posttoday

GISTDA เผยแผนแก้ฝุ่น PM 2.5 หลังร่วมหารือภาครัฐ-เอกชน

18 เมษายน 2566

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เผยแผนแก้ปัญหา PM 2.5 ให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม หลังร่วมหารือกับภาครัฐและเอกชนในจัดทำระบบฐานข้อมูล PM 2.5

GISTDA  หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  ได้เผยแพร่การประชุม "หารือร่วมรัฐเอกชนในจัดทำระบบฐานข้อมูล PM 2.5"  เพื่อหาแนวทางบูรณาการและกำหนดแผนการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้มีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม  

GISTDA เผยแผนแก้ฝุ่น PM 2.5 หลังร่วมหารือภาครัฐ-เอกชน

เนื้อหาดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊คขององค์กรฯ โดยระบุว่าที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและระดมสมองร่วมกันของตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งประกอบดัวย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม นายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และผู้แทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

โดยที่ประชุมมีข้อสรุปใน 5 หัวข้อหลัก เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลในการวางแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ดังนี้

GISTDA เผยแผนแก้ฝุ่น PM 2.5 หลังร่วมหารือภาครัฐ-เอกชน

1. ระบบการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ที่เครือซีพี พัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อตรวจสอบย้อนกลับจนถึงแหล่งเพาะปลูก ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2559  จนถึงปัจจุบัน

สำหรับกิจการในประเทศไทย เครือซีพีสามารถจัดหาข้าวโพด 100% โดยระบุได้ว่าเป็นข้าวโพดที่มาจากพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ปราศจากการบุกรุกป่า โดยเกษตรกรต้องลงทะเบียนการเพาะปลูกก่อนฤดูการปลูกกับบริษัทฯ จึงจะสามารถนำผลผลิตไปขายให้กับซีพีได้ ซึ่งเกษตรกรไทยสามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ และระบบการตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าวยังถูกนำไปใช้กับกิจการในประเทศเมียนมาอีกด้วย  

เครือซีพี ยังพัฒนาแอปพลิเคชั่น "For Farm" เพื่อให้ข้อมูลแก่เกษตรกร ตั้งแต่คำแนะนำและติดตามการเพาะปลูก แจ้งเตือนสภาพอากาศ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พร้อมมีระบบรองรับการลงทะเบียนซื้อขายข้าวโพดจากเกษตรกรโดยตรง 

GISTDA เผยแผนแก้ฝุ่น PM 2.5 หลังร่วมหารือภาครัฐ-เอกชน

2. GISTDA มีข้อมูลจากดาวเทียมที่สามารถวิเคราะห์จำแนกพืชแต่ละชนิด แยกตามอายุการเติมโตและสามารถระบุวันเก็บเกี่ยวได้ ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเผาได้   ขณะที่ ซีพี นำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร หากพบว่ามีเกษตรกรเผาหลังเก็บเกี่ยว ซีพีจะให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและส่งเสริมวิธีการไถกลบแทนการเผา  

GISTDA เผยแผนแก้ฝุ่น PM 2.5 หลังร่วมหารือภาครัฐ-เอกชน

3. ระบบฐานข้อมูลจุดความร้อน GISTDA พบจุดความร้อน หรือ Hotspot  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จนถึงปัจจุบันมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าถึง 3 เท่า และส่วนใหญ่พบในบริเวณป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก เป็นต้น ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านพบมากที่สุดที่ประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา

ปัญหาการเผาหลังเก็บเกี่ยว ส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่เกษตรในพื้นที่สูง ส่วนพื้นที่เกษตรในพื้นที่ราบสามารถใช้เครื่องจักร และอุปกรณ์เก็บเกี่ยวได้

GISTDA เผยแผนแก้ฝุ่น PM 2.5 หลังร่วมหารือภาครัฐ-เอกชน  

4. ส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร กรมวิชาการเกษตรมีการรับรองการผลิตทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agriculture Practices (GAP) ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ว่ามาจากแปลงไม่เผา โดยต้องสร้างแรงจูงใจในการรับรอง GAP แก่ภาคการเกษตร ไม่ซื้อผลผลิตที่มาจากการ การลดภาษี การประกันราคา การทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการขายเศษวัสดุ หาตลาดให้แก่เกษตรกร แปลงเศษวัสดุเป็นพลังงาน ฯลฯ 

5. จัดโซนนิ่ง (Zoning) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะนำมาแก้ไขปัญหาการเผาในที่สูง เช่น ปรับเปลี่ยนการปลูกกาแฟในพื้นที่สูงทดแทนการปลูกข้าวโพด เป็นต้น