logo-pwa

เพิ่ม Post Today

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย

01 พฤศจิกายน 2553

พระบรมราชโองการฉบับนี้ นับเป็นเอกสาร สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาของไทย ว่าการศึกษาได้เริ่มต้น และเผยแพร่ในระหว่างประชาชนได้อย่างไร....

พระบรมราชโองการฉบับนี้ นับเป็นเอกสาร สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาของไทย ว่าการศึกษาได้เริ่มต้น และเผยแพร่ในระหว่างประชาชนได้อย่างไร....

โดย...สมาน สุดโต

วันที่ 23 ต.ค. 2553 เป็นวันครบรอบ 100 ปี การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 องค์พระปิยมหาราชของชาวไทย ในการนี้บรรดาองค์กรหลายแห่งและปวงชนชาวไทยจัดงานเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน เพราะสยามประเทศมีวันนี้ได้ก็เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย หอสวดมนต์ที่ตั้งโรงเรียนแห่งแรก

เรื่องที่พระองค์ทรงริเริ่ม ยังคงโลดแล่นในวิถีชีวิตชาวไทยจนถึงทุกวันนี้คือการวางรากฐานการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป โดยจัดตั้งโรงเรียนสำหรับประชาชนที่วัดมหรรณพาราม เมื่อปี พ.ศ. 2427 หรือ 126 ปี ที่ผ่านไป

ก่อนที่จะมีโรงเรียนแห่งแรกที่วัดมหรรณพ์จนเป็นหน้าหนึ่งของประวัติการศึกษาไทยนั้น ลูกหลานคนไทยที่เป็นชาวบ้านศึกษาหาความรู้ในวัด มีพระเป็นครูสอนหนังสือ ส่วนลูกท่านหลานเธอมักมีที่เรียนพิเศษอยู่ในพระราชฐาน เมื่อจัดโรงเรียนวัดนอกวังจึงเป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาเท่าเทียมกับลูกท่านหลานเธอ

การจะให้นำระบบโรงเรียนหรือการศึกษาลงสู่รากหญ้าได้สำเร็จ ต้องอาศัยคนที่มีความสามารถและไว้ใจได้ ก็ในสมัยนั้นผู้โดดเด่น และมีความคิดที่พระองค์จะใช้สอยได้ดีคือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งยังเป็นพระองค์เจ้าดิสวกุมารอยู่

ในปี พ.ศ. 2427 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงเริ่มดำเนินการตามพระราชประสงค์ โดยร่วมมือกับพระสงฆ์ ตั้งโรงเรียนหลวงหรือโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ที่วัดมหรรณพาราม เพื่อให้อาณาประชาราษฎรจะได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือโดยทั่วหน้ากัน
วัดมหรรณพาราม ตั้งอยู่ใกล้กับศาลเจ้าพ่อเสือ ติดกับอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน

อุปสรรค

เอกสารที่เล่าประวัติโรงเรียนแห่งแรกของ ประเทศไทย ว่าพอเริ่มมีโรงเรียน ประชาชนคนไทยพากันพูดไปในทางลบว่า การที่หลวงตั้งโรง เรียนขึ้น เพราะมีความประสงค์จะเก็บเอาเด็กไปเป็นทหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการประกาศชี้แจงให้ทราบความจริงทั่วกันว่า

โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย จอมพลสฤษดิ์ นรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดมหรรณพ์

“ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราช ดำริเห็นว่า การวิชาหนังสือเป็นต้นทางของวิชาความรู้ ทั้งปวง สมควรที่จะทะนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป เพราะคนในพื้นบ้านเมืองสยามเรานี้ ที่จะโตใหญ่ไม่รู้ หนังสือไทยก็มีมาก ที่พอรู้อ่านได้เขียนได้ แต่ไม่ถูกถ้วนนั้นก็มีโดยมาก เพราะโรงเรียนที่สอนวิชาตามแบบ หลวงยังมีน้อย ไม่พอกับผู้ที่เล่าเรียน มีพระราช ประสงค์จะให้พระบรมวงศานุวงศ์แลบุตรหลานข้าราชการ และราษฎรทั้งปวงได้เล่าเรียนศึกษาหนังสือไทยให้รู้โดยละเอียดตามแบบที่ถูกต้อง จึงทรงเสียสละพระราชทรัพย์ออกตั้งโรงเรียนแลจ้างครู
สอนบำรุงการเล่าเรียน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก”

ในพระบรมราชโองการได้ชี้แจงต่อไปว่า-ยังได้ ทรงพระราชดำริจะให้ตั้งโรงเรียนในพระอาราม หลวงทุกแห่ง สำหรับบุตรหลานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ได้เล่าเรียนโดยสะดวก ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไร ด้วยมีพระประสงค์ให้วิชาหนังสือไทยรุ่งเรือง แพร่หลายเป็นประโยชน์ต่อราชการ เพื่อความเจริญของบ้านเมืองตามที่ราษฎรตื่นเต้นเล่าลือกันว่า ให้ตั้งโรงเรียน ขึ้นเพื่อเก็บนักเรียนเป็นทหารนั้นไม่มีมูลความจริง  เพราะบุคคลที่จะเกณฑ์เป็นทหารเป็นคนละประเภท เด็กทั้งปวงนั้นก็ล้วนเป็นบุตรหลานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งสิ้น จะเอามาเป็นทหารโดยตรงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งโรงเรียนเกลี้ยกล่อมให้ลำบาก และสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ผู้ที่เล่าลือเช่นนั้น เหมือนเป็นคนไม่มีกตัญญูรู้พระเดชพระคุณที่ทรงพระมหากรุณาแก่ประชาราษฎร ตอนท้ายพระบรมราชโองการกล่าวว่า

“ถ้อยคำของคนเช่นนั้น ใครไม่ควรจะเชื่อเอาเป็นประมาณ ถ้าใครมีบุตรหลานอยากให้ได้เล่าเรียนให้มีวิชาความรู้สำหรับตัว ก็ส่งเข้าเล่าเรียนในโรงเรียนสอนที่ใกล้เคียงเขตบ้านนั้นเถิด อย่าคิดหวาดหวั่นครั่นคร้ามด้วยข้อที่บุตรหลานจะต้องติดเป็นทหารนั้นเลยประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน 6 แรม 3 ค่ำ ปี ระกา สัปตศก พ.ศ. 2428 เป็นปีที่ 18 หรือวันที่ 6016 ในรัชกาลปัจจุบันนี้”

พระบรมราชโองการฉบับนี้ นับเป็นเอกสาร สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาของไทย ว่าการศึกษาได้เริ่มต้น และเผยแพร่ในระหว่างประชาชนได้อย่างไรเมื่อประชาชนหายเข้าใจผิดแล้ว ก็พากันส่งบุตรหลานของตนมาเข้าโรงเรียนด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้นับเป็นบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่การศึกษาภาคบังคับในโอกาสต่อมา

หลักสูตรครั้งแรก

หนังสือที่ระลึกสมโภชสัญญาบัตรและพัดยศ  พระราชสุตกวี เจ้าอาวาสวัดมหรรณพาราม พ.ศ. 2550 เล่าเรื่องโรงเรียนแห่งแรกที่วัดมหรรณพารามว่า เริ่มต้นอาศัยหอสวดมนต์หรือหอฉัน ในบริเวณคณะ 1 เป็นสถานที่สอนหนังสือ มีครูนุ่มเป็นครูใหญ่ และมีครูพยอม ครูเล็กตามลำดับ เริ่มเรียนประมาณ 09.00 น. หยุดพักเวลาเพล และเลิกราว 15.00 น.

นักเรียนส่วนใหญ่เป็นศิษย์วัด เวลาเรียนจึงต้อง กำหนดนอกเวลาปฏิบัติกิจวัตรของพระหลักสูตรการสอน มีการอ่าน การเขียน การคัด ลายมือ การสะกดตัว การคัดสำเนาหนังสือ การเขียนจดหมาย เครื่องหมายวรรคตอนและไวยากรณ์ไทย หนังสือที่ใช้ในสมัยนั้น มีอยู่ด้วยกัน 6 เล่มนี้ การเรียนขณะนั้น จัดเป็น 3 ชั้นคือ

โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย อาคารปั้นหยาจำลองอาคารเรียนสมัยหนึ่ง

ขั้นต้นเรียนมูลบทบรรพกิจกับวาหนิติกร ครูเล็กเป็นผู้สอน

ชั้นกลางเรียนอักษรประโยค กับสังโยคพิธาน ครูพยอมเป็นผู้สอน

ชั้นปลายเรียนไวยพจน์พิจารณ์ กับพิศาลการันต์ ครูนุ่มเป็นผู้สอน

เมื่อได้ผ่านทั้ง 3 ชั้นนี้แล้ว ถือว่าจบการเรียน หนังสือไทยในสมัยนั้น ชาวบ้านเรียกชื่อครูผู้สอนแทนชั้นเรียน เช่น ชั้นปลายก็เรียกว่าชั้นครูนุ่ม เป็นต้น

การเรียนครั้งนั้นไม่มีการสอบไล่ ใช้พิจารณา เลื่อนชั้นด้วยการสอบซ้อมเป็นรายตัว โต๊ะเรียนยังไม่รู้จัก จึงนั่งเรียนกับพื้น มีม้าไม้ สำหรับรองหนังสือเรียน กระดานไม้สักทาด้วยเขม่าผสมกับน้ำข้าวข้นๆ เรียกกันว่ากระดานชนวน เป็นอุปกรณ์การเรียนพร้อมดินสอสีขาวและเหลืองที่ขุด
มาก้อนแล้วตัดซอยให้เล็กลง

การแต่งกายของเด็กนักเรียนสมัยแรกใช้นุ่งผ้า โจงกระเบนเป็นพื้น ส่วนเสื้อจะใส่แบบใดก็ได้ไม่ บังคับ (เครื่องแบบที่เห็นต่อมามีใช้ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6)เมื่อสถานที่เรียนชั่วคราว ที่หอสวดมนต์ มีเด็กนักเรียนมากขึ้น ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสถานที่เรียนมาเรียนที่โรงเรียนสร้างใหม่ ณ บริเวณหอระฆังหน้าวัด ในตอนนี้ได้มีชาวอินเดียชื่อบาบูรามสมี มาขอเปิดทำการสอนภาษาอังกฤษในตอนเย็นด้วย จึงนับว่ามีการสอนวิชาพิเศษมากันตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

ครั้งสุดท้าย ได้ย้ายตัวโรงเรียนมาตั้ง ณ ที่โรงเรียนเทศบาลตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ ใน พ.ศ. 2450 รัฐได้เปลี่ยนแปลงการศึกษา โดยกำหนดหลักสูตรขึ้นใหม่ มีชั้นมูล 3 ปี ประถม 3 ปี มัธยมประเภทต่างๆ 5 ปี โรงเรียนวัดมหรรณพ์ในชั้นหลังจึงมีถึงชั้นมัธยม 1

ครั้น พ.ศ. 2479 กระทรวงให้ยุบเลิกโรงเรียนรัฐบาลที่วัดมหรรณพ์นี้เสีย แล้วมอบให้จังหวัดจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นโรงเรียนประชาบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2480 ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนฐานะจากโรงเรียนประชาบาลมาเป็นโรงเรียนเทศบาลจนบัดนี้

ผมได้เดินชมวัดมหรรณพาราม ซึ่งเป็นที่ ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงทองคำ ขนาดใหญ่ใน วิหาร ที่คู่กับพระอุโบสถ ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเช้าวันที่ 28 ต.ค. 2553 เพื่อตามดูที่ตั้งโรงเรียนแห่งแรก ที่คณะ 1 เห็นหอสวดมนต์ ที่ตั้งโรงเรียนสำหรับลูกชาวบ้านแห่งแรกของเมืองไทยได้รับการบูรณะอย่างดี

เมื่อตามมาดูที่หน้าโรงเรียนมีพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ประดิษฐานอยู่ ใต้ฐานจารึกประวัติการก่อตั้งโรงเรียนวัดวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย เข้าไปในบริเวณโรงเรียนเทศบาลพบเห็นอาคารสร้างใหม่ทรงปั้นหยา ว่าจำลองแบบอาคารเรียนโรงเรียนวัดมหรรณพ์ในยุคแรกเช่นกัน ที่อาคารแห่งนี้มีนิทรรศการแสดงความเป็นมาของโรงเรียนที่เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ. 2427 รูปจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ และภาพแสดงเครื่องแต่งกายนักเรียนในสมัยโบราณอยู่ด้วยไปชมที่ตั้งโรงเรียนแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม จะได้ไหว้หลวงพ่อพระร่วงทองคำที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ท่านจะอิ่มใจ ได้ทั้งบุญและความรู้