posttoday

ภราไดย ธีระธาดา กับคอลเลกชั่นนาฬิกาสุดคลาสสิก

05 กันยายน 2561

ยามว่างของเขาคือการสะสมนาฬิกาเป็นงานอดิเรก

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์

ภราไดย ธีระธาดา หรือดุ๊ค ในวัย 45 ปี อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารทีเอ็มบี (TMB) ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันแนวคิด Make the Difference ของทีเอ็มบีในยุคหนึ่ง ปัจจุบันภราไดยเป็นไลฟ์โค้ชตัวกลั่น ขับเคี่ยวความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานให้กับทุกคนที่ต้องการ หากในยามว่างคือช่วงเวลาที่ได้ชื่นชมกับนาฬิกามากมายที่ตัวเขาได้สะสมไว้

ภราไดย ธีระธาดา กับคอลเลกชั่นนาฬิกาสุดคลาสสิก

เป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบในงานศิลปะ ชื่นชอบในงานดีไซน์ โดยเฉพาะนาฬิกา เครื่องบอกเวลาที่แสนวิจิตร ผลลัพธ์อันลงตัวของงานดีไซน์ ศิลปะ และกลไกการทำงานของฟันเฟืองแสนมหัศจรรย์ วันนี้ได้รับโอกาสให้ร่วมชื่นชมคอลเลกชั่นสุดหวง

ภราไดยกล่าวว่า เป็นโชคดีที่ความชอบของเขาอยู่ถูกที่และถูกจังหวะ นั่นคือนาฬิกาหลายเรือนที่มีโอกาสได้ซื้อหาไว้ อันดับแรกที่อย่างกล่าวถึง คือ Jaeger le coulter นาฬิกาสวิสที่มีชื่อเสียง บริษัทจัดทำชิ้นส่วนนาฬิกาขนาดเล็กในยุคเริ่มแรกปี 1833 ปัจจุบันนี่คือผู้ผลิตนาฬิกาที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

“นี่คือผู้ผลิตที่ต้องการทำนาฬิกาที่ดีที่สุด คุณภาพยอดเยี่ยมที่สุด และได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตที่มุ่งมั่นในทุกขั้นตอนกระบวนการ ซึ่งล้วนเป็นงานฝีมือที่ใส่ใจรายละเอียด ตั้งแต่การเลือกวัสดุ การวางระบบฟันเฟืองกลไกต่างๆ โดยเฉพาะเอกลักษณ์การผลิต ที่ไม่เคยตีกรอบให้กับนาฬิกาแต่ละรุ่นของตัวเอง”

Jaeger le coulter ทุกรุ่นมีเอกลักษณ์ในแบบของตัวเอง และเป็นทุกรุ่นที่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลก และสำหรับรุ่นพิเศษหนึ่งเดียวของชาวไทย ที่ในขณะนั้นเตรียมจะผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่กำลังจะเวียนมาถึงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 หากเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่พระองค์ท่านได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน คณะผู้จัดทำจึงไม่มีโอกาสได้ประกาศความยิ่งใหญ่ของนาฬิกาเรือนดังกล่าว

ภราไดย ธีระธาดา กับคอลเลกชั่นนาฬิกาสุดคลาสสิก

ตามกำหนดการเดิมที่วางไว้ นาฬิกาจะถูกผลิตขึ้นจำกัดจำนวน 39 เรือน ประกาศประมูลและจัดจำหน่ายเพื่อนำเงินรายได้ทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หากเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้แก่ประชาชนชาวไทยพสกนิกรทั้งประเทศ แผนการประกาศและจัดจำหน่ายนาฬิการุ่นพิเศษที่จัดทำขึ้น จึงเป็นอันต้องยกเลิกในวันเดียวกันนั้นเลย

“คงไม่สามารถจะตอบได้ว่า Jaeger le coulter ที่ผมได้มีโอกาสครอบครองอยู่ ณ ขณะนี้ มีมูลค่าเท่าไร”

สำหรับนาฬิกาเรือนที่รักที่สุด ภราไดยกล่าวตอบว่า ไม่มี แต่ละเรือนมีความเป็นพิเศษในตัวเอง ที่ทำให้ไม่รักไม่ได้(ฮา) ไม่รักก็ชอบ ไม่ชอบก็รักมาก แต่พิเศษสองเรือนที่จะกล่าวถึงต่อไป นั่นคือนาฬิกาที่ Gerald genta นักสร้างนาฬิกาผู้มีชื่อเสียงชาวสวิสได้ออกแบบไว้

“Gerald genta เขาคือผู้ที่ทำให้นาฬิกาที่สร้างขึ้น มีเรื่องราวที่แตกต่างออกไป สำหรับผมแล้ว นี่คือนาฬิกาที่เป็นชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์”

นั่นคือที่มาของนาฬิกาสุดหรูที่ผลิตขึ้นจากสตีลหรือเหล็ก โดยได้ชื่อว่าเป็นนาฬิกาเหล็กเรือนแรกของโลก ภราไดยเล่าว่า เห็นเป็นนาฬิกาเหล็กอย่างนี้ ทว่าขายในราคาเดียวกันกับนาฬิกาที่ผลิตขึ้นจากทองคำ ผู้คนทราบข่าวเป็นครั้งแรกก็ฮือฮากัน นาฬิกาเหล็กจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ที่สุดก็เป็นไปได้ เพราะ Gerald genta ผู้ออกแบบนาฬิกาผู้ลือลั่นผู้นี้

“นี่คือล็อตแรกของนาฬิกาเหล็กที่ผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยเป็น เอ ซีรีส์ ปัจจุบันมูลค่าของพวกมัน สูงกว่านาฬิกาที่ผลิตจากทองคำ”

ภราไดย ธีระธาดา กับคอลเลกชั่นนาฬิกาสุดคลาสสิก

สำหรับคอลเลกชั่นของภราไดย นี่คือสิ่งที่เขาเรียกว่า “คู่แฝด” Audemars Piguet “Royal Oak A-Series” และ Patek Philippe “Nautilus 3700/1 A-Series” เรือนแรกแฝดพี่ มูลค่าปัจจุบัน 2 ล้านบาท ส่วนแฝดน้องมูลค่าปัจจุบันประมาณ 3 ล้านบาท

นาฬิกาเหล็กนั้น การผลิตนั้นต้องถือว่ายากกว่ายาก เนื่องจากแร่เหล็กมีความแข็งแกร่งอยู่ในตัว เปรียบเทียบกับแร่ทองคำ ซึ่งอ่อนและง่ายต่อการใช้ผลิตนาฬิกามากกว่า มูลค่านาฬิกาโดยนัยนี้ จึงหมายรวมถึงความทรงคุณค่าในแง่ของการผลิตด้วย

สำหรับ Audemars Piguet นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ผลิตเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1875 โดยผลงานสร้างชื่อก็คือ Royal Oak Collection ปัจจุบัน Audemars Piguet ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังดำเนินกิจการอยู่โดยครอบครัวผู้ก่อตั้ง

ทั้งนี้ รุ่นที่ได้รับความนิยม Royal Oak Collection รุ่นแรกที่เป็นต้นกำเนิดล้วนออกแบบโดย Gerald genta รวมทั้งรุ่น Nautilus นี้ ภราไดยกล่าวว่า ผลิตขึ้นแบบจำกัดจำนวนในปี 2550 โดยมีจำนวนทั้งหมด 50 เรือน เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง

ภราไดย ธีระธาดา กับคอลเลกชั่นนาฬิกาสุดคลาสสิก

ด้าน Patek Philippe ซึ่งให้ภาพความหรูหราและที่สุดของความยอดเยี่ยม ภราไดยเล่าว่า นี่คือนาฬิกาที่ให้แรงบันดาลใจอย่างดีสำหรับคนที่ต้องการสร้างหรือผลิตในสิ่งที่ดีที่สุด อีกหนึ่งผู้ผลิตนาฬิกาที่เก่าแก่ ก่อตั้งในปี 1839 ที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ที่มุ่งเน้นในคุณภาพของนาฬิกาที่ไม่จำเป็นต้องทำเป็นนาฬิกาแฟชั่น คุณภาพที่สูงทำให้ราคาสูงตาม และแน่นอนว่าให้ความรู้สึกแก่ผู้สวมใส่ที่ยอดเยี่ยมเสมอ

“รุ่นที่ได้รับความนิยมมีมากมาย โดยเฉพาะ Nautilus ที่มีจุดเด่นที่ตัวเรือนขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุสตีลหรือเหล็ก ทั้งตัวเรือนและสาย มีความสวยงามเป็นเอก และมีคุณสมบัติยอดเยี่ยมในหลายด้าน รวมทั้งกันน้ำได้ลึกไม่ต่ำกว่า 120 เมตร” ภราไดยเล่า

คอลเลกชั่นสุดหวงยังมีนาฬิกาทรงคุณค่าที่สะสมไว้อีกจำนวนมาก หากเจ้าตัวไม่อยากเปิดเผยมากนัก การสะสมนาฬิกาสำหรับเขาแล้ว ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นความชอบและความนิยมส่วนตัว ทั้งมิได้มุ่งเน้นที่ราคา แต่มุ่งที่ความสวยงามทางศิลปะ ดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งานที่ถูกใจ

“นาฬิกาทั้งหมดของผม ไม่เคยคิดขาย ไม่เคยคิดที่จะซื้อเพื่อลงทุน แต่ซื้อเก็บด้วยความชอบส่วนตัวอย่างแท้จริง”

ภราไดยกล่าวว่า เขาสะสมนาฬิกามาตั้งแต่อายุ 13 ปี จนถึงปัจจุบันอายุ 45 ปีแล้ว หรือใช้เวลากว่า 30 ปีในการสะสมนาฬิกาทั้งหมด ถึงทุกวันนี้นาฬิกาทั้งหมดมีกี่เรือนไม่เคยนับจำนวน (3 บ็อกซ์ใหญ่) โดยส่วนตัวชอบนาฬิกาเก่า ส่วนใหญ่เป็นนาฬิกาสวิสและญี่ปุ่น 2 แหล่งผลิตที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตนาฬิกาที่ดีที่สุดในโลก