posttoday

คอลัมน์คนซอยสวนพลูวันนี้ ขอนำเสนอเรื่อง "ศรัทธาเสื่อม สถาบันสิ้น"

30 มิถุนายน 2562

จริงอยู่ที่กองทัพเป็นสถาบันหลักในการสร้างความมั่นคงแต่ในกรณีของประเทศไทย กองทัพได้"ทำเกินหน้าที่"

จริงอยู่ที่กองทัพเป็นสถาบันหลักในการสร้างความมั่นคงแต่ในกรณีของประเทศไทย กองทัพได้"ทำเกินหน้าที่"

.........................

โดย ทวี สุรฤทธิกุล

สถาบันที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกองทัพ

ประเทศไทยมีปัญหามากในการสร้างประชาธิปไตย ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยมากที่สุดก็คือ “ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง” หมายถึงความไม่ต่อเนื่องของระบบรัฐสภา เพราะมีการปฏิวัติรัฐประหารและการขัดขวางการเติบโตของสถาบันหลักต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ รัฐสภา พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ องค์กรและกระบวนการในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ

“เสถียรภาพทางการเมือง” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญหนึ่งในสามสิ่งของ “การพัฒนาการเมือง” อันประกอบด้วย เสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และความชอบธรรม ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสามสิ่งนี้ “บกพร่อง” การพัฒนาการเมืองก็จะ “ชะงักงัน” ตั้งแต่เกิดความวุ่นวายไปจนถึงการล่มสลายของระบบการเมืองนั้น ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้จะต้อง “ยึดเข้าด้วยกัน และไปด้วยกัน” เหมือนเข็มนาฬิกาที่ต้องหมุนไปพร้อมๆ กันทั้งสามเข็ม คือ เข็มชั่วโมง เข็มนาที และเข็มวินาที นั้น จึงจะทำให้นาฬิกาทำงานไปได้อย่างสมบูรณ์

กองทัพเป็นสถาบันที่มีหน้าที่หลักในการสร้างความมั่นคง ซึ่งก็คือการทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ในกรณีของประเทศไทย กองทัพได้ “ทำเกินหน้าที่” มาโดยตลอด คือเข้ามากำกับควบคุมกลไกทางการเมืองทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น รัฐสภา รัฐบาล หรือแม้กระทั่งในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่จะเข้ามากำกับควบคุมแต่เฉพาะในยุคที่กองทัพทำการรัฐประหารสำเร็จแล้วเท่านั้น แต่ยังเข้ามามีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมในยุคที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วนั้นด้วย ดังเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้

ผลของการ “ทำเกินหน้าที่” ก็คือ “ความไร้ประสิทธิภาพ” เพราะจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่กองทัพเข้ามาบริหารจัดการประเทศ ส่วนใหญ่แล้วกองทัพต้องแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรอื่นๆ เพราะกองทัพไม่สามารถจะบริหารจัดการประเทศได้เพียงลำพัง ในบางยุคบางสมัยที่ทหารพยายามจะทำหน้าที่ “คุ้มครองระบบ” คือปล่อยให้สถาบันและองค์กรอื่นๆ ทำหน้าที่บริหารจัดการประเทศไป โดยทหารคอยค้ำจุนรักษาความสงบเรียบร้อยให้ เช่น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ กองทัพก็ช่วยหนุนคณะราษฎร และให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อรัฐบาลทำงาน “ไม่ล่ายหลั่งจาย” ทหารก็ขึ้นมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลเสียเอง ในทำนองเดียวกันกับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ให้อาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการทำรัฐประหารในวันที่ ๖ ตุลาคม โดยทหารเป็น “เปลือกหอย” ปกป้องคุ้มครองให้ แต่เพียงปีเดียวก็ยึดอำนาจคืน หรืออย่างในกรณีการรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ทหารก็ได้ขอให้ “นายทหารนอกราชการ” อย่างพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงมีการเลือกตั้ง แต่ทั้งหมดนั้นก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับ “กลุ่มอำนาจอื่นๆ” แต่ก็เป็นกลุ่มอำนาจที่อยู่ในความควบคุมของทหาร อย่างที่เรียกว่า “กลุ่มอำมาตย์” นั้น

กองทัพมักจะอ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารว่า ระบบการเมืองมีวิกฤติ โดยเฉพาะวิกฤติที่เกิดจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จากนั้นก็พยายามจะสร้าง “ระบบการเมืองใหม่” ที่คิดว่าจะแก้วิกฤติจากนักการเมืองนั้นได้ อย่างเช่นในการทำรัฐประหารในทั้งสองครั้งหลัง ที่สร้างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ อันได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับไล่ล่าทักษิณ” และรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ ที่ประธานคณะกรรมการยกร่างท่านเรียกว่า “ฉบับปราบโกง” อันหมายถึงนักการเมืองที่ขี้ฉ้อคดโกงทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าได้สร้างปัญหาให้กับนักการเมืองมากมาย ไม่ใช่เฉพาะแต่นักการเมืองในฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเท่านั้น แต่รวมถึงนักการเมืองในฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทหารนั้นด้วย

ผู้คนจำนวนมากคาดหวังว่าการที่ทหารเข้ามาทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ น่าจะเข้ามาสร้าง “สิ่งดีๆ” ทางการเมือง แต่ ๕ ปีที่ผ่านไปกลับไม่เป็นดังที่หลายๆ คนมุ่งหวัง โดยเฉพาะ “การสร้างการเมืองใหม่” เพราะเรายังคงได้เห็นธาตุแท้ของกองทัพที่ยังคง “หวงอำนาจ” ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญให้สืบทอดอำนาจไว้ในกองทัพและผู้นำทหาร แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ พรรคการเมืองของทหารกลับเต็มไปด้วยนักการเมืองในรูปแบบเดิมๆ แบบที่ทหารรังเกียจและเอามาเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั่น ทหารยังคงใช้วิธีการทำงานการเมืองแบบเดิมๆ ที่รวบรวมเอาพรรคการเมือง “เบี้ยหัวแหลกหัวแตก” มาร่วมสนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่พรรคที่เป็นแกนนำก็ยังแก่งแย่งตำแหน่ง แตกกันเป็นก๊กเป็นมุ้ง ที่เสี่ยงต่อความไร้เสถียรภาพ และน่าจะเป็นปัญหาต่อประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ แต่กองทัพก็สามารถที่จะ “ทนดู” สภาพการอันเละเทะเหล่านี้ รวมถึงดูจะมีความพอใจที่เห็นการประชุมสภามีความวุ่นวายเลอะเทอะ ซึ่งผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองบางคนถึงกับคิดไปว่า “หรือนี่จะเป็นแผนการของผู้มีอำนาจ ที่ปล่อยให้บ้านเมืองในทุกๆ สถาบันมีความเละเทะวุ่นวาย เพื่อที่ทหารจะได้อ้างความชอบธรรมในการดูแลประเทศสืบไป”

หลายๆ ท่านคงจะมีความ “ห่วงใย” ถึงความมั่นคงของกองทัพ จากการที่ได้เห็นความล้มเหลวของกองทัพครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งนั่นก็คือ “ความไร้ประสิทธิภาพ” แม้ว่าจะยังมีอีกไม่น้อยที่คิดพึ่งพิงกองทัพ เพราะเชื่อว่ากองทัพเป็นสถาบันเพียงหนึ่งเดียวที่จะจัดการกับทุกๆ ปัญหาของประเทศได้ แต่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งก็ได้เห็นแล้วว่ากองทัพยังคงล้มเหลวกับการแก้ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศอีกมากมาย โดยเฉพาะปัญหาในระบบรัฐสภา ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อ “ความชอบธรรม” อันหมายถึงความพึงพอใจและการยอมรับในการใช้อำนาจของผู้ปกครองของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครองนั้นๆ ท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อ “เสถียรภาพ” ของกองทัพเสียเอง คือการล่มสลายของผู้รักษาระบบ เพราะผู้รักษาระบบนั้นปล่อยให้มีการทำลายระบบกันอย่างโจ่งแจ้ง จนหลายคนเชื่อไปว่ากองทัพอาจจะปล่อยให้เกิดการกระทำเช่นนั้น

รัฐสภาล่มสลายเพราะนักการเมืองเสื่อมความนิยม กองทัพจะอยู่ใน “กงกรรม” เช่นนั้นหรือ