posttoday

“เอื้องแฝงบริพัตร” กล้วยไม้อาศัยราชนิดใหม่ของโลก

07 มีนาคม 2566

นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ค้นพบ “เอื้องแฝงบริพัตร” กล้วยไม้อาศัยราชนิดใหม่ของโลก ตอกย้ำระบบนิเวศน์สมบูรณ์มีผลฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังสามารถนำมากระตุ้นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้

โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)  ค้นพบกล้วยไม้อาศัยราชนิดใหม่ของโลก ‘เอื้องแฝงบริพัตร’ หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ ‘Aphyllorchis periactinantha”โดยลักษณะเด่นของกล้วยไม้ชนิดนี้คือ ดอกมีสมมาตรรัศมี ซึ่งได้ค้นพบที่บริเวณน้ำตกบริพัตร จึงนำชื่อของสถานที่มาตั้งเป็นชื่อ

“เอื้องแฝงบริพัตร” กล้วยไม้อาศัยราชนิดใหม่ของโลก

นอกจากนี้ยังมีรายงานพบกล้วยไม้ชนิดนี้ที่บ้านยางเกาะ จังหวัดสงขลา และพื้นที่อื่นในจังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งสามารถนำมากระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ต่อยอดศึกษาชีววิทยาการถ่ายละอองเรณูรวมทั้งการอยู่อาศัยร่วมกับราได้ 

กล้วยไม้เอื้องแฝงบริพัตร มีลักษณะที่แตกต่างจากกล้วยไม้ในสกุล Aphyllorchis เนื่องจากไม่สามารถสร้างอาหารได้เองด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง เพราะไม่มีคลอโรพลาสต์ ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับรา ลำต้นใต้ดินตั้งตรงมีรากสั้นๆ อวบน้ำจำนวนมาก ช่อดอกสูงได้ถึง 150 เซนติเมตร  และมีดอกจำนวนมากบริเวณต่อช่อ

“เอื้องแฝงบริพัตร” กล้วยไม้อาศัยราชนิดใหม่ของโลก

การศึกษากล้วยไม้เอื้องแฝงบริพัตร ทำให้นักวิจัยได้เข้าใจธรรมชาติวิทยามากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่พบกล้วยไม้ชนิดนี้เคยถูกรบกวนจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมาก่อน แต่หลังจากทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ใหม่ทำให้ระบบนิเวศสามารถฟื้นฟูด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการตอกย้ำความหลากหลายทางชีวภาพจะเกิดขึ้นได้ ต้องให้ความสำคัญของความสมบูรณ์ในระบบนิเวศ

ทั้งนี้ กล้วยไม้เอื้องแฝงบริพัตร จัดว่าเป็นพืชที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพบจำนวนน้อยและไม่สามารถนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับ หรือยังไม่ควรนำมาศึกษาหาสารสกัดหรือสรรพคุณทางด้านเภสัชวิทยา แต่สามารถนำมากระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติวิทยาของพื้นที่อนุรักษ์ได้