posttoday

In My Bag

25 ตุลาคม 2556

อเมริกันชนส่วนใหญ่ผูกขาดการจ่ายอาหารไว้กับซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก แม้แต่ที่โนกาเลส (Nogales) เมืองเล็กๆ

โดย...เรือนแก้ว บำรุง–สัมภาษณ์/เรียบเรียง

ดวงฤทัย ชวอซ/อายุ 39 ปี

อาชีพ : กิจการส่วนตัว/แม่บ้าน

ที่อยู่ : แอริโซนา สหรัฐอเมริกา/ตั้งแต่ปี 2007 (6 ปี)

แหล่งซื้ออาหาร

“อเมริกันชนส่วนใหญ่ผูกขาดการจ่ายอาหารไว้กับซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก แม้แต่ที่โนกาเลส (Nogales) เมืองเล็กๆ ติดชายแดนประเทศเม็กซิโก ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของรัฐแอริโซนาที่ตัวเองพลัดถิ่นมาอาศัยอยู่ (ให้นึกภาพเมืองคล้ายชายแดนปอยเปตของไทย) ก็อย่าได้หวังว่าจะมีสภาพตลาดท้องถิ่นหรือการขายสินค้าข้างทางเหมือนที่บ้านเราให้เห็น

แหล่งซื้ออาหารหลักๆ ของตัวเองนั้นมีอยู่สี่แห่ง ล้วนเป็นห้างสังกัดทุนนิยม นั่นคือ Walmart, Safeway (เหมือน Lotus บ้านเรา) ต้องขับรถไป ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง อีกสองแห่ง คือ ร้าน Lee Lee เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตนานาชาติ หนักไปทาง Oriental เจ้าของเป็นชาวกัมพูชา พอจะมีวิถีการบริโภคคล้ายๆ กับคนไทย จึงเข้าใจและรู้จักสรรหาวัตถุดิบแถบบ้านเรามาจำหน่ายไว้ มีเกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ แต่ต้องขับรถไปไกลเกือบ 2 ชั่วโมง จึงไปซื้ออาหารประมาณแค่เดือนละครั้ง มาอาศัยทางลัดหาซื้อวัตถุดิบไทยๆ พอแก้ขัดได้แบบไม่ต้องขับรถ คือ สั่งซื้อแบบออนไลน์ผ่านทาง Facebook มีคนไทยในอเมริกาเปิด Group (เป็น Group ปิด ต้องขอสมัครเข้า) ชื่อว่า ฟาร์เมอร์มาร์เก็ต ขายผักที่พี่น้องชาวไทยปลูกกันเอง โดยชำระเงินกันตามแต่จะตกลง ด้วยเช็คส่วนตัว หรือ Paypal ส่งสินค้ากันทางไปรษณีย์ ใช้เวลาในการส่งของประมาณ 3 วัน ขายกันทุกอย่าง ตั้งแต่กะเพรา ใบแมงลัก มะละกอ แกงหน่อไม้ ไส้กรอก แหนม รวมไปถึงหอยดอง

In My Bag

 

หอยดองนี่เป็นสินค้าที่แม่ค้านำเข้าจากเมืองไทยอีกที ช่วงที่เหมาะที่สุดในการสั่งซื้ออาหารไทยออนไลน์แบบนี้ คือ ช่วงฤดูหนาว เพราะผักจะไม่เหี่ยวเฉาเน่าเสียระหว่างการส่ง มีคนเคยถามว่าส่งมาแบบนี้ไม่เน่าเสียเหรอ สำหรับหอยดอยเป็นของดองอยู่แล้ว ก็ไม่เสียง่ายๆ แต่ผักอย่างอื่นมีเหี่ยวบ้าง แต่ชีวิตคนไทยไกลบ้าน แค่พอมีกินแก้ขัดแก้อยากได้บ้าง ก็น่าดีใจแล้ว”

การเลือกซื้ออาหาร บรรจุภัณฑ์ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์

“ตัวเองไม่ได้เน้นว่าทุกอย่างจะต้องเป็นอาหารปลอดสารพิษ หรือที่ทางอเมริกาติดฉลากว่า Organic รวมทั้งไม่ได้มีการแพ้อาหาร หรือการควบคุมอาหารเผื่อสุขภาพพิเศษ เช่น Gluten Free, Sugar Free, Wheat Free โดยรวมคือเลือกซื้ออาหารที่ราคาสมเหตุสมผล อาหารบางประเภทที่ยอมซื้อ Organic ซึ่งมีราคาสูงกว่า 2060% ได้แก่ นมและไข่ อย่างอื่นก็ใช้หลัก Dirty Dozen and Clean Fifteen ของ The Environmental Working Group ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของอเมริกา ทำการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยนำผลการวิจัยมาสรุปง่ายๆ ให้ผู้บริโภคใช้เป็นหลักในการซื้อ Dirty Dozen หมายถึง ผักผลไม้ที่มีเปอร์เซ็นต์ในการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงและสารถนอมอาหารสูง หากบริโภคต่อเนื่องอาจจะไม่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ แอปเปิล องุ่น เซเลอรี พริก ผักโขม เป็นต้น

ผักบางประเภทปนเปื้อนน้อย ไม่จำเป็นต้องซื้อผลิตภัณฑ์ Organic ซึ่งมีราคาสูง ก็มีพวกแชมปิญอง (เห็ด) หอมใหญ่ กีวี หน่อไม้ฝรั่ง อะโวคาโด เป็นต้น ที่อเมริกาไม่เหมือนทางยุโรปที่ได้มีการกำหนด GMO ในฉลากอาหารด้วย ดังนั้นจึงแทบไม่ได้ใส่ใจดูมาก แต่พอรู้อยู่บ้างว่า ข้าวโพดกับถั่วเหลืองนี้ค่อนข้างแน่นอน ถ้าเลือกจะบริโภคก็เลี่ยง GMO แทบไม่พ้น

ตามที่ได้เคยถูกสอนมาสมัยอยู่เมืองไทยว่าควรเลือกบริโภคพืชผักตามฤดูกาล แต่พอมาอยู่อเมริกาใหม่ๆ ไม่ได้เลือกซื้อตามฤดูกาลสักเท่าไหร่ เพราะไม่คุ้นว่าผักผลไม้แต่ละชนิดจะออกช่วงไหน ต่อมาทราบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทุนนิยมเหล่านั้นมีความตั้งใจในการสนองนักบริโภคจริงๆ จึงนำเข้าอาหารมาจากทั่วโลก โดยเฉพาะแถบอเมริกาใต้ เราจึงได้เห็นผักผลไม้ทั่วไปมีวางขายให้ซื้อทำกินได้ตลอดทั้งปี

สำหรับวันหมดอายุของอาหารที่มีบรรจุภัณฑ์หีบห่อมาอย่างดีปกติไม่เคยดูเลย ดูเฉพาะขนมปังเท่านั้น เพราะว่าที่บ้านมีพ่อบ้านกินขนมปังเป็นหลักอยู่คนเดียว เลยเลือกที่วันหมดอายุค่อนข้างนานหน่อย”

In My Bag

 

ในถุงกับข้าววันนี้

“แต่ละรัฐของอเมริกามีนโยบายเรื่อสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน บางรัฐอย่างโอเรกอนจะให้ความสนใจสิ่งแวดล้อมและการลดการใช้ถุงพลาสติก หรือส่งเสริมการรีไซเคิลมาก แต่ที่แอริโซนาไม่ได้มีนโยบายอันนี้ จึงไม่ค่อยมีห้างใดเก็บค่าถุงพลาสติกจากผู้ซื้อ คนจึงไม่ได้ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ แม้ทางภาคธุรกิจจะมีนโยบายในการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่ได้มีนโยบายรองรับหรือให้ความตั้งใจจริง เช่น ทางยุโรปที่แคชเชียร์จ่ายเงิน จะมีช่องทางสำหรับให้ผู้ซื้อจัดสินค้าเข้าถุง โดยที่แคชเชียร์สามารถเก็บเงินลูกค้ารายถัดมาได้โดยไม่ต้องรอคิว

แรกๆ ก็ใช้ถุงผ้าในการจ่ายตลาด แต่ต้องใช้เวลาจัดของลงถุงนาน ตอนหลังทนความกดดันจากแม่บ้านที่ต่อคิวยาวตรงแคชเชียร์จ่ายเงินไม่ไหว จึงหันมาใช้ตะกร้าใบใหญ่เท่ารถเข็นไปเลย เวลาเช็กสินค้าก็ใส่ลงตะกร้าไปเลยแล้วก็ยกขึ้นรถ วิธีนี้จะไม่สะดวกถ้าเดินทางด้วยรถสาธารณะ แต่คนที่อยู่อาศัยย่านนี้จะต้องมีรถยนต์ทุกครัวเรือน เพราะไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกไปไหนมาไหน

วันนี้ไปตลาดรอบเล็กๆ สำหรับสมาชิกในครอบครัว 2 คน กะ 4 ตัว ก็จะมีคุกกี้สำหรับสุนัข และอาหารเช้าสำหรับคุณพ่อบ้าน ขนมปัง นม ไข่ Nopal Cactus ซึ่งเป็นผักท้องถิ่นที่ชาวเม็กซิกันอเมริกันบริโภคกัน แต่ตัวเองซื้อมาเป็นอาหารสำหรับเต่า วันนี้ตั้งใจทำกับข้าวไทย คือ หอยทอด ซื้อถั่วงอกกับหอยแมลงภู่ อาหารทะเลที่หาได้แถบนี้จะมาในรูปแบบแช่แข็งเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่แอบนึกขำอเมริกันชนอยู่เสมอ คือ ผลิตภัณฑ์นม เนย ชีส ทุกอย่างจะมีตัวเลือกแบบลดไขมันเสมอ ขนาดว่ายาคูลท์ที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปจะเป็นชนิด Non Fat ก็ยังแปลกใจว่า ทำไมคนอเมริกันยังมีอัตราประชากรที่น้ำหนักเกินมาตรฐานสูงขึ้นทุกปีก็ไม่รู้สิ”