posttoday

การนำวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นระเบิดไปทิ้งถังน้ำไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม

15 สิงหาคม 2559

เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant

เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant

"การเอาวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นระเบิด ไปทิ้งถังน้ำ ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมครับ"

เห็นข่าว รปภ. ใจเด็ด ที่ศูนย์การค้าไชน่าทาวน์ ภูเก็ต ตรวจพบกล่องต้องสงสัย (ระเบิดเพลิง) แล้วพบว่าภายในเป็นโทรศัพท์มือถือ (สำหรับตั้งเวลา) ต่อกับไม้ขีดไฟในหลอดกาแฟ (คือ ตัวจุดชนวน) ไปยังแอลกออฮอล์ก้อน (เชื้อเพลิง) จึงเอาไปใส่ลงถังน้ำ แล้วพลีชีพ อุ้มถังไปไว้ที่ลานจอดรถ

คือ .. ก็ชื่นชมในความกล้าหาญนะครับ แต่วิธีการที่ทำ ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม นี่โชคดีมากนะว่าเป็นชุดระเบิดเพลิงตั้งเวลา ถ้าเป็นระเบิดชนิดอื่นๆ จะมีความเสี่ยงสูงมากๆ ... ถ้าเป็นมือถือรุ่นกันน้ำ มันก็ยังทำงานได้ ... ถ้าใช้วงจรทำงานด้วยการสั่นสะเทือน มันก็ระเบิดทันที ... ถ้าดินระเบิดแรงดันสูง หรือใส่สะเก็ดทำระเบิดแสวงเครื่อง แรงระเบิดก็จะสูงมาก ทะลุถังน้ำได้สบาย

การไปจับต้องวัตถุต้องสงสัย ยิ่งจะไปเพิ่มรอยนิ้วมือบนวัตถุนั้น ทำให้ยากขึ้นอีกในการพิสูจน์หลักฐานหาผู้กระทำผิด

จริงๆ แล้ว วิธีการที่เหมาะสมเมื่อพบวัตถุต้องสงสัยนั้น ตาม "คู่มือการป้องกัน เกี่ยวกับวัตถุต้องสงสัย สำหรับประชาชน" จัดทำโดย หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด (EOD) กำหนดไว้ 6 ขั้นตอน คือ ห้าม / ถาม / จดจํา / นําแจ้งความ / กำหนดเขตปลอดภัย / ให้คนออก

1. ห้ามแตะจับ ขยับ เคลื่อนย้ายวัตถุต้องสงสัย เพราะอาจระเบิดได้

2. ให้ถามหาเจ้าของก่อน ว่ามีเจ้าของหรือไม่

3. จดจำลักษณะวัตถุต้องสงสัยนั้นให้มากที่สุด เพื่อใหัรายละเอียดแก่เจัาหน้าที่ต่อไป

4. นําแจ้งความแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารในพื้นที่โดยเร็ว

5. กำหนดเขตปลอดภัยจากการระเบิด จากลักษณะของหีบห่อ (ดูรูปตัวอย่างระเบิด ประกอบได้ด้านล่าง) ดังนี้
- 100 เมตร สำหรับหีบห่อขนาดเล็ก ท่อน้ำพลาสติก กล่องพลาสติก
- 200 เมตร สำหรับหีบห่อขนาดกลาง รถมอเตอร์ไซด์ หม้อแกง หม้อข้าว ถังดับเพลิง
- 400 เมตร สำหรับหีบห่อขนาดใหญ่ ถังแก๊ส หม้อขนาดใหญ่
(หากมีสะเก็ดระเบิด ระยะปลอดภัยจะไกลมากกว่านี้)

6. ให้คนทุกคนที่อยู่ในระยะอันตรายออกนอกเขตให้หมด ไปอยู่ในที่กำบังที่แข็งแรง กันอันตรายจากแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิด

ที่มา https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant/posts/834998763297426?pnref=story