีที่ลดลง งบน้อยลง และมีความเรียบง่ายมากยิ่งขึ้น

 

สมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร

สมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร

คามิลลา โรสแมรี เริ่มต้นจากการเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงและตระกูลขุนนางอังกฤษ  ทรงพบกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ครั้งแรกที่การแข่งขันโปโลในเมืองวินเซอร์เมื่อปี 1970   ขณะที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

 

แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแต่ก็เริ่มห่างเหินและถูกกีดกันออกไป   อีก 2 ปีต่อมาคามิลลาแต่งงานกับแอนดรูว์ พาร์เกอร์ โบลส์ นายทหารหนุ่มผู้เป็นพระสหายของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ในขณะที่อีก 8 ปีถัดมาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเลดี้ไดอานา   ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองที่มีข่าวเสียหายออกมาว่าพระองค์ได้กลับไปสานสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคามิลลาอีกครั้ง ซึ่งยืนยันโดยบทสัมภาษณ์ของเจ้าหญิงไดอานาที่บอกว่า ‘มีเราสามคมอยู่ในชีวิตสมรสนี้ มันก็เลยแออัดไปหน่อย’  ถ้อยคำดังกล่าวส่งผลให้คิงเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์หย่าขาดจากเจ้าหญิงไดอาน่า  ในขณะที่ชีวิตสมรสของคามิลลาก็ได้หย่าขาดจากกันเช่นกัน

 

หลังจากฝ่าฟันเรื่องราวต่างๆ มากมาย คามิลลาได้มีโอกาสออกมาพูดถึงข่าวเชิงลบของเธอในนิตยสาร Vogue เมื่อปี 2002 และยอมรับว่า ‘ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย’ เพราะพระองค์ต้องถูกจับตามองเป็นเวลานานแต่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้

 

คามิลลาได้กลายเป็นดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ หลังจากอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์  และพระองค์ก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อครั้งทรงมีแถลงการณ์เนื่องในวาระการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีว่า

 

‘...เมื่อถึงเวลาที่ ชาร์ลส์ ลูกชายของข้าพเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านทั้งหลายจะให้การสนับสนุนแก่เขาและคามิลลา ชายาของเขาแบบเดียวกับที่เคยให้แก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ามีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเวลานั้นมาถึง คามิลลา จะเป็นที่รู้จักในฐานะสมเด็จพระราชินี ในขณะที่เธอยังคงปฏิบัติราชกรณียกิจของเธอ’

 

หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นควีนแห่งสหราชอาณาจักร พระองค์จะทรงทำหน้าที่เป็นคู่คิดที่ดีให้แก่กษัตริย์ แม้จะไม่มีอำนาจทางการเมืองการปกครองใดๆ ก็ตาม ปัจจุบันควีนคามิลลาทรงเป็นผู้อุปถัมภ์หรือประธานองค์กรการกุศลกว่า 90 แห่ง โดยมีประเด็นหลักในการทำงานคือ วรรณกรรม สวัสดิภาพของสัตว์ และรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวและเพศ

 

The Earl Marshal ดยุกแห่งนอร์ฟอร์ก

เอ็ดเวิร์ด ฟิตซาแลน-โฮวาร์ด (Edward Fitzalan-Howard) ดยุกแห่งนอร์ฟอร์กลำดับที่ 18

เอ็ดเวิร์ด ฟิตซาแลน-โฮวาร์ด (Edward Fitzalan-Howard) คือดยุกแห่งนอร์ฟอร์กลำดับที่ 18 ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้  ตำแหน่ง The Earl Marshal ให้สำหรับดยุกชั้นสูงของสหราชอาณาจักร และมีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยยุคกลางจวบจนปัจจุบัน

 

The Earl Marshal จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อพระราชพิธีสำคัญของราชวงศ์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีพระบรมศพ หรือการเปิดรัฐสภา เป็นต้น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้มีการตั้งชื่อรหัสลับว่า ‘Operation Golden Orb’ หรือปฏิบัติการลูกโลกทองคำ ซึ่งเอิร์ลมาร์แชลจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

 

ย้อนไปในอดีต เดิมทีเอิร์ลล์จะมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลม้าของกษัตริย์ เมื่ออัศวินลดความสำคัญลง เอิร์ลล์ก็ได้เปลี่ยนเป็นผู้ดูสรรพาวุธและเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทหารแทน จากนั้นจึงถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมและสังคมร่วมสมัยมากขึ้น จนกลายเป็นผู้ที่รับผิดชอบพระราชพิธีทั้งหมดของราชวงศ์

 

ตำแหน่งเอิร์ลล์จะถูกส่งต่อมาทางตระกูล และเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชอาณาจักรถัดจากราชวงศ์ เจ้าหน้าที่รัฐและพระสงฆ์ แต่สิ่งพิเศษของตำแหน่งนี้คือการสืบต่อกันมาทางสายเลือดภายในครอบครัวนั่นเอง  เอิร์ลล์ มาร์แชลส์ ดยุกแห่งนอร์ฟอร์กลำดับที่ 18 คนปัจจุบัน เป็นคุณพ่อลูกห้าที่จบจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และสืบทอดบทบาทดยุกต่อจากพ่อของเขา

 

อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี

จัสติน เวลบี (Justin Welby) ผู้ดำรงตำแหน่ง Archbishop of Canterbury

จัสติน เวลบี (Justin Welby) คือผู้ดำรงตำแหน่ง Archbishop of Canterbury หรือผู้นำของคริสตจักรแห่งอังกฤษ พระองค์จะทรงรับทำหน้าที่เจิมและสวมมงกุฎให้แก่สมเด็จพระราชาและสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษในพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่จัดเตรียมลำดับพิธีการและดำเนินพิธีการต่างๆ อีกด้วย

 

ศาสนาจารย์จัสติน เวลบี เป็นอัครมุขนายกคนที่ 105 ซึ่งสืบตำแหน่งที่ตกทอดมากว่า 1,400 ปี จากนักบุญออกัสตินแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้ก่อตั้งคริสตจักรโรมันคาทอลิกในปี ค.ศ.597 หลังจากนั้นคริสตจักรแห่งอังกฤษได้แยกตัวออกมาจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกของพระสันตะปาปาที่กรุงโรม มาตั้งระบบอิสระของตนเองในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16  ในอดีตอำนาจการเลือกอาร์คบิชอปจะเป็นของพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบันอำนาจการแต่งตั้งเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

 

อาร์คบิชอบยอมรับว่าพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะมาถึงทำให้เขา ‘ฝันร้าย’ โดยกล่าวว่า ‘ฝันว่าได้ทิ้งมงกุฎไว้ที่พระราชวังแลมเบธขณะที่ทำพิธี’

 

ความพิเศษซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของอาร์คบิชอปที่เพิ่มขึ้นมาคือพิธีที่เรียกว่า ‘Homage of The People’ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ที่จะเชิญชวนสาธาณชนให้กล่าวคำปฏิญาณและกล่าวคำสรรเสริญต่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

 

Dean of West Minster อธิการของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

ดร.เดวิด ฮอยล์ (Dr.David Hoyle) อธิการของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์คนปัจจุบัน

อธิการของโบสถ์เวสต์มินสเตอร์คนปัจจุบันคือ ดร.เดวิด ฮอยล์ (Dr.David Hoyle) ซึ่งถูกรับเลือกในปี 2019  มีหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับพิธีกรรมรวมไปถึงคอยช่วยเหลืออาร์คบิชอปในการทำพิธีสำคัญเช่น การสวมมงกุฎ หรือการเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์

 

สำหรับมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ถูกจัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์อังกฤษมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1066 ผ่านพระบรมราชพิธีรวมทั้งสิ้น 38 พระองค์ ยกเว้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ภายในมหาวิหารยังมีสิ่งสำคัญที่ใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งเราจะได้เห็นในพิธีครั้งนี้เช่น พระราชบัลลังก์เก่าแก่ซึ่งใช้ต่อกันยาวนานกว่า 700 ปี

 

ตัวมหาวิหารมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ ใจกลางกรุงลอนดอน สร้างขึ้นโดยนักบุญเบเนดิกติน ตั้งแต่ปี ค.ศ.960 เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำพิธีทางศาสนา สถาปัตยกรรมของมหาวิหารเป็นรูปแบบโกธิค ซึ่งมีความงดงามและยังมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์อังกฤษจนได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก

 

Prince George เจ้าชายจอร์จ

เจ้าชายจอร์จ โอรสองค์โตของเจ้าชายวิลเลียม

เจ้าชายจอร์จ โอรสองค์โตของเจ้าชายวิลเลียม จะรับหน้าที่เป็นหนึ่งใน Page of Honour ซึ่งเป็นตำแหน่งพิธีการของราชวงศ์อังกฤษ หน้าที่คือการถือผ้าคลุมยาวของกษัตริย์เดินตามเข้าพิธี โดยจะมอบหน้าที่นี้ให้แก่บุตรชายของสมาชิกตระกูลขุนนางหรือชนชั้นสูงเท่านั้น

 

ในพิธีพระบรมราชาภิเษกครั้งนี้ เจ้าชายจอร์จจะทรงทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ที่เด็กสุดในพิธี ด้วยพระชนมายุเพียง 9 พรรษา อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทรงได้รับมอบหมายหน้าที่นี้ เจ้าชายวิลเลียมผู้เป็นพระบิดาได้ไต่ถามเจ้าชายจอร์จถึงความสมัครใจก่อน และเมื่อเจ้าชายจอร์จทรงยินดีที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว โฆษกของพระราชวังเคนซิงตันถึงขั้นออกมาพูดว่า  ‘พวกเรารู้สึกตื่นเต้นกับบทบาทของเจ้าชายจอร์จในพิธีที่จะเกิดขึ้น และนี่คงเป็นช่วงเวลาที่พิเศษที่สุด’

 

นอกจากนั้นผู้ที่จะมาทำหน้าที่ Page of Honour คือเด็กหนุ่มที่มาจากครอบครัวราชวงศ์ชั้นสูงคนอื่นๆ ซึ่งอายุไล่เลี่ยกันในวัย 10-13 ปี

 

Prince of Wales เจ้าชายวิลเลียม

Prince of Wales เจ้าชายวิลเลียม

พระราชโอรสพระองค์โตของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ และรัชทายาทอันดับที่ 1 ของราชวงศ์อังกฤษ จะทรงทำหน้าที่กล่าวคำปฏิญาณจงรักภักดีต่อ ‘คิงชาร์ลส์’ ซึ่งเรียกว่า ‘The Homage of Royal Blood’ โดยมีการเปิดเผยว่าหลังจากที่ ‘คิงชาร์ลส์’ สวมมงกุฎ และมีการกล่าวปฏิญาณจากอาร์คบิชอปแคนเทอร์เบอรี พระองค์จะทรงคุกพระชานุต่อหน้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 วางพระหัตถ์ระหว่างพระหัตถ์ของพระราชบิดาและพูดคำปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีและศรัทธาต่อกษัตริย์ของพระองค์ หลังจากนั้นจะมีการกล่าวปฏิญาณที่เรียกว่า ‘Homage of The People’ ซึ่งจะนำโดยอาร์คบิชอบแห่งแคนเทอร์เบอรีนั่นเอง

 

Prince Harry เจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซกซ์

เจ้าชายแฮร์รี่ พระราชโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

หลังจากการออกหนังสือชื่อ Spare ของเจ้าชายแฮร์รี่ พระราชโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของพระองค์กับราชวงศ์ถึงขั้นระส่ำระส่าย  .. พิธีในครั้งนี้จึงไม่พ้นการถูกจับจ้องและจับตามมองจากสื่อและประชาคมทั่วโลกว่าจะเกิดอะไรขึ้น?

 

ในขณะที่ก่อนหน้านี้มีการนำเสนอข่าวว่าทางราชวงศ์ได้เชิญทั้งสองเข้าร่วมพิธี และมีการตอบรับจากเจ้าชายแฮร์รี่ ที่จะทรงเข้าร่วมในพิธีเพียงพระองค์เดียวเนื่องจากดัชเชสแห่งซัสเซกซ์นั้นต้องอยู่ดูแลงานวันเกิดที่จัดให้กับเจ้าชายอาร์ชี พระโอรส

 

อย่างไรก็ตามได้มีกระแสข่าวจากหลายทางว่าอาจเป็นไปได้ที่เจ้าชายแฮร์รี่จะไม่ปรากฏพระองค์ในงานพิธี ซึ่งนั่นจะเปรียบเสมือนการแย่งกระแสข่าวของวันได้ดีที่สุด  ในทางตรงกันข้ามมีข่าวอีกกระแสหนึ่งซึ่งออกมาจากคำสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญเรื่องราชวงศ์อังกฤษ และผู้เขียน Finding Freedom ชีวประวัติของเจ้าชายแฮร์รี่และพระชายา ระบุว่า ‘การเข้าร่วมพิธีนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะเจ้าชายแฮร์รี่อยู่ในรายชื่อผู้สืบทอดบัลลังก์ในลำดับที่ 5 จึงมีหน้าที่ตามกฏหมายรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด’  อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรกังวลนั้นผ่านไปแล้วคือความกังวลว่าราชวงศ์จะเชิญทั้งคู่หรือไม่ และเมื่อดูจากการสัมภาษณ์ของเจ้าชายแฮร์รี่ที่แม้จะออกมาเล่าถึงความเจ็บปวดของการเป็นส่วนหนึ่งในราชวงศ์ แต่ก็ยังคงเห็นได้ถึงความห่วงใยที่พระองค์มีต่อครอบครัว

 

อย่างไรก็ตามการกลับมายังสหราชอาณาจักรครั้งนี้ คือการเผชิญหน้ากับครอบครัวเป็นครั้งแรกของเจ้าชายแฮร์รี่นับจากหนังสือ Spare ถูกวางขายไปทั่วโลก จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าการพบกันครั้งนี้ของราชวงศ์อังกฤษจะสามารถกลับมาสานสัมพันธ์ได้เฉกเช่นเดิมหรือไม่

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3  อาจเป็นประวัติศาสตร์เพียงแค่ไม่กี่ครั้งในชีวิตของใครหลายคนที่จะได้เห็นพิธีการอันเก่าแก่ ศักดิ์สิทธิ์และงดงามตามแบบฉบับราชวงศ์อังกฤษอันสืบต่อเนื่องมายาวนาน จึงไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง และทุกสิ่งจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคมตามเวลาของสหราชอาณาจักร

 

ที่มา

https://www.usatoday.com/story/entertainment/celebrities/2023/05/01/prince-williams-role-in-king-charles-iiis-coronation-revealed/70169075007

https://en.wikipedia.org/wiki/Page_of_Honour

https://news.sky.com/story/the-9-key-figures-in-king-charless-coronation-ceremony-12865894