posttoday

ผื่นกุหลาบ-ผื่นร้อยวัน โรคผิวหนังที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส

28 มิถุนายน 2563

โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าฝน “โรคผื่นกุหลาบ” “โรคผื่นร้อยวัน” อาการเฉียบพลันที่ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส แพทย์ผิวหนังแนะวิธีสังเกตอาการและการรักษา

ผื่นกุหลาบ-ผื่นร้อยวัน โรคผิวหนังที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำ "โรคผื่นกุหลาบ" โรคผิวหนังที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน เป็นโรคไม่ติดต่อที่มีอาการเฉียบพลัน สามารถหายเองได้ มักเกิดในวัยหนุ่มสาว พบไม่บ่อยในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคผื่นกุหลาบเป็นโรคผิวหนังมีอาการเฉียบพลัน ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด พบมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส ผื่นมีลักษณะเฉพาะ รูปร่างกลมหรือรี มีการกระจายเป็นแนวตามร่องบนผิว คล้ายกับลักษณะของต้นสน โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อย โดยเฉพาะช่วงอายุ 10-35 ปี พบได้ในทุกเชื้อชาติ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตรา 2:1

ผื่นมักเกิดอยู่นานประมาณ 6-8 สัปดาห์แล้วหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นนานถึง 5 เดือนหรือมากกว่า การวินิจฉัยแยกกับผื่นผิวหนังอักเสบอื่นๆ และมีรายงานว่าการเกิดผื่นกุหลาบในผู้ป่วยตั้งครรภ์ เป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้งได้ โดยเฉพาะช่วง 15 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

ผื่นกุหลาบ-ผื่นร้อยวัน โรคผิวหนังที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส

ทางด้าน แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ระบุว่า ผื่นแรกมักเกิดขึ้นบริเวณลำตัวและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งอาจพบบริเวณคอ หรือแขนขาส่วนบนได้ โดยมักจะเกิดนำผื่นอื่นๆ เป็นชั่วโมงหรือวัน ลักษณะเป็นผื่นเป็นสีชมพู สีแซลมอน หรือสีน้ำตาล อาจจะมีขอบยกเล็กน้อย ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร แต่บางกรณีอาจมีขนาด 1 เซนติเมตร หรือใหญ่ถึง 10 เซนติเมตร ตรงกลางของผื่นมีขุยขนาดเล็ก ขอบขยายใหญ่ขึ้น ประมาณ 5% ของคนไข้มีอาการนำมาก่อน เช่น ปวดหัว มีไข้ ปวดข้อ และปวดเมื่อย อาจพบตุ่มหนองเล็กๆ ในช่วงแรกของโรค มักไม่พบผื่นบริเวณหน้า มือและเท้า อาการคันในโรคผื่นกุหลาบพบได้ประมาณ 25%

ผื่นกุหลาบมักไม่มีอาการแสดงและสามารถหายได้เอง โดยไม่ทิ้งร่องรอย การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก การใช้ครีมชุ่มชื้นผิวที่เหมาะสม ร่วมกับยาทาสเตียรอยด์ หรือยากินในกลุ่ม antihistamines สามารถช่วยลดอาการคันได้ แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์ช่วงสั้นๆ การฉายแสง UVB (Narrowband or broadband) สามารถช่วยควบคุมโรคได้

ทั้งนี้ ข้อมูลโดย พญ.ทิมาพร ปัตยะกรท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม ผิวหนังและเลเซอร์ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า

อาการโรคผื่นกุหลาบ ผื่นจะขึ้นตามตัว โดยที่สุขภาพทั่วไปยังแข็งแรงดีและมักไม่มีอาการไข้ แต่ในบางรายก็อาจพบอาการนำมาก่อนมีผื่นขึ้น ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ และคลำพบต่อมน้ำเหลืองโต โดยผื่นปฐมภูมิ (ผื่นอันแรก) เกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นและผื่นขนาดเล็กจะขึ้นตามมาภายหลัง โดยผื่นปฐมภูมินี้มักมีจำนวนเพียง 1 ผื่น มีขนาดประมาณ 2 - 6 เซนติเมตร ใหญ่กว่าผื่นทุติยภูมิ ผื่นมักจะหายไปได้เองภายใน 2 - 6 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีผื่นอยู่นานถึง 3 - 4 เดือนหรือนานกว่านี้ ทำให้โรคนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า "โรคผื่นร้อยวัน"

ลักษณะโรคผื่นกุหลาบ เป็นรูปวงรี รูปไข่ หรือวงกลม ตรงกลางของผื่นมีลักษณะย่น มีสีชมพู สีส้ม หรือสีเนื้อปลาแซลมอน ส่วนบริเวณรอบนอกของผื่นจะเป็นสีแดงเข้ม (ขอบผื่นชัด) ทั้ง 2 บริเวณนี้จะแยกจากกันด้วยขุยหรือเกล็ดบางๆ ที่ขอบของผื่นและมักจะขึ้นบนลำตัว

การรักษาโรคผื่นกุหลาบ

  • ไปพบแพทย์เพื่อวินิฉัยแยกจากโรคอื่น
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น เช่น การมีเหงื่อออก การอาบน้ำอุ่น/ร้อนจัดจนผิวแห้ง
  • พยายามให้ผิวสัมผัสแสงแดดบ้างทุกวัน จะช่วยให้ผื่นไม่ขึ้นมากและหายเร็ว