posttoday

7 เทคนิคพิชิตพรีเซนต์

20 กรกฎาคม 2558

สำหรับชาวออฟฟิศ การเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยวันทำงานธรรมดาว่าแย่แล้ว หากต้องเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการพรีเซนต์งานละก็ คงต้องร้อง โอ้ว...

สำหรับชาวออฟฟิศ การเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยวันทำงานธรรมดาว่าแย่แล้ว หากต้องเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการพรีเซนต์งานละก็ คงต้องร้อง โอ้ว... แต่คุณสามารถพิชิตใจเจ้านายและเพื่อนร่วมงานด้วยผลงานได้ง่ายๆ กับเทคนิค 7 อย่าง เพื่อการพรีเซนต์งานที่มีประสิทธิภาพ

1 เริ่มด้วย ‘ทำไม’ คนส่วนมากไม่สนใจว่าคุณทำอะไร แต่มักสนใจว่าคุณทำทำไม และมีประโยชน์อย่างไร ทางที่ดีคุณควรเริ่มต้นการนำเสนอผลงานด้วยเป้าหมายและประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ มากกว่ากระบวนการหรือขั้นตอน

2 ทำความรู้จักกลุ่มผู้ฟัง การศึกษาข้อมูลของกลุ่มผู้ฟังและรู้จักพวกเขาให้ดีพอ จะเอื้อประโยชน์อย่างมากในการนำเสนอ ทั้งยังทำให้คุณรู้สไตล์การพูดที่ควรปรับให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟัง เพื่อโน้มน้าวและเรียกความสนใจจากผู้ฟัง

3 กระชับด้วยภาพ คุณควรใช้ภาพเป็นสื่อในการนำเสนอข้อมูลแทนข้อความยาวๆ และตัวเลขทางสถิติ เพราะข้อมูลที่คุณต้องการนำเสนอจะเป็นที่จดจำมากกว่าหากเป็นภาพที่น่าสนใจ และควรหลีกเลี่ยงการใส่ข้อมูลที่มากเกินไปโดยพยายามใช้ข้อความในแต่ละสไลด์ให้กระชับและชัดเจน

4 บอกเล่าด้วยเรื่องราว การพรีเซนต์งานด้วยข้อมูลหนักๆ หรืออัดแน่นด้วยตัวเลขทางสถิติอาจทำให้คุณดูมีความรู้ แต่แน่นอนว่าอาจไม่มีใครจำในสิ่งที่คุณพูดได้ ในทางกลับกันการบอกเล่าด้วยเรื่องราว อารมณ์ และมุ่งเน้นความสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะทำให้ผู้ฟังจดจำได้ดีกว่า นอกจากนั้น คุณไม่ควรอ่านจากสไลด์หรือสคริปต์โดยตรง แต่ควรใช้เพียงโน้ตสั้นๆ และเล่าด้วยจังหวะที่เป็นธรรมชาติ

5 ฝึกซ้อมเพื่อความพร้อม ประโยคที่ว่า “Practice Makes Perfect” ใช้ได้เสมอ ฉะนั้น คุณควรฝึกซ้อมการพรีเซนต์ให้มากเท่าที่คุณทำได้ พร้อมทั้งทบทวนเนื้อหาและจดจำลำดับของสไลด์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือขณะนำเสนอ

6 ลองใช้กฎ‘10 นาที’ ผู้ฟังอาจหมดความสนใจหากคุณพูดนานเกินไป ลองใช้กฎ 10 นาที มาปรับใช้กับการพรีเซนต์งานของคุณ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนไม่ควรพูดนานเกิน 10 นาที จากนั้น
อาจเว้นด้วยการให้รับชมภาพประกอบ หรือวิดีโอ แล้วจึงนำเสนอเนื้อหาในส่วนถัดไป

7 มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง การที่คุณพูดเพียงคนเดียวเป็นเวลานานๆ ผู้ฟังอาจเกิดความเบื่อหน่าย คุณอาจลองให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมโดยการเปิดโอกาสให้ออกความเห็นหรือตั้งคำถาม ก็จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอครั้งนี้ด้วย