posttoday

ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล ทีมเวิร์กคือ สิ่งสำคัญในการทำงาน

08 มีนาคม 2561

ทายาทรุ่นที่ 4 ของธุรกิจน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทย ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล

เรื่อง อณุสรา ทองอุไร/จีระวัฒน์ กล้ากะชีวิต  ภาพ ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่วัยไม่ถึง 30 ปี ทายาทรุ่นที่ 4 ของธุรกิจน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทย ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS Group) ถือเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ที่ยังสืบสานเจตนารมณ์ของบริษัทยุคแรกๆ ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาธุรกิจของครอบครัว ตามหลักที่ว่า เกษตรกรต้องมั่งคั่ง

หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท บริหารธุรกิจ แบบสัน คอลเลจ สหรัฐอเมริกา หลังจากเรียนจบเขาเลือกที่จะไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น เพราะเชื่อว่าการทำงานที่นั่นเป็นอะไรที่ยากและถ้าผ่านตรงนั้นมาได้กับงานที่อื่นๆ ก็คงไม่ใช่ปัญหา ซึ่งก็มีโอกาสได้ชิมลางการทำงานในโรงงานที่เกี่ยวกับตัวปั่นไฟฟ้า โดยทำในส่วนของการดูแลฝ่ายขาย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหญ่ ใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์นานนับปี ก่อนจะกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านจากการเริ่มทำรีสอร์ท ชื่อทรัพย์ไพรวัลย์ ที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นรีสอร์ทที่ซื้อมาจากเจ้าของเก่า หน้าที่ตอนทำรีสอร์ท เขาเป็นรองเอ็มดี ได้ทำโปรเจกต์เยอะเลย แต่ที่คิดว่าสำเร็จคือเรื่องช้าง โดยนำช้างเร่ร่อนเอามาเลี้ยงไว้ ซึ่งตอนนี้มี 14 เชือก มีพื้นที่เกือบ 1,000 ไร่ ปล่อยให้ช้างได้อยู่ตามธรรมชาติ และเปิดให้นักท่องเที่ยว ได้เข้าไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของช้าง ได้ให้อาหาร อาบน้ำ ทำความสะอาดช้าง ซึ่งชาวต่างชาติจะชอบมากๆ ถือเป็นมิติใหม่ เพราะเมื่อก่อนคนไทยเองจะชอบดูช้างเดินสองขา ช้างปาเป้า ซึ่งจริงๆ มันไม่ดีต่อสุขภาพช้าง ที่นี่เป็นที่ที่ให้ช้างได้อยู่ในป่าอย่างแท้จริง ส่วนของรีสอร์ทใช้พื้นที่ไปแค่ 10% ที่เหลือตั้งใจให้ช้างมีพื้นที่อยู่เยอะๆ นอกจากช้างแล้วยังมีการล่องแก่งที่ขึ้นชื่อติดอันดับ 3 ของเมืองไทย

ปัจจุบันนี้เขาดูแลโรงงานน้ำตาลที่ผลิตมากกว่าน้ำตาล เพราะมีส่วนที่เหลืออย่างตัวกากหรือชานอ้อยก็จะถูกเอาไปผลิตที่โรงไฟฟ้า เพราะพัฒนาเป็นเอทานอลเพื่อผลิตไฟฟ้า เพราะว่าโรงงานน้ำตาลอย่างเดียวในปัจจุบันอาจจะอยู่ไม่ได้ต้องมีโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วย ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ถูกนำมาใช้ในองค์กรส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ขนาด 60 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโรงงานที่ใหญ่สำหรับไบโอแมส ก็คือซัพพอร์ตจังหวัดเล็กๆ ได้จังหวัดหนึ่ง แต่ส่วนที่เหลืออย่างตัวกากหรือชานอ้อยก็จะถูกเอาไปผลิตที่โรงไฟฟ้า

ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล ทีมเวิร์กคือ สิ่งสำคัญในการทำงาน

นอกจากนี้ ความพิเศษของกลุ่มเกษตรไทยคือ ทำโรงงานเยื่อกระดาษที่เดียวในประเทศไทย ณ ตอนนี้ที่ผลิตกระดาษขึ้นมาจากชานอ้อย "คอนเซ็ปต์ของบริษัทคือสิ่งใดที่ไม่สามารถใช้ได้ในวัตถุดิบหลักต้องเอามาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด ส่วนของใบอ้อยทางเราถือเป็นกลุ่มแรกในประเทศไทยที่นำเอาใบอ้อยมาใช้ในโรงไฟฟ้าแล้วเห็นผล ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความลับทางการค้านิดหนึ่ง (หัวเราะ) เราเป็นกลุ่มแรกที่ทำสำเร็จเพราะผู้บริหารไปศึกษาดูงานที่ประเทศบราซิล เราจะใช้ทุกอย่างให้คุ้มค่าไม่ให้เหลือเป็นขยะทิ้งเสียเลย นอกจากนี้ยังมีพวกเศษดินเศษอ้อยต่างๆ ที่ผสมกันเข้ามาก็เอาไปหมักต่อเพื่อทำปุ๋ยชีวภาพเป็นสารปรับปรุงดิน

เพราะฉะนั้นในกระบวนการผลิตเราแทบจะไม่เหลืออะไรทิ้งสูญเปล่าเลย ซึ่งได้เป็นปุ๋ยก็เป็นอีกหนึ่งโครงการเพื่อจำหน่ายให้ชาวไร่อ้อยในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด

รายได้โดยเฉลี่ยแล้ว 60-70% จะอยู่ที่โรงงานน้ำตาล เนื่องจากว่าโรงงานน้ำตาลดังกล่าวถือเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับหนึ่งโรงงาน เพราะอย่างที่อื่นเขาจะมีหลายๆ โรงงานรวมกัน แต่ถ้านับหนึ่งต่อหนึ่งจัดว่าเป็นโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุด โดยผลิตส่งให้กับผู้ใช้รายใหญ่อย่างโรงงานน้ำอัดลม โรงงานผลิตน้ำนมถั่วเหลือง โรงงานผลิตน้ำหวาน เพราะจะไม่ทำน้ำตาลออกมาขายปลีกเอง"

เขาบอกว่าอย่างตอนนี้ในฐานะผู้บริหารเขามองว่าธุรกิจปัจจุบันมันไม่ได้ขายโปรดักต์อย่างเดียวมันต้องขายแบรนด์ด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ในระยะยาวก็มีโอกาสว่าคนจะรู้จักมากขึ้นถ้าแบรนด์ดีและแข็งแรง ที่ผ่านมาจะส่งออกไปยังตลาดใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น หลังๆ ก็ขยายไปยังแถบอเมริกาใต้บ้าง

ถือว่าเป็นธุรกิจใหญ่ของครอบครัวและท้าทายความสามารถผู้บริหารรุ่นใหม่ไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อมองภาพธุรกิจโดยรวมตลอดระยะเวลาที่เข้ามา บริหาร ยอดกำลังการขายค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างนี้เอง ก็มีโปรเจกต์ที่กำลังศึกษาร่วมกับพีทีที โกลบอล เคมิคอล (pttgc) เกี่ยวกับการผลิตเอทานอล ที่มองว่าในระยะยาวต้องพยายามเพิ่มส่วนของพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนเข้าไปด้วย เพราะเป็นเทรนด์ที่กำลังมา อนาคตการผลิตไฟฟ้าหรือพลังงานใดๆ จะได้จากพลังงานสะอาดไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล ทีมเวิร์กคือ สิ่งสำคัญในการทำงาน

 เมื่อถามถึงอนาคตอันใกล้ ผู้บริหารหนุ่มเผยว่า เขาคิดว่าน่าจะมีบทบาทมากขึ้นในส่วนของการทำโปรเจกต์ต่างๆ คือคุณพ่อของเขาจะพูดเสมอว่าบริษัทโชคดีที่มีคนเก่ง มีทีมงานที่ดี ดังนั้นต้องร่วมมือพัฒนางานใหม่ๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ อนาคตต้องมองภาพไกลๆ ว่าบุคลากรที่เข้ามาทำงานในบริษัทจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มเท่านั้น อย่างเช่น กลยุทธ์ การวิเคราะห์ ส่วนงานที่มันสามารถใช้การจัดการใช้ AI ทดแทนได้เพราะบุคลากรอาจจะขาดแคลนในอนาคต หุ่นยนต์จะเริ่มเข้ามาแทนที่

ส่วนหลักการสำคัญในการทำงานนั้น เขาบอกว่า "ผมเชื่อว่าคนเราเก่งทุกคนอยู่แล้ว แต่ว่าผู้บริหารที่ดีต้องรู้จักดึงศักยภาพของคนออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด ส่วนสิ่งที่ไม่ควรทำของผู้บริหารคือ ความไม่เป็นกลางในการตัดสินใจถามถึงปัญหาในการทำงาน มองว่าโชคดีที่ทางบ้านให้กำลังใจกันตลอด อีกกำลังใจที่ดีที่สุดคือลูกน้อง ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรลูกน้องจะคอยให้กำลังใจตลอดพร้อมจะเดินเคียงคู่ไปด้วยกัน เราจึงเชื่อมั่นในทีมเวิร์กที่สุดไม่มีใครเก่งได้คนเดียว ทุกคนต้องมีทีมงานที่ดีจึงจะประสบความสำเร็จ"

เมื่อเจออุปสรรคปัญหาเขาพร้อมที่จะแก้ไข ทบทวน เพื่อไม่ให้ผิดพลาดซ้ำ ปรับแก้ที่ตัวเขาเองก่อนแล้วค่อยไปแก้ที่คนอื่น เพราะบางครั้งเขาก็คิดว่าคิดเร็วทำเร็วไฟแรงเกินไป ก็อาจจะต้องปรับให้ช้าๆ ลงบ้าง เดินสายกลางบ้างก็ดี ไม่ช้าไม่เร็วเกินไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้นๆ ตอนไหนควรช้า ตอนไหนควรเร็ว