posttoday

"ปูเป้ จุฑารัตน์" ช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทย ในงานออสการ์ครั้งที่ 95

18 มีนาคม 2566

ใครจะคาดคิดว่าในงานประกาศรางวัลออสการ์ 2023 จะมีช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทยเข้าร่วมอยู่ด้วย เราลองไปทำความรู้จักกับ "ปูเป้-จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต" กับเส้นทางสู่การเป็นช่างภาพระดับโลกที่เคยถ่ายภาพให้กับหนังสือพิมพ์ New York Times มาแล้ว

ถือว่าสำเร็จลุล่วงไปแล้วกับงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95  ซึ่งแน่นอนว่าในปีนี้ก็มีเรื่องให้พูดถึงมากมายไม่แพ้กับปีก่อนๆ โดยเฉพาะดาราจากเอเชียที่ได้ออสการ์ไปครองอย่าง  “มิเชล โหย่ว” (Michelle Yeoh) ซึ่งได้ออสการ์สาขาดารานำหญิง หรือ  “คี ฮุย ควน” (Key Huy Quan) นักแสดงเชื้อสายเวียดนามที่คว้าออสการ์ดาราสมทบชายจากหนัง “ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” (Everything Everywhere All At Once)

นอกเหนือจากเรื่องดาราเอเชียที่คว้าออสการ์ไปครอง ในงานประกาศรางวัลนี้ยังมีคนไทยที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยนั่นคือ "ปูเป้" จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพสาย Street วัย 30 ปีที่เป็น 1 ใน 3 ช่างภาพของ New York tTimes ที่ได้เข้าไปถ่ายงานออสการ์

"ปูเป้ จุฑารัตน์" ช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทย ในงานออสการ์ครั้งที่ 95

จุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นช่างภาพของเธอ 

"หนูไปอยู่ที่อเมริกาได้ 6 ปีแล้วค่ะ"  จุฑารัตน์เผยหลังถูกถามว่าไปอยู่ที่นั่นนานแค่ไหนแล้ว

เธอเรียนจบคณะ นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเรียนจบเธอก็ไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตัดต่อ เมื่อทำนานๆมันเริ่มเบื่อเลยมาถ่ายภาพแนว Street ซึ่งเธอชอบถ่ายภาพแนวนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

"การถ่ายภาพกับหนูก็เป็นเหมือนงานอดิเรกทั่วไปค่ะ ตั้งแต่ม.ปลาย เรามีกล้องก็ถ่ายเพื่อน พ่อแม่ ครอบครัวไปเรื่อย พอเข้ามหาวิทยาลัย มีงานอีเวนท์ต่างๆจตามคณะที่เรียน เพื่อนๆก็เรียกไปถ่าย  รวมถึงงานรับปริญญาด้วยค่ะ" จุฑารัตน์กล่าว

"แต่หนูก็มาจริงจังตอนถ่าย Street ค่ะ ซึ่งจังหวะเดียวกับที่เราทำงานตัดต่อ ซึ่งวันๆเราอยู่แต่ในห้องนั่งตัดงานทั้งวัน เลยหาเวลาออกมาถ่ายภาพ"

นั่นทำให้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ปูเป้ตัดสินใจไปเรียนถ่ายภาพที่สหรัฐฯ ด้วยเงินทุนจากพ่อ ซึ่งเงินก้อนดังกล่าวคือกระสุนลูกเดียวในการออกไปตามล่าฝันครั้งนี้ของเธอ

"โชคดีที่ทางบ้านมีเงินทุนให้ก้อนหนึ่ง ตอนนั้นพ่อบอกว่าถ้าอยากไปเรียนอะไรก็บอกได้ แต่มันก็เป็นก้อนเดียวนะ ถ้าหมดแล้วก็หมดเลยจากนั้นก็เป็นเรื่องของเราที่จะหามาเองแล้วนะ" จุฑารัตน์กล่าวเสริม

"เราโชคดีที่ทางบ้านปล่อยให้เลือกว่าอยากเรียนหรืออยากทำอะไร จริงๆตอนนั้นก็ไม่รู้จะเรียนอะไรนะ แต่มันชอบถ่ายรูปมากที่สุด ซึ่งเราก็ยังไม่แน่ใจอีกว่า เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร แต่สุดท้ายก็ไปลงเรียนช่างภาพที่ New York"

"มันก็เสียเงินมาเรียนแล้วเนอะ และเราก็อยากจะหาทุนกลับให้ได้จากสิ่งนี้ แต่ว่ามันยากมาค่ะ พอเรียนจบปุ๊บ มันก็ไม่ใช่ว่าจะได้เลย อย่างแรกไม่มีคอนเนคชั่นอะไรเลย เราต้องเริ่มต้นใหม่หมดเลย และคนที่นี่ (นิวยอร์ค) การแข่งขันมันสูง เพราะทุกคนก็มาล่าฝันหมด มันไม่ได้มีแค่เราคนเดียว คนทั่วโลกมาเหมือนเราหมดเลย เพราะตอนเรียนเราเรียนโปรแกรม International center of Photography (ICP) เพื่อนๆก็จะเป็คนจากทั่วโลกเลย"

"มันไม่ใช่แค่ปีเดียวที่เราเรียน มันก็จะมีรุ่นก่อนนี้ หรือรุ่นหลังที่ขึ้นมาในวงการ ครีเอทีฟมันเกิดขึ้นมาตลอด ตอนนั้นคือคิดว่ายากแน่ๆ เลยกลับไทยดีกว่า"

พอจบหลักสูตร ปูเป้-จุฑารัตน์กลับมาประเทศไทย เพื่อเริ่มทำงานเป็นช่างภาพอย่างจริงจัง และพบว่า การทำงานช่างภาพฟรีแลนซ์ในประเทศไทยนั้น ทำงานเกินเวลาไปมากและผลตอบแทนที่ได้มาไม่เท่ากับเวลาที่เสียไป ประจวบเหมาะกับวีซ่าที่ทำไว้ผ่านพอดี เมื่อทำงานในไทยได้ 1 ปีเริ่มไม่เข้าท่า เธอจึงกลับไปสหรัฐฯช่วงปลายปี 2019 เพื่อทำตามความฝันของเธออีกครั้ง

"ตอนที่กลับไทยคิดว่า เรามีเพื่อนพรรคพวกอยู่และมีงานรออยู่ละ ตอนนั้นมาเป็นช่างภาพเบื้องหลังของกองถ่ายภาพยนต์ ละคร ซีรีย์ต่างๆ มันก็ติดปัญหาอีกคือการถ่ายงานกองถ่ายในไทยมันโหดร้ายมาก ถ่ายงาน 16 ชั่วโมงนี่อย่างต่ำ บางวันเกินไป 18 หรือ 27 ชั่วโมงยังหยวนๆยอมๆกันไป"

"เราก็คิดว่า ตัวเองทำอะไรอยู่นะเพราะมันเสียพลังงานไปมาก ก็เริ่มคิดละเราจะไปไหวหรือเปล่าในเส้นทางนี้ ประกอบกับวีซ่าขอทำงานที่ สหรัฐฯที่เรายื่นไว้มันผ่านพอดี เลยฮึดอีกครั้งขอกลับมาล่าฝันและไปสู้อีกสักตั้งที่ นิวยอร์ค"

"ปูเป้ จุฑารัตน์" ช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทย ในงานออสการ์ครั้งที่ 95

ไปอเมริกาด้วยความหวัง แต่ก็เจอโควิด-19

"เราเลยเดินทางกลับไปสหรับ อเมริกา ช่วงปลายปี 2019 สักพักเจอโควิดเลย (หัวเราะ)"  จุฑารัตน์กล่าวต่อ

"คือจะว่าไปเจอวิกฤตโควิดเลยก็ไม่เชิง เพราะตอนนั้น (ปลายปี 2019) โควิด กับที่อเมริกา ยังเป็นเรื่องโกหกอยู่เลย คนยังใช้ชีวิตปกติ ที่เอเชียอาจจะรุนแรง แต่ที่อเมริกายังมาไม่ถึง มันจะเริ่มจริงจังก็ช่วงต้นเดือนมกราคม (2020)"

"ทีนี้พอโควิดหนักมากช่วงมีนาคม เมืองทุกเมืองถูก Shut down ทันที เราก็อยู่แต่บ้านไปไหนไม่ได้เลย ได้แต่ทำอาหาร (เธอบอกทักษะการทำอาหารเพิ่มขึ้นมาก) เลี้ยงแมว บอร์ดเกม อยู่นิ่งๆในห้องไป 4-5 เดือนเลย"

"ช่วงนั้นถ้าถามว่าได้ออกไปข้างนอกเพื่อถ่ายรูปอะไรไหม? คือไม่เลยค่ะ เพราะมันกลัวไม่ได้ออกไปไหนเลย ตอนนั้นมันไม่มีรายได้เข้ามา สมมุติเกิดป่วยขึ้นมานี่คือแย่กันหมดเลยเพราะเรามีรูมเมทด้วย และเมืองมันปิด เขาจริงจังมากกับการให้อยู่แต่ในบ้าน"

หลังจากผ่านไป 4 เดือน เกิดการประท้วงและจลาจลของชาวอเมริกันเพื่อตอบโต้การใช้ความรุนแรงของตำรวจสหรัฐฯ และคตินิยมทางเชื้อชาติ จากกรณี จอร์จ ฟลอยด์ เสียขีวิตจากการกระทำของตำรวจ (George Floyd Protests)

"ตอนนั้นมีการประท้วงที่รุนแรงมาก ซึ่งโควิดก็รุนแรงมากไม่แพ้กัน แต่สถานการณ์การประท้วงมันรุนแรงจริงๆ จนเราอยากออกไปเก็บภาพประวัติศาสตร์ช่วงนี้ที่เกิดขึ้น เพราะตอนนั้นคนออกมาประท้วงทั่วนิวยอร์คเลย ซึ่งหนูก็เข้าไปร่วมเดินขบวนด้วยและก็เก็บภาพไปด้วย"

"ตอนนั้นเราก็เก็บภาพหมดเลยนะ ทั้งเรื่อง Black Lives Matter เรื่องโควิดที่ จากนั้นก็ส่งไปให้ New York Times อันนั้นแหละคือจุดเริ่มต้น"

"ส่งไปเขาก็ตอบกลับมานะคะ แต่ก็ยังไม่ให้งาน กว่าจะให้งานแรกก็ต้องรอไปอีกประมาณ 3 เดือนจากนั้น (ต.ค.2020) คือพอเราส่งไปเขาก็ยังไม่ได้โอเคเลย อาจจะยังไม่สนใจนะแต่ก็เอาไว้ก่อน ไว้มีเรื่องที่เขามือกับเราแล้วค่อยว่ากันค่ะ"

"ปูเป้ จุฑารัตน์" ช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทย ในงานออสการ์ครั้งที่ 95

รอคอยมานาน 3 เดือนได้งานจาก New York Times

"งานแรกคือถ่ายร้านขายของ กิ๊ฟต์ ช็อป ที่นิวยอร์ค ก็ถ่ายเรื่องราวของร้านแนวนี้ที่มันเงียบเหงาลง และธุรกิจนี้มันจะยังอยู่ยังรอดไหม จากนั้นก็มีอีกงานใกล้ๆกันคืองานฮัลโลวีน ในช่วงโควิดค่ะ"

พอได้ถ่ายงานลงนิวยอร์ค ไทม์ "ปูเป้" ยอมรับว่านี่คืออีกจุึดสำคัญที่ทำให้ภาพของเธอมีคนเห็นมากขึ้น เธอบอกว่าคนที่นั่นให้ความเคารพในผลงาน และใส่เครดิตทุกภาพที่ออกไป ตรงนี้ทำให้เธอมีคอนเนคชั่นที่มากชึ้น

"ใช่เลยค่ะ พอเราได้ถ่ายภาพให้สื่อใหญ่ งานมันก็กระจายไปเยอะมาก อันนี้หนูอยากจะเน้นย้ำเลยค่ะว่า เราควรจะให้เครดิต เพราะเครดิตคือสิ่งที่ทำให้ต่อยอดอาชีพของคนได้มากขึ้น เพราะหากคนที่นี่เขาไม่ให้เครดิตหนู มันก็จะไม่มีใครเห็นงานของเราเลย"

"ที่นี่เขาจริงจังกับการให้เครดิตคนทำงาน พอมีชื่ออยู่ที่แรกปุ๊บ ชื่อก็ไปอยุ่ที่ 2 ที่ 3 มีงานมาเรื่อย"

"แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะได้งานถาโถมเข้ามาเลยนะคะ หนูก็ยังรับงานเสริมทำงานในพิพิธภัณฑ์ควบคู่ไปด้วยกันในช่วงแรกๆ"

"ปูเป้ จุฑารัตน์" ช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทย ในงานออสการ์ครั้งที่ 95

คนไทยคนเดียวที่ได้ไปถ่ายงานออสการ์

"การได้ไปถ่ายงานออสการ์เป็น หนึ่งในความฝันเลย เพราะนี่คืออีเวนท์สายบันเทิงที่ใหญ่ที่สุด ด้วยความที่เราเป็นคนชอบถ่ายภาพงานปาร์ตี้ ถ่ายการใช้ชีวิตคนแบบสนุกๆด้วย งานนี้ (ออสการ์) เลยมาถึงเรา" ปูเป้เล่าถึงการได้ไปถ่ายงานออสการ์

"พอเราทำงานกับโต๊ะบันเทิงมาสักพัก มันก็มีการไว้ใจกัน New York Times ก็ส่งเราไป แอลเอ เพื่อถ่ายงานออสการ์ค่ะ"

"ตอนนั้นพอรู้ว่าได้ถ่ายออสการ์นี่คือตื่นเต้นมาก คิดในใจว่า ในที่สุดมันก็มาถึงแล้วนะ สิ่งที่เราคิดเราฝันไว้มันมาแล้ว ตอนแรกก็คิดว่ามันน่าจะนานกว่านี้นะสัก 2-5 ปี มันก็ดีใจที่ได้ไปถ่าย"

"คือมันเป็นทีมไม่ได้มีเราคนเดียว ทีมเรามี 3 คนส่วนหนู่ได้ถ่ายอยู่หน้าพรมแดงเลย ก็จะได้เจอดาราได้ถ่ายคนที่มีชื่อถูกเสนอเข้าชิงฯออสการ์"

"เราเชียร์ มิเชล โหย่ว อยู่แล้วด้วยความที่หนูมีถ่ายเขาบ่อยเพราะเธอเดินสายปาร์ตี้ไปงานรับรางวัลก่อนหน้าออสการ์ด้วยซ้ำ ก็เชียร์เธอมาตลอดและชอบหนังเรื่อง Everything Everywhere All At Once ค่ะ แต่พอเจอริฮานน่า เจอเลดี้ กาก้า ก็ตื่นเต้นมาก เจอแค่ 5นาทีก็ตื่นเต้นแล้วค่ะ"

"ปูเป้ จุฑารัตน์" ช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทย ในงานออสการ์ครั้งที่ 95

เส้นทางสายถ่ายภาพยังไม่มีสิ้นสุด

"ที่จริงการได้ไปถ่ายออสการ์มันก็สุดแล้วนะเพราะมันไปถึงฝันที่เราอยากไปถึงมากๆแล้ว เราก็อยากรักษามาตรฐานและผลงานเราไปเรื่อยๆ"

"เพราะการที่เราได้ถ่ายงานออสการ์ปี้นี้ ไม่ได้หมายความวาาเราจะได้ถ่ายอีกปีหน้า เขาอาจจะเลปี่ยนคนก็ได้ เพราะที่นี่การแข่งขันมันสูงมากๆค่ะ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากมาตรฐานเราตกเราก็อดไปเพราะมีคนทดแทนได้ตลอด"

"ปูเป้ จุฑารัตน์" ช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทย ในงานออสการ์ครั้งที่ 95

รายได้ของช่างภาพระดับถ่ายงานให้ New York Times

"ตอนนี้เราแทบไม่ต้องรับงานเสริมแล้วค่ะ หนูอยู่ถึงจุดที่ถ่ายภาพข่าวอย่างเดียวก็อยู่ได้แล้ว รายได้มันอาจจะไม่คงที่เพราะหนูทำงานฟรีแลนซ์"

"ซึ่งรายได้ของเราจะอยู่ที่ระดับกลางๆค่อนไปทางสูงคือ ประมาณ 60,000 - 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (เกือบ 3 ล้านบาทต่อปี)  ถ้าถ่ายโฆษณาด้วยก็จะมีรายได้เพิ่มมากกว่าถ่ายภาพข่าวไปเป็นสิบเท่าเลย"

"นี่ก็คิดว่าหลังออสการ์ก็จะขยับเพิ่มเรทค่าตัวขึ้นด้วยนะคะ (หัวเราะ)"

"ปูเป้ จุฑารัตน์" ช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทย ในงานออสการ์ครั้งที่ 95

เดินหน้าลุยงานที่สหรัฐฯเต็มสูบและยังไม่หันหลังกลับไทย

"คิดว่าไม่น่าจะกลับไทยในเร็วๆนี้น่ะค่ะ  แต่ถ้ากลับไปก็คงเป็นแบบอาจารย์ไปเลย แต่คิดว่าไม่น่าจะกลับในเร็วๆนี้แน่ ตอนนี้ก็จะขอเก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ยังไม่คิดจะกลับค่ะ”

"ปูเป้ จุฑารัตน์" ช่างภาพหญิงหนึ่งเดียวของไทย ในงานออสการ์ครั้งที่ 95

ขอให้อดทนและอย่าหยุดพัฒนา

"คือจริงๆแล้วมันยากนะ เพราะเห็นตอนนี้ก็โอ้วมันทำได้เนอะ ซึ่งก็ทำได้แหละแต่ต้องใช้ความอดทนและใจที่ผ่านการปฏิเสธมา มันล้มมา หนูว่าใจของเรานี่แหละสำคัญที่สุด ต้องไม่ยอมแพ้นะคะ เพราะคนที่ถอดใจไประหว่างทางนี่เยอะมาก ต้องลงมือทำจริงๆ พัฒนาดูงานเยอะๆ จริงๆพื้นฐานมันแค่นี้เลยค่ะ และต้องให้คนอื่นดูด้วย เราต้องพร้อมจะรับฟังคำวิจารณ์ หนูคิดว่าทั้งคำติและชมมันดีทั้งคู่ แน่นอนคำชมทำให่เราได้กำลังใจ แต่คำติมันคือทำให้เราพัฒนา เราต้องเลือกและเอามาทำตามรักษามาตรฐานของเราไปเรื่อยๆค่ะ"