posttoday

‘เทศกาลสงกรานต์' พัฒนาการของซอฟต์พาวเวอร์ไทยขวัญใจชาวโลก

14 เมษายน 2566

จากสรงน้ำพระสู่สาดน้ำ และกลายเป็น Water festival ระดับโลกเพื่อดึงดูดชาวโลกให้มาท่องเที่ยวยังประเทศไทย หลายร้อยปีที่ ‘การสาดน้ำ’ ได้พัฒนา ปรับเปลี่ยนตามวัตถุประสงค์และยุคสมัยของผู้คน ท่ามกลางวัฒนธรรมที่ยังคงต้องรักษาไว้

สงกรานต์ที่ต้องสาดน้ำเป็นประเพณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เป็นประเพณีที่พบเห็นได้ในแถบภูมิภาคอาเซียนของเราเช่นกัน แม้ว่าประเทศในแถบ เนปาล ศรีลังกา และบังกลาเทศจะมีการใช้วันที่ 14 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่พวกเขาก็ไม่มีพิธีการสาดน้ำเช่นเดียวกับคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น ที่ประเทศเมียนมาก็มีเทศกาล ‘ตะจาน’ ซึ่งก็มีการเล่นสาดน้ำ ที่ลาวก็ต้องพูดถึงสงกรานต์ที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีการแห่ปู่เยอย่าเยอ ในฐานะที่เป็นผีบรรพบุรุษ และผู้คนก็จะออกมาสาดน้ำกันตามท้องถนน

 

เริ่มต้นจากสรงน้ำพระ

 

‘เทศกาลสงกรานต์\' พัฒนาการของซอฟต์พาวเวอร์ไทยขวัญใจชาวโลก

 

หากย้อนไปในสมัยอดีตก่อนปี พ.ศ.2500 การเล่นสาดน้ำแทบจะไม่ปรากฏในหลักฐานโบราณใดๆ ในเทศกาลสงกรานต์ไม่มีร่องรอยที่ชี้ชัดว่า มีการสาดน้ำ ระหว่างชาวบ้าน จะปรากฏก็แต่เพียงความเชื่อในด้านศาสนาคือ ‘การสรงน้ำพระ' ซึ่งถือเป็นการชำระล้างจิตใจ และเตรียมตัวสำหรับเข้าสู่ปีใหม่ที่จะมาถึง แต่เดิมพิธีสงกรานต์เป็นพิธีที่ทำกันแต่เพียงชนชั้นสูง และไม่ได้แพร่หลายมายังราษฎรทั่วมากนัก ..

 

มีหลายทฤษฎีกล่าวว่า การสาดน้ำน่าจะเริ่มต้นมาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นเมียนมา เพราะมีหลักฐานย้อนไปได้ถึงยุคพุกาม ว่ามีการบันทึกการเล่นน้ำในเทศกาลตะจาน รวมไปถึงภาพวาดในช่วง พ.ศ.2431 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย อันเป็นหลักฐานชั้นดีเพราะเป็นภาพวาดที่ปรากฏภาพชาวบ้านฉีดน้ำและสาดน้ำใส่ทหารอังกฤษที่ขี่ม้าผ่านมา


จนภายหลังในช่วง พ.ศ.2500 เป็นต้นไป เราจึงได้เห็นการสาดน้ำที่มากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหากจะหาต้นตอก็ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้

 

สาดน้ำแบบถึงตัว ทำไมผู้หญิงไทยในอดีตเล่นได้?

ความสงสัยหนึ่งที่เกิดขึ้นคือภายหลัง พ.ศ.2500 ค่านิยมที่มีต่อผู้หญิงไทยก็ยังคงอยู่ที่ ‘รักนวลสงวนตัว’ แต่ทำไมการละเล่นสาดน้ำ บวกกับการปะแป้ง ที่แน่นอนว่า ‘ถึงเนื้อถึงตัว’ ถึงเป็นไปได้ในช่วงเวลานั้น มีการอ้างอิงจากบทความที่ลงโดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เทศกาลดังกล่าวมีการละเล่นเกิดขึ้นมากมาย และเน้นไปที่การให้พื้นที่แก่ ‘ผู้หญิง’ เนื่องจากผู้หญิงจะสามารถเล่นอะไรที่พิเรนทร์ พิศดารได้ โดยที่คนอื่นเข้าใจและไม่ต่อว่าก็ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เท่านั้น

 

ในอดีตผู้หญิงก็สามารถสาดน้ำผู้ชายได้ บางครั้งมีการระบุถึงขั้นว่า สามารถตั้งด่านกักผู้ชายที่เดินผ่านเพื่อไถเหล้า เงิน เล่นสนุกกัน รวมไปถึงสีกาบางคนยัง สามารถขึ้นไปสาดน้ำพระถึงในกุฎิ...ซึ่งอันที่จริงทุกวันนี้เราก็ได้เห็นพระหรือเณรออกมาตั้งถังน้ำเล่นน้ำกันในวัด และสีกาก็สามารถสาดน้ำพระได้เช่นกัน...หรือการ ที่ลูกน้องสามารถถือถังน้ำขนาดใหญ่เทโครมลงไปที่หัวหน้าได้โดยไม่ผิดใจกัน

 

พฤติกรรมทั้งหมดอาจจะสามารถเข้าใจได้ว่า ‘การละเล่นสาดน้ำ’ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือการแสดงความขบถต่อธรรมเนียมที่มีอยู่ สถานะต่างๆ ในสังคมที่มีกฏระเบียบความเหมาะสมกำกับอยู่ตลอดปีทำให้พวกเขาตึงเครียด และช่วงเวลาสงกรานต์จึงเป็นช่วงเวลาเดียวที่ทุกคนสามารถผ่อนคลายจากสิ่งเหล่านี้และสนุกไปพร้อมๆ กัน

 

ภาพการละเล่นสาดน้ำในอดีต

 

สาดน้ำ ร่ำสุรา กลับไปหาครอบครัว

การเล่นสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์มีพัฒนาการมาโดยลำดับ จากอดีตที่เป็นพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายของสังคมไทย เพราะระดับความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทุกวันนี้เทศกาลสงกรานต์กลายเป็นความสนุกสนานของการเล่นน้ำที่ต้องมีอุปกรณ์ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นชุดปืนฉีดน้ำ รวมไปถึงสุราเผื่อคลายร้อน

 

พฤติกรรมของคนในวันหยุดสงกรานต์โดยเฉพาะในปีนี้ที่ระบุจากผลสำรวจว่ามี คนตั้งหน้าตั้งตาตั้งวงเหล้ากว่าร้อยละ 71.6 โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องปกติที่ทำ กันทุกปี และร้อยละ 71.2 ระบุว่าเป็นการปลดปล่อยจากความเหนื่อยล้าที่ทำงานมาทั้งปี ก็สะท้อนได้ดีถึงความหมายของวันสงกรานต์ในความรู้สึกของผู้คนใน ปัจจุบัน .. สงกรานต์คือวันแห่งการปลดปล่อยอย่างแท้จริงที่มีเพียงปีละครั้ง คนไทยสามารถมีวันหยุดพักยาวเพื่อกลับไปอยู่กับครอบครัวที่อยู่กันคนละจังหวัด เพื่อกลับไปพักผ่อน ได้กลับไปหาเพื่อนฝูงและตั้งวงร่ำสุรา เปิดเพลงเสียงดังลั่นทุ่งได้โดยที่คนอื่นเข้าใจ...

 

สุรากลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลสงกรานต์ยุคใหม่ จากการที่ยอดของของการบริโภคสุราพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 ในเทศกาลสงกรานต์ และสถิติ 7 วัน อันตรายที่ต้องรอดูว่าปีนี้ ซึ่งเป็นปีแรกหลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด จะมีสถิติเป็นอย่างไร แต่จากที่ผ่านมาแม้จะมีการตั้งด่านตำรวจคุมเข้มเพื่อเพิ่ม มาตรการความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้นกว่าวันธรรมดา แต่ก็พบอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะจากการเมาแล้วขับ

 

อย่างไรก็ตามเทศกาลสงกรานต์ในไทยยังคงพยายามรักษาประเพณีที่สืบทอดกันมาในครอบครัว เราจะเห็นครอบครัวชาวไทยทำตามขนบธรรมเนียมของครอบครัวไม่น้อย เช่น การพาไปวัดเพื่อก่อกองทราย สรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือการทานข้าวร่วมกันในครอบครัวก็ยังคงสามารถพบเห็นได้ภายใต้ความสนุกสนานและความต้องการอยากที่จะปลดปล่อยดังกล่าว

 

การละเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ก็ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

การละเล่นสงกรานต์ สู่ Water festival ซอฟต์พาวเวอร์ดึงดูดนักท่องเที่ยว


ช่วงจังหวะที่น่าสนใจคือการเข้ามาของการท่องเที่ยว ซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อเทศกาลสงกรานต์ของคนไทยมากยิ่งขึ้น ... เทศกาลสงกรานต์เป็นที่รับรู้ของนักท่องเที่ยวอยู่ก่อนแล้ว เช่น การเล่นน้ำที่ถนนข้าวสาร หรือถนนสีลม แต่การชูให้เทศกาลสงกรานต์เป็น Water Festival ระดับโลก โดยมีการสนับสนุนจากหน่วย งานที่เกี่ยวข้องอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้เราได้เห็นภาพการจัดงานตามหัวเมืองต่างๆ และโปรโมทให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาเยี่ยมชม

 

‘เทศกาลสงกรานต์\' พัฒนาการของซอฟต์พาวเวอร์ไทยขวัญใจชาวโลก

 

อย่างเช่นในปีนี้ก็มีการจัดงาน Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” เป็นงานที่ผสานความร่วมสมัยที่ดีงามของไทย โดยคนในชุมชนเพื่อชุมชน ซึ่งจัด ขึ้นใน 4 ภาค 6 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อเสียงของเทศกาลสงกรานต์ทำให้นักท่องเที่ยวได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การแสดง ดนตรี การเสนออาหารไทยโบราณ การแสดงศิลปะไทย การตักบาตรในวันสงกรานต์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อแสดงขนบธรรมเนียมประเพณีให้ลูกหลานได้เห็น และ อีกส่วนสำคัญคือให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสเห็นวัฒนธรรมของไทย โดยใช้เทศกาลสงกรานต์เป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยว ซึ่งสำเร็จมาแล้วในหัวเมืองใหญ่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ที่นักท่องเที่ยวอยากจะไปเล่นสงกรานต์ที่นั่นเหลือเกิน
 

นอกจากนี้ ที่จะไม่พูดถึงก็คงไม่ได้คือ การจัดเทศกาลดนตรีที่มีการเล่นสาดน้ำเป็นองค์ประกอบ ก่อนหน้านี้แม้จะมีปาร์ตี้วงดนตรีในช่วงสงกรานต์แต่ก็ไม่ได้ยิ่ง ใหญ่มากนัก เมื่อเทียบกับเทศกาลดนตรีซึ่งมีคนร่วมงานเกือบแสนคน โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2015 หรือ 8 ปีก่อน โดยมีการเก็บค่าเข้าร่วมงาน ในงานจะ เชิญศิลปินทั้งศิลปินไทยและระดับโลกมาแสดงดนตรี มีการสาดน้ำ มีระบบฉีดน้ำในงานตามจังหวะดนตรี รวมไปถึงการสังสรรค์อย่างเต็มที่ ... ในปีนี้มีเทศกาล ดนตรีจัดขึ้นมากถึง 6 เทศกาลใหญ่ ซึ่งน่าจะมีคนเข้ารวมงานรวมแล้วหลายแสนคนทีเดียว อีกทั้งค่าเข้าร่วมงานก็ไม่น้อย มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงแพ็คเกจที่คน เข้าร่วมต้องจ่ายในราคาหลักล้าน!! แลกกับการเข้าร่วมงานและแชมเปญในราคาสุดพรีเมียม!! ซึ่งในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในระดับหมื่นถึงแสนล้านบาทเลยทีเดียว

 

‘เทศกาลสงกรานต์\' พัฒนาการของซอฟต์พาวเวอร์ไทยขวัญใจชาวโลก ภาพเทศกาลดนตรีที่ถูกจัดขึ้นในช่วงสงกรานต์ ที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในรอบไม่ถึง 10 ปี ของประเทศไทย

 

แม้ว่าพัฒนาการของเทศกาลสงกรานต์ และการละเล่นสงกรานต์ในทุกวันนี้ จะมีวัตถุประสงค์การท่องเที่ยวรวมอยู่ และถูกพัฒนาให้ตอบโจทย์ความสนุกแบบ สากล... แต่อย่างน้อยทุกภาคส่วนรวมถึงคนในครอบครัวเองก็ยังคงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยกันคิดถึงหัวใจสำคัญของ ‘สงกรานต์’ นั่นคือการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายใต้บรรยากาศของคนที่รักรายล้อมในช่วงวันหยุดนี้.