posttoday

Tower Records มหานครเพลงในความทรงจำ

03 เมษายน 2559

เมื่อนึกย้อนภาพไปในวัยเยาว์ เครื่องเล่นแผ่นเสียงของคุณปู่ตั้งวางอยู่บนชั้นสองของบ้าน ครั้งแรกที่ฉันได้สัมผัสมัน

โดย...ศศิธร จำปาเทศ

เมื่อนึกย้อนภาพไปในวัยเยาว์ เครื่องเล่นแผ่นเสียงของคุณปู่ตั้งวางอยู่บนชั้นสองของบ้าน ครั้งแรกที่ฉันได้สัมผัสมัน ฉันรู้สึกดี แต่น่าเสียดายที่ฉันไม่ได้มีโอกาสได้ฟังเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้น เพราะแผ่นเสียงที่คุณปู่เก็บสะสมได้หายไปพร้อมกับเปลวเพลิงที่มอดไหม้บ้านหลังเก่า จนมาวันนี้ วันที่ฉันได้มีโอกาสชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง All Things Must Pass : The Rise and Fall of Tower Records ทำให้ฉันได้เห็นภาพของคนสมัยรุ่นคุณปู่ที่มีรสนิยมในการฟังเพลงจากแผ่นเสียงหรือแผ่นครั่งได้อย่างคลั่งสมชื่อ

ในปี 1960 ทาวเวอร์เรคคอร์ดส ก่อตั้งจากความฝันของชายหนุ่มที่ชื่อ รัสส์ โซโลมอน ผู้อยากมีร้านขายเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาเริ่มต้นจากขอซื้อร้านแผ่นเสียงต่อจากบิดาในเมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ต่อมาเขาก็ได้ขยายสาขาไปทั่วโลกกว่า 200 สาขา ใน 30 ประเทศทั่วทั้ง 5 ทวีป (รวมทั้งประเทศไทย) และในยุคนั้นรัสส์ได้รับสมญานามว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมเพลง โดยในปี 1999 พวกเขาทำยอดขายได้สูงถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ดำเนินเรื่องผ่าน รัสส์ โซโลมอน และเพื่อนร่วมทีมที่ยังมีชีวิตอยู่ บอกเล่าเรื่องราวของการบุกเบิกร้านขายเพลงที่ก้องดังไปทั่วโลก และเมื่อเราได้ชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ เราจะได้เห็นภาพความรุ่งเรืองของทาวเวอร์เรคคอร์ดส จากขายแผ่นเสียง สู่การขายซีดี ได้เห็นบรรยากาศภายในตึก 4 ชั้น ทันสมัย มีบันไดเลื่อน มีแต่ชั้นวางแผ่นเสียงเป็นตั้งๆ สูงเป็นทาวเวอร์ ได้เห็นผู้คนต่อคิวหน้าร้านตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด ไปจนกระทั่งร้านปิด (ได้เห็นแฟนพันธุ์แท้ของร้านอย่างเซอร์เอลตัน จอห์น) ได้เห็นแคชเชียร์มิเคยเว้นว่างในการขายเลย แต่ใครจะเชื่อเล่าว่า ท้ายที่สุดเมื่อกระแสของอินเทอร์เน็ตกำลังมาแรง ทุกอย่างได้ทำสิ่งที่เคยรุ่งเรือง กลับกลายเป็นพบเจอความเปลี่ยน ที่นำไปสู่ความล่มสลาย

Tower Records มหานครเพลงในความทรงจำ

 

ผลสุดท้าย ทาวเวอร์เรคคอร์ดสถูกฟ้องล้มละลาย เพื่อนร่วมทีมถูกไล่ออก และปิดตำนานมหานครเพลง และปิดกิจการทั้งหมด ยกเว้นในญี่ปุ่น ซึ่งรัสส์ถูกธนาคารบีบให้ขายไปก่อนทุกอย่างจะสูญสิ้นไปในที่สุด!

หลายคนคงโทษการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต หรือยุคดิจิทัล แต่เจ้าของทาวเวอร์เรคคอร์ดส กลับไม่แสดงเหตุผลโจมตีความเจริญด้านเทคโนโลยีเลย เขากลับทิ้งท้ายว่า มันคือการมองย้อนเส้นทางจุดรุ่งเรืองของตนเองและมิตรภาพของเพื่อนผู้สร้างทาวเวอร์เรคคอร์ดสมาด้วยกัน “เราไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ จงเดินหน้าไปสู่อนาคต และทุกอย่างล้วนเปลี่ยนผ่านไปตามวันเวลา”

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ยังทำให้เราได้เห็นถึงพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภค ที่ต่างผันแปรไปตามเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่เรา ซึ่งเราต้องยอมรับว่า มันคือตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อ ทั้งเพลง ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ นิตยสาร หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ แต่หากยังมีนักสร้างสรรค์ที่ยังคงรักในสิ่งที่ตนเองทำ ที่ไม่ว่าสื่อจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด พวกเขาก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานดีๆ อย่างไม่มีวันหยุด

Tower Records มหานครเพลงในความทรงจำ

 

นั่นคือสิ่งที่เราควรคารวะด้วยหัวใจมิใช่หรือ ไม่ใช่มัวแต่มานั่งเสียอกเสียใจในความเปลี่ยนแปลงที่เป็นนิรันดร์ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา” ได้อย่างไร อย่าลืมว่าชีวิตของเราทุกคนต่างต้องก้าวเดินต่อ ตราบใดที่ลมหายใจของเรายังไม่ยอมหยุด

ปล. หากใครสนใจชมภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถตีตั๋วเข้าไปชมได้ที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น