posttoday

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

08 ธันวาคม 2565

ถ้าพูดถึง อ.เผ่าทอง ทองเจือ หลายคนนึกย้อนไปถึงผู้ชายสุดเพอร์เฟ็กต์ ชาติตระกูลดี มีหน้ามีตาในสังคมไทย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในช่วงวัย 66 ปี วันนี้ อ.เผ่าทอง มีมุมมองในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป นั่นเพราะชีวิตผ่านสิ่งต่างๆ มาไม่น้อย จนหล่อหลอมให้เป็นเผ่าทองในปัจจุบัน

เผ่าทอง ทองเจือ เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘อาจารย์เผ่าทอง’ เป็นบุตรของ นายพานทอง ทองเจือ กับนางไพบูลย์บุญ ทองเจือ (สกุลเดิม เนติกุล) อ.เผ่าทอง มีศักดิ์เป็นหลานปู่ พระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ซึ่งเป็นต้นสกุล ‘ทองเจือ’ และท้าวอนงค์รักษา (พร้อง ทองเจือ) อ.เผ่าทอง มีชื่อเล่นว่า ‘แพน’ เป็นน้องชายคนละแม่กับ ภิญโญ ทองเจือ อดีตนักแสดงละครโทรทัศน์ และปรางค์ทิพย์ ทวีพาณิชย์ อ.เผ่าทองจบปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความชอบในเรื่องโบราณคดีมาแต่เด็กๆ ขณะที่ศึกษาอยู่นั้น อ.เผ่าทองเป็นบุคคลคณะแรกๆ ที่ได้เข้าไปขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ จ.อุดรธานี ที่ผ่านมา อ.เผ่าทอง เป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ไทย นักโบราณคดี พิธีกร และวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และข้าหลวงในองค์สมเด็จพระพันปีหลวง ปัจจุบันมีรายการท่องเที่ยว ‘เปิดตำนานกับ เผ่าทอง ทองเจือ’ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 9.30 น. ทางช่อง PPTV HD 36 

 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป


 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

 

Live ขายของออนไลน์ จุดเริ่มต้นการปล่อยวาง การไม่ยึดติด

“การ Live สดขายของในเพจเฟซบุ๊ค : เปิดตำนานกับเผ่าทอง เริ่มขึ้นเมื่อปลายปี 64 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังล็อกดาวน์โควิด 19 อยู่ ผมว่างไม่มีอะไรทำ ก็เลยชวนเลขา ‘คุณกก’ มานั่งสำรวจตามหีบตามกล่องเก็บของในห้องจากบ้านหลังนู้นหลังนี้ ทำให้เจอของสรรพเพเหระที่เก็บสะสมไว้มากมาย เช่น ผ้าโบราณต่างๆ ที่เก็บมาตั้งแต่ตอนอายุ 18 ขณะเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร (40-50 ปีได้) แล้วก็มีพวกจิวเวลรี่ซึ่งเก็บไว้ตั้งแต่ตอนทำ ‘ห้องเสื้อเผ่าทอง’ ที่ทำมา 25 ปี ซึ่งแต่ก่อนมีสาขาเยอะมาก มีถึง 14 สาขา อย่างเวลาสั่งแหวนมาขายที่ร้านก็มีหลายไซส์ เช่น ไซส์ 51, 52 , 53 , 54 , 55 ที่มีไซส์ละ 100 วง ร้านมี 14 สาขาก็มี 1400 วงได้คือตอนที่ปิดห้องเสื้อเผ่าทอง ของเหล่านี้จะถูกแพ็กลงกล่องแล้วนำไปเก็บไว้ในคลังสินค้า พอช่วงโควิดมาเปิดดู จึงมีทั้งเสื้อ ผ้าไหม กางเกงเล เสื้อผ้ามือสอง พระพุทธรูป พระเครื่องห้อยคอ แก้วเจียระไน เบญจรงค์ ลายคราม ไปจนถึงหม้อ ไห ครก สาก เยอะมากๆๆ” (หัวเราะ)

 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป
 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

 

แค่ Live ครั้งแรก แฟนคลับก็ถล่มทลาย

“ตอนที่ Live ครั้งแรกเลขาก็บอกว่า มีคนเข้ามาดูเราไลฟ์ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน แต่ช่วงหลังเฟซบุ๊คมันปิดกั้นการมองเห็น ทำให้มีคนเห็นน้อยลงมากๆ แต่ถึงอย่างไร กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาดู มาซื้อของก็ยังเหนียวแน่น การขายแต่ละครั้งเราไม่ได้ขายแพงมาก อย่างผ้าชาวเขา เราขายแค่ผืนละ 200-300 บาทเท่านั้น เหรียญสตางค์รู ก็ขายแค่ร้อยสองร้อย ฉะนั้นเราไม่ได้เงินมหาศาล แต่เราสนุกกับการขาย และอยากส่งต่อของดีๆ ในแบบสมบัติผลัดกันชม เราไลฟ์สดมาเป็นปี พอได้เวลา พี่ป้าน้าอาย่ายาย ก็จะให้ลูกหลานเปิดไลฟ์ให้ดู แล้วพวกเขาจะมานั่งฟังอย่างสนุกสนาน ผมเคยเจอแฟนเพจเข้ามาทักทาย บอกว่าคุณแม่เขาต้องดูต้องฟังการไลฟ์สดของอาจารย์เผ่าฯ ทุกศุกร์-เสาร์ เพราะท่านบอกว่าช่วยให้นอนหลับดี อ้าว!! ตกลงการไลฟ์สดของฉันกลายเป็นยานอนหลับไปซะแล้ว” (หัวเราะ)

 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

 

อ.เผ่าทอง บอกว่า สามารถติดตามไลฟ์สดได้ทุกวันศุกร์และเสาร์ ถ้าตัวเองติดธุระไลฟ์ไม่ได้จริงๆ ก็จะมีเลขา (คุณกก) และแอดมิน (คุณต้น) ไลฟ์แทนเป็นประจำ…“เราเริ่มไลฟ์สด 1 ทุ่ม ไปเลิกเอาเที่ยงคืน เรียกว่าอยู่เป็นเพื่อนกันยาวๆ เสน่ห์ในการไลฟ์สดของผมคือ การเล่าประวัติความเป็นมาของของชิ้นนั้นๆ เช่น พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (พระประจำตัวคนเกิดวันพุธกลางวัน)  เราก็จะเล่าประวัติว่า ทำไมพระพุทธรูปปางนี้ถึงครองจีวรห่มเฉียง ทำไมถึงทรงเครื่องกษัตริย์ จากนั้นก็เล่าว่าปางนี้มีช้างมีลิงมาถวายของเพราะอะไร ทำไมช้างมาถวายน้ำ ทำไมลิงถึงถวายรวงผึ้ง เล่าไปจนจบ ซึ่งก็เป็นเรื่องตามตำราวิชาการนั่นแหละ

 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

 

บางทีผมก็ไลฟ์กับคุณกก (เลขาและผู้จัดการบริษัทเผ่าทอง) และน้องแอดมิน (คุณต้น) คือสามคนนี่วัยต่างกันเลย แต่พอมาไลฟ์ด้วยกันก็สนุกสนาน เป็นคน 3 เจเนอเรชั่นมาคุยกัน วันไหนที่ผมไม่ว่าง สองคนนี้ก็จะมาไลฟ์ด้วยกัน เห็นแบบนี้พวกเขามีแฟนคลับของตัวเองนะ อย่างเมื่อไม่นานนี้ผมกับคุณกกบินไปไหนสักที่หนึ่ง ก็มีแฟนคลับที่สนามบินมาขอถ่ายรูปกับคุณกก “คุณกกใช่มั้ยคะ ขอถ่ายรูปด้วยหน่อยค่ะ” ไอ้เราก็เสนอหน้าพูดว่า “ถ่ายกับคุณกกเสร็จแล้ว ถ่ายรูปกับผมด้วยมั้ยครับ” แฟนคลับก็ตอบกลับมาว่า “ไม่เป็นไรค่ะ อยากถ่ายรูปกับคุณกกแค่คนเดียว” (หัวเราะ) ไอ้เราก็หน้าแตกไป (คุณกกคือผู้ชายที่ออกรายการ เปิดตำนานกับเผ่าทองฯ กับอาจารย์บ่อยๆ)

 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

 

รายได้จากการ Live ขายของ ส่วนใหญ่นำไปช่วยสังคม

“รายได้ที่ได้จากการไลฟ์สดขายของ ส่วนใหญ่ผมมักจะนำไปทำบุญกับคน คือช่วยคนทั่วไป หรือช่วยโรงพยาบาล มากกว่าทำบุญกับวัด เพราะคิดว่าวัดแต่ละวัด ถ้าไม่ได้ขัดสนจริงๆ ก็จะมีผู้ดูแลอยู่แล้วทุกวัด แต่วัดที่ขัดสนในต่างจังหวัดซึ่งผมเคยไปทำบุญจริงจังก็มี นั่นคือ วัดป่าแดด อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ อย่างการทำบุญกับโรงพยาบาล ก็จะทำผ่าน คุณภูมิใจ บุรุษพัฒน์  เพื่อนผมซึ่งเป็นเจ้าของรีสอร์ต ‘บ้านเฮือนเพ็ญ’ บูทีค โฮเทล เชียงใหม่ เมื่อเพื่อนบอกว่า โรงพยาบาลสวนดอก จ.เชียงใหม่ คุณหมออยากได้เตียงคนไข้พิเศษที่สามารถเข็นเข้าห้องผ่าตัดได้เลย โดยไม่ต้องยกต้องย้ายคนไข้ออกจากเตียง ซึ่งจะช่วยให้อัตราการเสียชีวิตของคนไข้ลดลงได้ พอรู้แบบนี้ผมก็ช่วยบริจาคเตียงและอุปกรณ์การแพทย์ที่ รพ.สวนดอก ค่อนข้างเยอะทีเดียว”

 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

 

มุมมองการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในวัย 66 ปีของ อ.เผ่าทอง

“ทุกวันนี้การใช้ชีวิตของผมเปลี่ยนไปเยอะ สมัยที่เป็นวัยรุ่นเรายังยึดติดกับความสนุกสนานบันเทิง กิน ดื่ม เที่ยว ครบถ้วน แต่พอมาถึงช่วงอายุหนึ่ง เราก็เริ่มมองว่าชีวิตแบบนั้นมันน่าเบื่อแล้ว เราผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาหมดแล้ว ความสนุกสนานบันเทิงก็เริ่มลดน้อยถอยไป มาถึงปัจจุบันในวัย 60 กว่าๆ ผมรู้สึกว่าชีวิตเรามันเริ่มนับถอยหลังแล้วละ ผมจะบอกตัวเองไว้เสมอว่า 1-50 ปีคืออายุที่เดินหน้า แต่พอ 50 ปีขึ้นไปคืออายุที่เริ่มเดินถอยหลัง มีเวลาที่เหลือในชีวิตไม่มากแล้ว ฉะนั้นเราทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อใครได้ก็ควรรีบทำ เวลามีใครเชิญผมไปบรรยายไปสอน ถ้าผมไม่ติดธุระจริงๆ ก็จะไม่ค่อยปฏิเสธ หรืออย่างงานจิตอาสาของพระเจ้าอยู่หัวฯ ผมก็จะมีหน้าที่สอนจิตอาสาเกือบทุกรุ่น พูดง่ายๆ คือพยายามจัดสรรเวลาของตัวเองเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะให้มากที่สุด ตอนนี้พอเราแก่ตัวลง ผมจะไม่ยึดติดกับอะไรเลย แม้แต่อาหารในแต่ละมื้อ พอเราแก่ตัวลง เราก็กินน้อยลงไปเองโดยปริยาย”

 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

 

วัยนี้แล้วไม่ติดหรู ทั้งการใช้เงิน การแต่งตัว และการท่องเที่ยว 

“ทุกวันนี้ผมใช้เงินน้อยมาก เสื้อผ้านี่ไม่เคยซื้อมานานแล้ว ก่อนโควิด 19 ระบาดซะอีก จะใช้เสื้อผ้าเก่าของตัวเองที่สามารถใส่ซ้ำหรือใส่ได้เท่าที่จำเป็น ชุดสูทต่างๆ ที่ใช้นี่ก็ซื้อมาเป็นสิบปีแล้ว ทั้งที่เมื่อก่อนนี้ผมเป็นคนในแวดวงสังคมที่ต้องแต่งตัวเนี้ยบ มากคนหนึ่ง แต่ปัจจุบันเน้นใส่เสื้อผ้าเรียบง่ายสบายๆ ซะมากกว่า อย่างเรื่องท่องเที่ยว เมื่อก่อนนี้ผมจะชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่สวยงามทั่วโลกเลย แต่เมื่อได้มาทำรายการ ‘เปิดตำนานกับเผ่าทองฯ’ กลับรู้สึกว่าการไปเที่ยวเมืองนอก มันก็ไม่ได้ดีไปกว่าการเที่ยวเมืองไทยเลย อย่างสถานที่บางแห่งในเมืองไทยที่เราไปถ่ายทำรายการ ทุกที่ก็น่าสนใจหมด มีครั้งหนึ่งผมเคยไปถ่ายทำรายการที่ฟิลิปปินส์และฮ่องกง ผมก็ว่าอาหารทะเลของไทยเรา ก็อร่อยไม่แพ้ซีฟู้ดประเทศเขาเลย เดี๋ยวนี้เมืองไทยก็มีร้านระดับมิชลินหลายร้าน ซึ่งก็ไม่ต่างจากเมืองนอกเลย ฉะนั้นโปรดสนับสนุนไทยเที่ยวไทยเถอะครับ เศรษฐกิจไทยจะได้ดีขึ้น”

 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

 

เตรียมทำพินัยกรรมให้ลูกน้อง คนทำงานใกล้ชิด ที่ดูแลกันประดุจญาติแท้ๆ

ใครที่กำลังสงสัยว่า ทำไม อ.เผ่าทอง ถึงนำของสะสมและสมบัติส่วนตัวออกมาไลฟ์สดขายอยู่เรื่อยๆ ไม่เสียดาย หรือไม่คิดจะเก็บไว้ให้ลูกหลานญาติพี่น้องบ้างหรือ? เรื่องนี้อาจารย์ตอบอย่างอารมณ์ดี 

“อยากบอกว่า ลูกน้องผมทุกคนที่ร่วมงานกันมา ดูแลกันมา ทุกคนดีกับผมเหมือนเป็นญาติเลยก็ว่าได้ จริงๆ แล้วญาติพี่น้องของผมทุกท่านร่ำรวยกว่าผมมหาศาล ในบรรดาพี่น้องเนี่ยผมจนสุดแล้ว (หัวเราะ) ด้วยความที่ผมเป็นคนโสด ไม่ได้มีครอบครัว อีกอย่างเรามีแต่ลูกน้องและบริวารที่คอยดูแลกันมา ซึ่งไม่ต่างกับญาติ ฉะนั้นสมบัติที่มี มันขายไม่หมดหรอก ก็คงทิ้งไว้ให้พวกเขาต่อไปในอนาคต อีกส่วนหนึ่งก็ทำบุญช่วยเหลือคน ช่วยเหลือโรงพยาบาลต่อไป แต่ผมเป็นคนที่ไม่ชอบมาประกาศให้ใครฟังว่าตัวเองไปทำบุญนู่นนี่นั่นมานะ ความสุขของผมอยู่ที่การให้แล้วรู้สึกอิ่มใจ เราเห็นน้ำตาของคนที่ได้รับไหลออกมาด้วยความดีใจ เท่านี้เราก็อิ่มใจไปด้วยแล้ว”

 

คุยกับ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่มุมมองชีวิตเปลี่ยนไป

 

ความเห็นเกี่ยวกับ LGBTQ+ ในยุคปัจจุบัน 

“สมัยนี้การเป็น LGBTQ+ เป็นเรื่องปกติที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับกันเกือบทั้งโลก แต่โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นประโยชน์ของกลุ่ม LGBTQ+ ในแง่ที่ว่า แต่ก่อนการทำประกันชีวิต ผู้ทำประกันจะต้องเลือกผู้รับผลประโยชน์โดยต้องเป็นญาติตามสายเลือดหรือเป็นคนที่นามสกุลเดียวกัน แต่ทุกวันนี้โลกสมัยใหม่เปิดกว้างขึ้นมาก ยกตัวอย่างการทำประกันในกลุ่ม LGBTQ+ ของเมืองไทยประกันชีวิต ที่ออกแคมเปญนี้ขึ้นมา ผมคิดว่ามันยิ่งเหมาะกับชีวิตผมมากเลย เพราะผมต้องการยกมรดกให้กับลูกน้องและคนที่ทำงานกับผมมาตลอด ผมจึงเลือกทำประกันมรดกโดยใช้วิธีการผ่านแคมเปญ LGBTQ+  นี้ซึ่งเปิดช่องให้เราสามารถยกมรดกให้กับคนที่ไม่ได้เป็นญาติหรือนามสกุลเดียวกับเราได้ คือทำประกันมรดกในชื่อเรานี่แหละ แต่ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์เป็นนาย A นาย B นาง C ได้เลย ซึ่งเมื่อก่อนไม่สามารถทำได้นะ เพราะบริษัทประกันกลัวว่าเราจะถูกฆาตกรรมเพื่อหวังสมบัติ หวังประโยชน์…แหม แต่ถึงจะเป็นญาติกัน ก็วางแผนฆาตกรรมกันได้ใช่เปล่า ผมก็เลยอาศัยแคมเปญนี้ของเมืองไทยประกันชีวิตในการเตรียมความพร้อมเรื่องมรดกไว้นั่นเอง”