posttoday

ทำความรู้จัก "โรคฮีทสโตรก" หลังคร่าชีวิต "เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม"

31 มีนาคม 2566

ทำความรู้จัก "โรคฮีทสโตรก" หลังคร่าชีวิต "เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" อาการเป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน กลุ่มไหนที่มีความเสี่ยง วิธีการป้องกันสามารถทำได้อย่างไร รวบรวมคำตอบไว้ที่นี่แล้ว

ฮีทสโตรกคร่าชีวิต “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และนักธุรกิจชื่อดัง หลังถูกนำตัวส่ง รพ.บุรีรัมย์อย่างเร่งด่วนเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สาเหตุของภาวะฮีทสโตรกมาจากการต้องอยู่ในอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ขณะซ้อมแข่งรถยนต์ที่สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ โดยหลังจากนี้จะเคลื่อนร่างไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่บ้านขาว ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ 

"ฮีทสโตรก" คืออะไร มีอาการเป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน จากการตรวจสอบ พบว่า ฮีทสโตรกเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง 

เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อนส่วนอาการของโรคฮีทสโตรกนั้น จะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อย ๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ หน้ามืด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึม สับสน 

นอกจากนี้ฮีทสโตรก ยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบ ที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว 

สำหรับกลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ประกอบด้วย 

 

ผู้สูงอายุ 

เด็กเล็ก 

ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ 

ประชาชนทั่วไป 

 

วิธีการป้องกัน "ฮีทสโตรก"

หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ หากสามารถเลี่ยงได้ 

ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน 

ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ 

หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม อุปกรณ์ ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด 

การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยง