posttoday

คุณค่าและความหมายของงาน

16 พฤศจิกายน 2557

คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า “งาน” คือส่วนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตเรา ซึ่งจะว่าไปแล้ว

คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า “งาน” คือส่วนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตเรา ซึ่งจะว่าไปแล้ว สำหรับบางคน งานอาจหมายถึง “เวลา” เกือบทั้งหมดในชีวิตด้วย แล้วเราเคยสังเกตตัวเองบ้างหรือไม่ว่า ที่เราต้องทำงานมาทั้งชีวิตนั้น เหตุผล...เพียงแค่เราต้องการ “ค่าตอบแทน” เพียงเท่านั้นหรือ?

ฉันเชื่อว่าเราส่วนใหญ่คงไม่คิดเช่นนั้นแน่ เพราะจริงๆ แล้วธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไปจะมีคุณสมบัติอยู่ข้อหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ซึ่งคุณสมบัตินั้นก็คือ “การเมินของฟรี” ซึ่งความหมายของมันก็คือ เรายังชอบที่จะใช้ความพยายามของตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทน และผลตอบแทนที่ว่านั้น นอกจาก “เงิน” หรือ “อาหาร” (ในกรณีของสัตว์) แล้ว มันยังรวมไปถึงความพึงพอใจที่เราได้ทุ่มเททำอะไรสักอย่างและมันก็มีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิตเรา ที่สำคัญมันจะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่จุดประกายแรงจูงใจของเราให้ลุกโชนและสร้างสรรค์งานชิ้นนั้นอย่างมีคุณภาพและดีที่สุดด้วย

มีประสบการณ์ร่วมบางเรื่องที่สนับสนุนเรื่องราวที่ฉันกำลังพูดถึงนี้ค่ะ มันเป็นเรื่องช่างตัดเสื้อเก่าแก่ของฉันเอง (ฉันเคยมีอีกบทบาทหนึ่ง คือเป็นเจ้าของร้านออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า) เธอคนนั้นคือพี่พรซึ่งทำงานให้ฉันร่วมยี่สิบปีแล้วถ้านับมาถึงตอนนี้ เรียกว่า อยู่กันมาตั้งแต่ยุครุ่งเรืองจนถึงยุคถดถอย ที่ใช้คำพูดว่า “ถดถอย” อาจจะดูแรงไปบ้าง แต่ฉันก็มีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

เพราะการทำงานแบบระบบ “โรงงาน” ที่เน้นปริมาณและความเร็วในการผลิตมากกว่าคุณภาพ กำลังทำให้การทำงานที่ใส่ “ความรัก” ลงไปด้วยต้องเปิดทางให้เหตุผลเพราะสู้ไม่ไหวกับ “ต้นทุน” ทุกอย่างที่ถูกลงและความรวดเร็วที่เป็นต่ออยู่มากมายหลายเท่า

แต่ทุกวันนี้ฉันกับพี่พรยังคงทำงานร่วมกันอยู่ และเราก็ทำไปแบบไม่รู้สึกกดดันอะไร เพราะต่างฝ่ายก็มีเป้าหมายไม่ได้ทำเพื่อแสวงหาผลกำไรสูงสุดอีกแล้ว ประเด็นคือ ครั้งหนึ่งฉันเคยมีความคิดอยากขยายงานการผลิต จึงถามพี่พรว่า สามารถหาเด็กหรือคนงานที่อยากมาทำงานด้วยได้มั้ย คำตอบจากพี่พรที่ทำให้ฉันอึ้ง ก็คือ เดี๋ยวนี้คงไม่มีใครอยากทำงานลักษณะนี้แล้ว เพราะมันช้า จุกจิก และยุ่งยากเกินไป เด็กต่างจังหวัดที่หัดเย็บผ้าส่วนใหญ่ ก็มีความคาดหวังว่า อยากจะไปทำงานที่โรงงานมากกว่า (คนไหนมีหน้าที่เย็บส่วนแขน ก็ทำเฉพาะส่วนแขน ส่วนใครมีหน้าที่เย็บเข้าลำตัวก็ทำเฉพาะลำตัว)

นั่นแปลว่า ระบบการทำงานแบบแยกส่วนที่ไม่ต้องทำชิ้นงานตั้งแต่ต้นจบจบกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

ฟังแกเล่าแล้วก็เข้าใจในเหตุและผล เพราะมันง่ายกว่ากันมาก ที่จะทำงานเฉพาะที่ต้องรับผิดชอบให้เสร็จๆ ไป แล้วเราก็ได้ค่าตอบแทนนั้นกลับมา แต่ฉันก็ยังมีความรู้สึกเสียดายแทนเด็กเหล่านั้นอยู่ลึกๆ ว่า

เขาคงไม่มีโอกาสได้สัมผัสความหมายบางอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ตนกำลังทำงาน ไม่มีโอกาสได้ชื่นชมภาพรวมของผลงานที่ตัวเองก็มีส่วนร่วมด้วย เผลอๆ อาจไม่เห็นว่างานชิ้นนั้นที่เสร็จสมบูรณ์แล้วสวยงามอย่างไรด้วยซ้ำ!

แย่ยิ่งกว่านั้นคือ พวกเขาอาจไม่รู้ตัวด้วยว่า ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่ทำ แต่ที่ต้องทำ ก็เพราะมีแรงกระตุ้นอย่างเดียวเท่านั้นคือตัวเงิน กับจำนวนชิ้นงานที่ต้องทำให้มากที่สุดเข้าไว้

ซึ่งผิดกับพี่พร ที่ฉันแอบสังเกตเห็นได้ว่า ความสุขใจ และความหมายที่แฝงมากับการได้สัมผัสเสื้อที่ตัดเย็บเสร็จสมบูรณ์แล้วเป็นอย่างไร พี่พรสามารถจินตนาการย้อนหลังได้ว่า เสื้อตัวนี้มันมีจุดเริ่มต้นจากกระดาษแผ่นหนึ่งแล้วเปลี่ยนเป็นแพตเทิร์น จากแพตเทิร์นที่สร้าง ก็ถูกวางลงบนผืนผ้าที่จะตัด แล้วประกอบทุกชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน จับตรงนั้น รูดตรงนี้ ทั้งหมดคือผลงานที่เจ้าตัวเท่านั้นที่รู้ว่า มันมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหนจากน้ำมือและความสามารถของตัวเอง ที่สำคัญก็คือฉันเชื่อว่ามันไม่ได้เป็นการ “ทำงานแลกเงิน” เท่านั้นแน่ เพราะสิ่งที่ทำนั้นได้เปิดโอกาสให้เราได้ค้นพบความเป็นตัวตนของเราและความหมายของสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

วันนี้ ลองสะกิดถามตัวเองนิดๆดีมั้ยคะว่า ที่เหน็ดเหนื่อยอยู่ทุกวี่วันนี้ คุณค้นพบความหมายของงานที่กำลังทำอยู่มากน้อยแค่ไหนคะ?

นักจิตวิทยาสัตว์ ชื่อ เกลน เจนเซน ได้คิดคำว่า การเมินของฟรี (contrafreeloading) ขึ้นมา หลังจากค้นพบว่า สัตว์หลายชนิดชอบหาอาหารเองมากกว่าจะกินอาหารที่ได้มาโดยไม่ต้องออกแรง