posttoday

มีเงินมาก หรือหาเงินได้เก่ง อาจไม่สุขจริง

29 ธันวาคม 2561

เรื่อง : ดร.ต้อง เดอะ ฟิลเตอร์ ภาพ : เอพี

เรื่อง : ดร.ต้อง เดอะ ฟิลเตอร์ ภาพ : เอพี


เคยถามตัวเองบ้างไหมครับว่าเราต้องหาเงินเก่งหรือมีเงินมากแค่ไหน? เราจึงจะมีความสุข หรือไม่ก็ทำให้คนรอบตัวมีสุข อันนี้หลายคนอาจตอบแบบฟันธงยาก เพราะไม่เคยคิดจริงจังว่าต้องมีมากแค่ไหน?

หลายคนวันๆ ยังเอาตัวเองแทบไม่รอด ในสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในปัจจุบัน เราต่างอาจแค่ขอเอาตัวเองให้รอดวันนี้ให้ได้ก็ดีพอแล้ว

จริงๆ ผมก็รู้ดีว่าทุกคนเห็นด้วยกันไม่ยากว่าเงินนำความสุขมาให้เราได้ถึงจุดๆ หนึ่งจริง จุดที่เรามีทุกอย่างที่เป็นความต้องการพื้นฐาน เราใช้ชีวิตดี มีศักดิ์ศรี เราอยู่ดี กินอิ่ม คนรอบตัวเราใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกังวลว่าวันข้างหน้าอาจจะอด

จากการศึกษาของศาสตราจารย์ Donnelly and Norton จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับกลุ่มตัวอย่างคนรวยมาก 4,000 คน ที่มีทรัพย์ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป เขาค้นพบว่าทุกคนพอมีทรัพย์เกิน 3 ล้านบาท/ปี (โดยประมาณ) ความสุขกับเงินที่หามาได้เริ่มมีค่าผกผันตรงกันข้าม หรือถ้าว่ากันตามศัพท์ทางวิชาการเรียกว่าเป็นกฎผลตอบแทนลดน้อยถอยลง

เราจะเห็นได้เลยว่าคนที่รวยขึ้นเรื่อยๆ หลายคนกลับใช้เงินระวังขึ้นและสนุกกับการหาเงินมากกว่า การมีเงิน เพราะเงินเมื่อเกินจุดๆ หนึ่งไม่ทำให้เราสุขได้อีก ความสุขของคนที่รวยแล้วกลับเป็นการหามาเพิ่ม หามาเพิ่มเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองยังสามารถผลิตทรัพย์และสร้างความนับหน้าถือตาต่อสังคมได้

มันไม่ใช่เงินที่ทำให้สุข แต่ศักดิ์ศรีของการหาเงินได้เก่งต่างหากที่นำความสุขมาเป็นช่วงๆ และก็สุขลดลงๆ เรื่อยๆ ยิ่งหาเยอะ ยิ่งสุขยาก และยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาที่ตามมาของคนขยันหาเงินเก่ง คือ ความสัมพันธ์กับคนสำคัญจะผกผันกันในทางตรงกันข้ามได้ไม่ยากเช่นกัน (แต่ไม่ทุกกรณีนะครับ) ถ้าเป้าหมายชีวิตเขาคือสนุกหาเงินจนสร้างความสุขให้คนรอบข้างโดยไม่ใช้เงินไม่เป็น

ยิ่งหากเป็นคนยิ้มยากไม่เป็นมิตรกับคนรอบข้าง เครียดง่าย เอาใจยาก และมักเผลอกดดันตัวเองและคนรอบข้างเสมอ อาจยิ่งทำให้ทุกข์กว่าเดิม เพราะส่วนใหญ่คนหาเงินเก่งอย่างเดียว แต่ไม่มีเสน่ห์อย่างอื่นเลย อาจจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่าการให้ความสุขคนอื่นโดยไม่ต้องใช้เงินมันทำอย่างไร?

ผลของการโฟกัสกับการหาเงินอย่างเดียวเพื่อสร้างสุขให้คนรอบข้าง อาจยิ่งทำให้คนรอบข้างมองคนหาเงินด้วยความรู้สึกแปลกแยกมากขึ้น เพราะอาจถูกสอนให้ต้องการแค่เงินจากคนหาเงิน แล้วก็ใช้เงินนั้นมาหาสุขเอง แทนที่จะต้องการใช้เวลาให้คุณค่ากับคนที่หาเงินมาให้ จนอาจคิดถึงแต่เงินที่เขาหามา แต่ไม่ได้คิดถึงตัวคนหาเงิน

และถ้าคนหาเงินเริ่มรู้สึกหมดความสำคัญ เพราะอีกคนสนใจแต่เงินที่เขาหามา ก็อาจจำเป็นต้องใช้เงินขู่ให้กลับมาให้ความสำคัญ (คือไม่ให้ต่อ ถ้าไม่ตามใจ ให้คุณค่า) แทนจะจะพัฒนาทักษะที่ไม่ต้องใช้เงิน ในการสร้างสุข พัฒนาวิธีที่ไม่ต้องใช้เงิน ให้คนอื่นคิดถึงตัวเอง โดยไม่ต้องมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง

กฎของผลตอบแทนลดน้อยถอยลงที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีการผลิต (Production Theory) ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเรามัวแต่เพิ่มปัจจัยผันแปรเรื่อยๆ ทีละหน่วย จะพบว่าผลผลิตส่วนเพิ่มที่ได้รับกลับมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ จนถึงศูนย์ ซึ่งเกิดจากการใช้ปัจจัยการผลิตในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม นั่นหมายความว่าเงินเองเป็นปัจจัยผันแปร

คนเรามีความสุขไม่ใช่เพราะมีเงินเยอะ แต่เราเห็นตัวเองหาเงินเก่ง มีความสามารถในการหาเงินมาได้เองเยอะ และเราก็เอาเงินมาให้คนรอบข้างสุขกับเรา โดยคิดว่าเราจะสุขเพราะเขาจะเห็นคุณค่า คิดถึงเรา ชีวิตขาดเราไม่ได้ เพราะเราหาเงินเก่ง แต่จริงๆ เขาอาจต้องการเงิน ไม่ได้ต้องการเรา

เงินจึงผกผันเชิงลบกับผลตอบแทนทางอารมณ์ ซึ่งเราอาจคิดไม่ถึง เงินกลับไม่ได้สามารถทำให้เรามีค่าจริง แต่มีค่าผกผันกับการหาเงินได้เก่ง หาเงินได้ยาว ไม่หยุดเก่งเรื่องหาเงิน และความสุขคนอื่นก็อาจต้องการปัจจัยเงินเพิ่ม ไม่ได้น้อยลงอย่างที่คิด เพราะเขาสุขยากขึ้น อะไรซื้อมาได้แล้ว ก็เลิกอยาก หันไปอยากสิ่งใหม่ที่แพงขึ้น ต้องการให้อีกฝ่ายหาเงินมากขึ้นมาตอบสนอง

จริงๆ ความสุขของคนหาเงินมันเป็นอำนาจต่อรองมากกว่า ไม่ใช่เป็นการสร้างสุขแท้ๆ ให้คนรอบข้าง คนมีเงินจึงกลัวหาเงินไม่เก่ง เพราะเขาผูกค่าตัวเองกับการหาเงิน โดยบางทีไม่รู้ตัวเองเช่นกัน ไม่รู้ว่าเขาไม่ได้ผูกค่าตัวเองกับเรื่องอื่น เพราะมัวโฟกัสเรื่องเดียว และชีวิตก็เครียดด้วยเรื่องเดียว คือ เรื่องหาเงิน

จากงานวิจัยปัญหาของความสุขที่เกิดจากการหาเงินเก่งนั้น หลายคนไม่ทราบว่าเป็นความสุขที่ไม่ส่งต่อ มันไม่มีผลกระทบต่อคนอื่นจริง เพราะผู้รับเองซึ่งเป็นคนที่ใช้ชีวิตสบายบนการหาเงินของอีกคนหนึ่ง มักจะไม่สุขตามไปด้วย

เพราะเขาได้อะไรมาง่าย การได้อะไรมาง่ายจะทำให้ใช้ง่าย และเกิดความต้องการใช้เงินอย่างต่อเนื่อง เพราะหาความสุขที่ไม่ใช้เงินไม่เป็น ยิ่งหากหาเงินเองไม่ได้ ยิ่งสุขน้อยลงทุกครั้งที่ใช้เงินที่ไม่ได้หามาเอง ทำให้คนหาเงินยิ่งต้องหามากขึ้น เพื่อสร้างสุขให้ตัวเองและคนอื่นมากขึ้น

ผมรู้จักเรื่องราวของผู้หญิงท่านหนึ่ง สามีเธอรวยมาก มากซะจนยกบ้านริมหาดราคาแพงลิบให้เธอที่ต่างประเทศหลายหลัง ไม่มีอะไรที่เธอซื้อหามาไม่ได้ แต่ยิ่งสามีหาเงินมาให้เยอะเท่าไร เธอกลับรู้สึกสุขยากขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งเธออยากทุบทำลายบ้านริมหาดที่เธอพักอยู่ และไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมเธออยากทำอย่างนั้น

เธอรู้แค่ว่าชีวิตมันว่างเปล่า มีทุกอย่าง แต่สุขไม่จริง สุขไม่ยาว การหาเงินเก่งของสามีไม่ได้ส่งต่อสุขยาวๆ ให้เธอได้จริง จนเธอเริ่มทำอะไรเพื่อตัวเอง สร้างสุขด้วยตัวเอง (ซึ่งไม่ได้ใช้เงินเลย) เธอจึงเริ่มรู้สึกดีขึ้นกับชีวิตขึ้น

สิ่งที่กล่าวนี้ตรงกับงานวิจัยของอาจารย์ Donnelly and Norton มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ยังค้นพบอีกเช่นกันว่าความสุขของลูกคนรวยหรือภรรยาคนรวยจริงๆ คือ การที่พวกเขาถูกสอนให้รู้จักหาเงินได้เอง รวยหรือสุขด้วยตัวเอง

เพราะถ้าเขารวยหรือสุขบนการหาเงินของอีกคน ความสุขจะไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องการเอาเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย จนกลายเป็นเคยชินกับการใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย และเสพติดการใช้เงินฟุ่มเฟือย และไม่สุขยาว แต่กลับสุขยากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า

จากการศึกษาเขาค้นพบเพิ่มว่าคนที่รวยด้วยทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือได้มาจากคนอื่น (เช่น แต่งงาน ฯลฯ) คนเหล่านี้ไม่มีความสุข ไม่ว่าเงินจะมีมากแค่ไหนก็ตาม ทุกคนจะเสพติดบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับเงิน และเงินไม่สามารถให้ความสุขกับพวกเขาได้จริง

สิ่งนี้อาจทำให้เราเห็นด้วยว่าคนที่โกงเงินเขามา จะมีความสุขได้ ต้องซื้อหรือหาอย่างอื่นมาทดแทนความรู้สึกว่างเปล่าจากการได้เงินมาโดยไม่ได้โชว์ความสามารถอะไรเช่นกัน บางทีเขาอาจยังไม่ได้สุขจริง เพราะเงินที่ได้มาโดยไม่มีความสามารถตัวเองจริง ไม่ได้ทำให้รู้สึกดี ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าตัวเองหาเงินเก่ง และก็รู้ด้วยว่า คนรอบข้างก็มองออก

คนเหล่านี้จึงมักต้องโชว์อำนาจบางอย่าง นอกเหนือจากเงินที่หามาได้ เพื่อกลบความรู้สึกไร้ค่า ที่ได้เงินมาโดยไม่ได้หาเงินเก่งจริงแต่อย่างใด

ดังนั้น คนมีเงินมากหรือหาเงินได้เก่ง อาจไม่สุขจริงนะครับ อย่าเพิ่งรีบอิจฉาตาร้อนไปก่อน ทำใจให้สบาย เพราะสุข อาจง่ายกว่าที่เราคิด