posttoday

ซ้อนทับย้อนกาลเวลา ชมวังน่านิมิต

24 มิถุนายน 2561

จากแนวคิด พิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) ที่ทางกรมศิลปากรตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์

โดย มัลลิกา ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

จากแนวคิด พิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) ที่ทางกรมศิลปากรตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์

นิทรรศการ วังน่านิมิต จึงเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่จะพาผู้ชมย้อนไปสัมผัสอดีตกาลด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งเป็นการร่วมมือของ กรมศิลปากร มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ซ้อนทับย้อนกาลเวลา ชมวังน่านิมิต

สิ่งที่นำมาจัดแสดงพัฒนาจากข้อมูลและภาพจำลองสันนิษฐาน จากโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี โดยสำนักสถาปัตยกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักโบราณคดี สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

เมื่อหลักฐานในอดีตมีเหลือไว้น้อยนิด หลักฐานปรากฏชัดคือภาพถ่ายและการจดบันทึกที่รวมในหนังสือ จึงนำข้อความ ภาพถ่ายเก่ามาจัดแสดงทั้งในรูปแบบภาพสามมิติวีดิทัศน์ พิมพ์ตัวอักษรลงบนผืนผ้า ห้องแสดงหนังสือโบราณ โมเดลจำลองวังหน้า ฯลฯ

ซ้อนทับย้อนกาลเวลา ชมวังน่านิมิต

ในบางจุดผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูล ด้วยการสัมผัสจอทัชสกรีน เพื่อที่จะเลือกดูเนื้อหาของประวัติศาสตร์ในนิทรรศการ และยังมีสื่อเทคโนโลยีในรูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจ โดยมีอาสาสมัครนำชมนิทรรศการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำวิธีการชมนิทรรศการให้เข้าใจและเพลิดเพลินยิ่งขึ้น

สำหรับ พระราชวังบวรสถานมงคล เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ในอดีตมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โรงละครแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และพื้นที่บางส่วนทางด้านทิศเหนือของสนามหลวง

ซ้อนทับย้อนกาลเวลา ชมวังน่านิมิต

พระที่นั่งอาคารและสิ่งก่อสร้างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมู่พระวิมาน และพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร รวมถึงพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ในบริเวณสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวไว้ในวันเปิดนิทรรศการ กรมศิลปากรได้ดำเนินการศึกษาประวัติศาสตร์พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 และถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5 ระหว่างนี้มีการเปลี่ยนของพื้นที่โดยตลอด ก่อนจะมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในปัจจุบัน พระที่นั่งและอาคารโบราณสถานบางแห่ง ถูกรื้อลงในช่วงเวลาต่างๆ

ซ้อนทับย้อนกาลเวลา ชมวังน่านิมิต

การศึกษาประวัติศาสตร์ของโครงการนี้ จึงได้ใช้นักประวัติศาสตร์ ภัณฑารักษ์ สถาปนิก นักจดหมายเหตุ หลายสาขาวิชาของกรมศิลปากรร่วมกันศึกษา โดยการจัดลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ การจัดการข้อมูล ภาพ แผนที่ แผนผัง เอกสารจดหมายเหตุ นำมาใช้ศึกษาและจัดทำรูปแบบสันนิษฐาน รูปแบบสถาปัตยกรรม และผังอาคารวังหน้าที่ไม่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน วิเคราะห์ ตีความหมาย และใช้เทคโนโลยีในการสื่อความหมาย เพื่อจัดแสดงเป็นนิทรรศการ ซึ่งถือเป็นการออกแบบการจัดแสดงนิทรรศการและสื่อความหมายกับงานมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่

นิทรรศการ วังน่านิมิต จัดแสดงถึงวันที่ 27 มิ.ย. ณ สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แล้ว จากนั้นจะจัดแสดงอีกครั้ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในเดือน ธ.ค. 2561