posttoday

โคโคบอร์ด ไม้อัดรักษ์โลก

15 กรกฎาคม 2560

ในทุกๆ ปีจะมีเศษวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก ที่ต้องการกำจัดอย่างเร่งด่วน จริงอยู่ว่าเศษที่เหลือจากผลผลิต

โดย...โยโมทาโร่

 ในทุกๆ ปีจะมีเศษวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก ที่ต้องการกำจัดอย่างเร่งด่วน จริงอยู่ว่าเศษที่เหลือจากผลผลิตทางการเกษตรจะสามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ แต่ลองนึกภาพกองขยะขนาดมหึมาหลายพันตันต่อเดือน แต่จะดีแค่ไหนหากเราสามารถนำวัสดุเหล่านี้มาใช้ในการผลิตสินค้าชนิดอื่นๆ ได้โดยไม่เสียของ

 และนี่คือจุดกำเนิดของ โคโคบอร์ด กระดานรักษ์โลกนั่นเอง

 ย้อนกลับไปประมาณปี 2545 อรพินท์ สินอมรเวช ได้เดินทางไปเที่ยวที่เกาะแห่งหนึ่งใน จ.ตราด แล้วพบว่าเกษตรกรถูกกดราคามะพร้าว ทำให้ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เสียที เธอจึงเริ่มหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่ามะพร้าว โดยเริ่มค้นหาวัสดุเหลือใช้ของมะพร้าว ตั้งแต่การทำน้ำส้มควันไม้ ทำกระดาษไขจากน้ำ จนมาพบว่าที่เป็นปัญหาจริงๆ คือขุยใยมะพร้าว ส่วนหนึ่งอาจจะนำไปทำเป็นปุ๋ย แต่ที่เหลืออีกจำนวนมากก็จะถูกเผาทิ้ง

 ประกอบกับเวลานั้นไม่มีเทคโนโลยีการทำไม่อัดจากวัสดุเหลือใช้ในธรรมชาติ จึงกลายเป็นที่มาของ โคโคบอร์ด (KOKOBOARD) เพราะบอร์ดแรกของบริษัทผลิตจากขุยใยมะพร้าวนี่เอง

 "กว่าจะได้ผลงานนี้ต้องใช้เวลาค้นคว้าเกือบ 4 เดือน พลาดบ้างท้อบ้าง จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. (สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ที่ช่วยในการคิดค้นพัฒนา เริ่มตั้งแต่การตากแห้งหรืออบแห้งขุยใยมะพร้าวให้มีความชื้นอยู่ระหว่าง 7-12%

โคโคบอร์ด ไม้อัดรักษ์โลก

 "จากนั้นนำวัตถุดิบที่ผ่านการควบคุมความชื้น เข้าเครื่องผสมกาว แล้วนำส่วนผสมที่ได้มาใส่บล็อกพร้อมอัดขึ้นเครื่องอัดเย็น-อัดร้อน ตามเวลาที่กำหนด และรอปรับสภาพแผนอัดประมาณ 5 วัน จากนั้นนำแผ่นไม้อัดที่ได้ไปตัดริมจำหน่าย"

 อรพินท์ บอกว่า ผลงานที่ได้ออกมาสามารถใช้ได้เหมือนไม้จริงๆ ไม่ว่าจะนำมาตัด เจาะ ตอกตะปู ทำรูเดือยได้เหมือนไม้จริงทั้งหมด แถมมีคุณสมบัติป้องกันเสียงได้ดีกว่าอีกด้วย

 "ที่สำคัญไม่กลัวน้ำและความชื้น จึงถูกวางตัวให้เป็นไม้อัดแห่งอนาคต"

 เมื่อได้กรรมวิธีการแรก ก็เริ่มต่อยอดไปสู่การผลิตไม้อัดอื่นๆ เช่น ไม้อัดจากหญ้าแฝก หญ้าคา ฟางข้าว ใบไม้และอื่นๆ และยังต่อยอดเป็นสินค้าไม่อัดประเภท MDF (Medium Density Fiberboard) ที่มีคุณสมบัติในการบุผนังห้อง ทำโต๊ะเข้ามุมกับฉากกั้นห้องตกแต่งได้ดี  อีกส่วนหนึ่งคือไม้อัด LDF (Low Density Fiberboard) มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนและเสียง แถมยังติดไฟยากและทนความชื้นได้อีกด้วย เหมาะกับงานแผ่นฝ้าเพดาน และวัสดุในห้องเก็บเสียง  

 แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบได้ในไม้อัดทั่วไป ก็คือ สารฟอร์มัลดีไฮด์ อรพินท์ ขยายความว่า สารระเหยที่มาจากกาวที่ใช้ในการผลิตไม้อัดทั่วไปเป็นต้นเหตุของโรคภูมิแพ้ แต่โคโคบอร์ดนี้ผู้ผลิตเลือกที่จะใช้กาวประสานที่ปราศจากฟอร์มัลดีไฮด์ ทำให้มีต้นทุนสูงกว่ากาวทั่วไป 15 เท่านั้น

 "จึงเป็นคำตอบว่าเป็นไม้อัดเหมือนกัน แต่ทำไมถึงแพงกว่าหลายเท่านั้น นอกจากเราจะได้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัวแล้ว ยังช่วยให้เกษตกรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาขายเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เสริมอีกด้วย"

 ปัจจุบันโคโคบอร์ดมีการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในกลุ่มโรงแรมสีเขียว บ้านประหยัดพลังงานรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการวัสดุจากธรรมชาติและเป็นมิตรต่อมนุษย์ไปใช้เป็นจำนวนมาก แม้จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับคุณสมับัติที่ได้มาก็ถือว่าคุ้มค่าสมกับการลงทุน

 หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ www.kokoboard.com

โคโคบอร์ด ไม้อัดรักษ์โลก