posttoday

เทคนิคโน้มน้าวใจจากนักสร้างแบรนด์

22 ตุลาคม 2561

มนุษย์เราติดต่อสื่อสารทั้งเรื่องงานและเรื่องในชีวิตประจำวันกันอยู่ทุกวัน คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถทำให้คนชอบเราตั้งแต่แรกพบ

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ เอพี

มนุษย์เราติดต่อสื่อสารทั้งเรื่องงานและเรื่องในชีวิตประจำวันกันอยู่ทุกวัน คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถทำให้คนชอบเราตั้งแต่แรกพบ และตอบรับสิ่งที่เรานำเสนออย่างเต็มใจ “ดลชัย บุณยะรัตเวช” ประธานบริษัท เดนท์สุ วัน บางกอก บริษัทที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ เล่าไว้ในหนังสือ “พรีเซ้นต์ให้ได้ใจขายอะไรก็มีคนซื้อ” ถึงเทคนิคโน้มน้าวใจที่ (ต้อง) มีเสน่ห์

ดลชัย เล่าว่า ในสถานการณ์ที่มีการโน้มน้าวใจเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ที่เป็นนักขายหรือนักการตลาดที่ดีนั้น จะต้องมองให้ครบทุกองค์ประกอบโดยเฉพาะการพูด ซึ่งเป็นความสำคัญลำดับต้นต้องฝึกให้เชี่ยวชาญและชัดเจน หากลูกค้าไม่ได้ถูกโน้มน้าวใจจากผู้ขายอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว การจะปิดการขายนั้นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

“เทคนิคการโน้มน้าวใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและในชีวิตประจำวันที่ต้องสื่อสารและรับมือกับคมความคิดของผู้อื่นอยู่เสมอ เทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้คุณทั้งทำงานได้ดีขึ้น และผูกมิตรกับผู้คนได้มากขึ้น”

การโน้มน้าวใจที่นำไปสู่ทุกความสำเร็จ

1.โฟกัสที่บุคลิก

เพราะผู้ฟังจะประเมินความรู้สึกของเขาที่มีต่อคุณได้ในแวบแรกที่เห็น ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อสร้างเสน่ห์ให้ได้ตั้งแต่วินาทีแรก จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้าม โดยคุณต้องเลือกการแต่งกายที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟังและสถานที่

สำหรับผู้หญิงควรเลือกแต่งกายให้เหมาะสม ไม่หวือหวาควรรวบผมให้เรียบร้อย เพราะการปล่อยผมอาจทำให้ผมยุ่งได้ง่าย และคงดูไม่ดีเท่าไรถ้าคุณผู้หญิงจะพูดพร้อมๆ กับการเสยหรือปัดผมของตัวเองตลอดเวลา ส่วนผู้ชาย แนะนำให้ใส่สูท ซึ่งช่วยด้านความภูมิฐาน

2.โฟกัสที่น้ำเสียงและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง

ไม่มีไม่ได้คือน้ำเสียงและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังที่เหมาะสม เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสุภาพ ความเป็นกันเอง ฯลฯ กรณีที่คุณเป็นมือใหม่ ยังไม่คุ้นชินกับเวทีการพูดหรือการนำเสนอ คุณไม่จำเป็นต้องยืนบนโพเดียมแล้วอ่านเสมอไป คุณสามารถเป็นตัวของตัวเอง

ดลชัยแนะให้ยืนทิ้งน้ำหนักลงที่ส้นเท้าทั้งสองข้าง ตั้งตัวตรงแล้วพูด น้ำเสียงของคุณจะมีพลังงานก้องกังวาน น้ำเสียงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ฟังไม่หลับในขณะฟัง บางคนพูดด้วยเสียงโมโนโทนหรือน้ำเสียงเดียวไปตลอด ซึ่งแน่นอนว่าผู้ฟังย่อมจะเกิดความเบื่อและอยากเดินออกไปจากห้องเสียให้พ้นๆ

3.โฟกัสที่จุดหมายการพูด

จุดมุ่งหมายในการพูดครั้งนั้น แน่นอนว่าคุณในฐานะผู้พูดต้องมีเป้าหมายว่าคุณต้องการอะไร เช่นเดียวกันกับผู้ฟังที่มีเป้าหมายว่าเขาจะได้รับอะไรจากการฟังในครั้งนี้ เมื่ออุปสงค์อุปทานตรงกัน การพูดในครั้งนั้นก็ย่อมบังเกิดผลสำเร็จเหนือความคาดหมายแน่นอน

4.โฟกัสที่ข้อมูล

การพูดและการนำเสนอโน้มน้าวใจบุคคลใดก็ตามจะประสบความสำเร็จได้ ย่อมมีหลายองค์ประกอบ หากหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญก็คือ ทุกอย่างที่พูดควรเป็นสิ่งที่กลั่นออกมาจากหัวใจในฐานะนักพูดโน้มน้าวที่มีเสน่ห์ มีความรู้และมีการเตรียมความพร้อมที่ดี อย่าสวมหัวโขนตลอดเวลา หรืออย่าพูดในสิ่งที่คุณไม่รู้จริง

5.โฟกัสที่การบริหารเสน่ห์

นั่นคือองค์ประกอบความน่าสนใจของคุณ ที่ประกอบกันขึ้นจากวิธีที่คุณก้าวเข้ามา (Your Entry) วิธีที่คุณนำเสนอตัวเอง (Your Presence) วิธีที่คุณสะกดความสนใจ (Your Hook) และวิธีที่คุณรักษาความน่าสนใจนั้นไว้ได้ (Your Hold)

ส่งท้ายถึงเทคนิคในการบริหารเสน่ห์ให้น่าชื่นชม ดลชัยแนะนำว่า มาจากการหาความรู้และการฝึกฝนที่มุ่งมั่น ได้แก่ การปลุกความเชื่อมั่นด้วยภาษากายที่เหมาะสม การมีไหวพริบและอารมณ์ขัน ความสนใจและไหวทันอารมณ์ผู้ฟังการมีมุมมองด้านบวก การทำให้คนอื่นรู้สึกเป็นพิเศษ และการฉลาดพูดอย่างมีสติ

“ลักษณะเด่นของผู้โน้มน้าวใจที่ดี พวกเขาคือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องต่างๆ บนโลกใบนี้ และเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับผู้คนที่อยู่รอบข้าง สิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ในนิสัยของพวกเขาอย่างเป็นธรรมชาติ”

ข้อมูล : “พรีเซ้นต์ให้ได้ใจ ขายอะไรก็มีคนซื้อ” ; สำนักพิมพ์ อมรินทร์ ฮาวทู