posttoday

10 ข้อต้องรู้ เมื่อคนไทยต้องใช้ชีวิตเสี่ยงภัยท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 ทุกปี

17 กุมภาพันธ์ 2566

ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ (APCO) สรุปให้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อคนไทยต้องใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 แบบเสี่ยงอันตรายทุกปี

ปี 2566 ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพอากาศที่นิ่งและปิด ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศทั้งเขตเมืองและชนบท กรมอนามัย สธ. แจ้งว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระบบต่าง ๆ เช่น ระบบตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบหัวใจและ หลอดเลือด ยิ่งหากร่างกายได้รับสัมผัส PM2.5 เข้าไป จะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ

 

โดยความรุนแรงของอาการมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้ง ๆ คันตามร่างกาย มีผื่น อาการ ระดับปานกลาง เช่น ตาแดง มองภาพไม่ชัด เลือดกำเดาไหล เสียงแหบ ไอมีเสมหะ หัวใจเต้นเร็ว ขณะที่อาการระดับรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย หากมีอาการรุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

 

ดังนั้น มาเรียนรู้กันว่ามีสิ่งใดบ้างที่เราทำได้ในการป้องกันและดูแลสุขภาพเชิงรุกในเบื้องต้นให้กับตนเองและคนใกล้ชิด


1. อัปเดตข่าวสาร ในโลกยุคสื่อสารรวดเร็ว เราควรมีแอปพลิเคชันสำหรับมอนิเตอร์สภาพอากาศและมลพิษร้ายแรงบนโทรศัพท์มือถือ หรือเช็คข่าวสารทางสื่อที่มีความน่าเชื่อถือเป็นประจำ

 

2. สวมหน้ากากให้เป็นปกติ-แม้ว่าหลายคนจะมีความคลายกังวลกับไวรัสโคโรน่าลงบ้างแล้ว แต่หน้ากากอนามัยมาตรฐานไม่เพียงช่วยให้คุณลดความเสี่ยงต่อเชื่อโรคทางอากาศต่างๆ แต่ยังกรองฝุ่นให้คุณมากถึง 40-60 % แม้ว่าจะอึดอัดอยู่บ้าง แต่ช่วยให้คุณปลอดภัยขึ้นมากจริงๆ

 

3. จิบน้ำบ่อยๆ-ฝุ่นระดับนาโน ที่เล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมนับยี่สิบเท่านั้น พร้อมจะวิ่งผ่านระบบหายใจ ดวงตา และเนื้อเยื่ออ่อนไหวต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ ย่อมทำให้คุณรู้สึกระคายเคืองผิว และทางเดินระบบหายใจ คอแห้ง และหายใจไม่สะดวก การจิบน้ำอาจไม่ใช่การรักษา หรือป้องกัน แต่อย่างน้อยทำให้คอ และระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารไม่ฝืดเคือง ติดขัดมากเกินไปนัก

 

4. กินอาหารให้หลากหลาย-ร่างกายต้องการสารอาหารพื้นฐานเพื่อผลิตพลังงานให้เพียงพอต่อการใช้งาน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้โรคและรักษาสภาพระบบต่างๆ ของร่างกายให้ยังเป็นไปอย่างปกติที่สุด นั่นหมายความว่า การกินให้หลากหลาย คลอบคลุม จะทำให้คุณรับสิ่งที่ไปจัดการ ต่อสู้ พยุง หรือ ไม่แย่เกินไปนักหากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา

 

5. ปิดบ้านให้มิดชิด-แม้ว่าจะทราบดีจากข้อก่อนหน้าว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่ทำอันตรายต่อเรานั้นเล็กมาก แน่นอนว่ามันทะลุทะลวงลอดผ่านไปทุกกำแพง หน้าต่าง ประตูบ้าน แต่ปิดให้สนิท ย่อมดีกว่าเปิดกว้างรับลมที่มาพร้อมมลภาวะดังกล่าว และสะสมอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

6. อยู่ในอาคารบ้านเรือนเป็นหลัก-หากไม่จำเป็นในช่วงฤดูที่อากาศนิ่งสงบ และการหมุนเวียนของสภาพอากาศต่ำ ดีที่สุดคือเลี่ยงการออกจากบ้าน หรือหากต้องเดินทางไปทำงาน ไปเรียน ไปทำธุระก็ให้เข้าสู่อาคารบ้านเรือนให้เร็วที่สุด และเลี่ยงการออกมาในที่กลางแจ้ง ลด หรืองดทุกกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนั้นๆ
 

 

7. ทำความสะอาดจุดสะสมฝุ่น ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะล้างเครื่องปรับอากาศ พัดลม ชั้นหนังสือ ที่เก็บของ หรือจุดสะสมฝุ่น เพื่อไม่ให้เก็บกักฝุ่นมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัว

 

8. เตรียมยาให้พร้อม โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง อาทิ เด็ก คนชรา คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพทั้งระบบทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ ฯลฯ ควรพกยา หรือมีไว้ใกล้ตัวที่สุด พร้อมเมื่อต้องใช้ยามฉุกเฉิน

 

9. เสริมภูมิคุ้มกัน นอกจากการออกกำลังกายให้แข็งแรงเป็นประจำ ให้พอเหมาะกับวัยและสภาพร่างกายแล้ว การเสริมด้วยวิตามิน หรือสารอาหารสำคัญต่างๆ ที่ร่างกายจำเป็นต้องนำไปช่วยเสริมประสิทธิภาพ ในการจัดการระบบภายใน จำต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสมอ

 

10. งดกิจกรรมเพิ่ม PM 2.5 – การเผาไหม้ต่าง ๆ ทำได้ขอให้งด และหากคุณใช้รถใช้ถนนน้อยลง ใช้ขนส่งสาธารณะบ้าง หรือติดรถทางเดียวกันไปทำงาน รวมถึงอาหารปิ้ง ย่าง และการเผา ก็มีส่วนช่วยหยุดการเพิ่มมลพิษที่ว่าได้ เริ่มจากตัวเราเอง

 

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ กินครบหมู่ ดูแลใจ และใช้ตัวช่วย จำเป็นต้องพิจารณาสองส่วนสำคัญคือ 

 

หนึ่ง-ความปลอดภัย น่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ คุณประโยชน์ที่ให้กับร่างกาย ทำไม อย่างไร

สอง-ความคุ้มค่าที่ต้องจ่ายโดยยังคงให้ประโยชน์สูงสุด

 

เมื่อความหนุ่มสาวและสุขภาพที่สมบูรณ์กำลังถูกพรากไปด้วยฝุ่นควันจากมลภาวะที่เป็นตัวเร่งกระบวนการเสื่อมของเซลภายใน และสุขภาวะองค์รวมภายใน ซึ่งสร้างความถดถอยที่มาพร้อมความชรา และยอมแพ้ต่อสัจธรรมและธรรมชาติ รวมไปถึงมลพิษที่เจือปน PM 2.5 ซึ่งวนกลับมาทุก ๆ ปี 

 

ทั้งนี้ แม้เราไม่อาจหลบเลี่ยงมลภาวะทางอากาศได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และจำเป็นต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตปัจจุบัน แต่ด้วยการพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่องของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน นวัตกรรมที่แก้ปัญหาตรงจุด เพื่อเสริมประสิทธิภาพของร่างกายเกิดขึ้นท่าม กลางวาระเร่งด่วน คือการทำตัวเองให้พร้อมสู้ และรับผลที่จะเกิดขึ้นอย่างดีที่สุด

 

10 ข้อต้องรู้ เมื่อคนไทยต้องใช้ชีวิตเสี่ยงภัยท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 ทุกปี