posttoday

In My Bag

18 ตุลาคม 2556

นับตั้งแต่แต่งงานมา 15 ปี ได้เดินทางติดตามสามีไป 3 ประเทศ คือ เมืองอังการ่า ประเทศตุรกี, กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

โดย...เรือนแก้ว บำรุง – สัมภาษณ์/เรียบเรียง

รศนา เกตุทัต นพไธสง / อายุ 44 ปี

อาชีพ : นักกายภาพบำบัด (Physical Therapist) นักแก้ไขการพูด (Speech Therapist) อาสาสมัครอิสระ / ภรรยาข้าราชการไทย / คุณแม่ของลูกสาวอายุ 9 ขวบ

ที่อยู่ : กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม / ตั้งแต่กลางปี 2012

“นับตั้งแต่แต่งงานมา 15 ปี ได้เดินทางติดตามสามีไป 3 ประเทศ คือ เมืองอังการ่า ประเทศตุรกี, กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และล่าสุดกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เริ่มทำกับข้าวครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี 1999 ที่เมืองอังการ่า และจำต้องทำเรื่อยมา เมื่อใช้ชีวิตในต่างประเทศปีละหลายๆ ครั้ง ต้องทำอาหารรับรองเลี้ยงแขกชาวต่างชาติ รวมถึงเพื่อนร่วมงานคนไทยของสามี เลี้ยงกลุ่มเพื่อนสาวชาวไทย รวมถึงทำอาหารขายงานการกุศลประจำปีที่โรงเรียน (Spring Fair) ก็พอมีประสบการณ์ด้านการทำอาหารไทยหลักๆ อยู่บ้าง”

In My Bag

 

แหล่งซื้ออาหาร

“การซื้อกับข้าวที่นี่ แหล่งที่มีคุณภาพ สด อร่อย และราคาดีที่สุด คงจะเป็นตลาดสดหลังโรงเรียนลูก แต่ติดที่ว่าอยู่ไกล ไม่มีที่จอดรถใกล้ๆ จนบัดนี้ก็ยังไม่มีแหล่งจับจ่ายที่มีความสมบูรณ์ สามารถจับจ่ายได้เพียงแค่แห่งเดียวแล้วจะได้ของที่ต้องการครบหมดค่ะ ต้องตระเวนซื้ออย่างน้อยสักสองสามแห่ง หากเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ มักขนซื้อมาคราวละมากๆ กินไปได้นานราว 2 สัปดาห์

หลักๆ จะไปจ่ายอาหารหลายแห่ง อาทิ ตลาดสดท้องถิ่นที่วางแผงขายกันข้างทางตลอดถนนในซอยเล็กๆ หลังโรงเรียนลูก (UN International School Hanoi) ที่เมโจ (Metro) ร้านค้าขนาดใหญ่ขายส่งบนถนน Pham van dong ที่ Big C ในวันพฤหัสบดีเสาร์ Unimart ในวันพุธ (จะมีรถของที่พักไปรับส่ง) ยังมีร้านค้าสำหรับคนต่างชาติเล็กๆ บนถนนซวนเสียว (Xuan Dieu) Ocean market ในห้าง Royal Vincom ที่ทันสมัยและเพิ่งเปิดใหม่ล่าสุดในฮานอย ที่พลาดไม่ได้คือ ชั้น G ใต้ถุนตึกที่พัก เกือบทุกวันจะต้องแวะไปดู Citimart (Hanoi Tower) ค่ะ

การซื้อของที่นี่นอกเหนือจากเดินไปชั้น G (ที่อาศัยอยู่แล้ว) แล้ว หากไปข้างนอกมักใช้รถ Shuttle Bus ของที่พัก มีบริการทุกสัปดาห์ หรือหากมีวาระที่ต้องทำอาหารเลี้ยงแขก จะใช้รถยนต์ส่วนตัวคันเล็กๆ เกียร์กระปุก พวงมาลัยซ้าย ใช้เวลาเดินทางโดยประมาณ 30-40 นาที ขับได้ความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. เนื่องจากการจราจรในกรุงฮานอยจอแจมากๆ

การจ่ายกับข้าวทุกๆ ที่ในฮานอยต้องระวังกระเป๋าสตางค์เป็นพิเศษ คือ ต้องสะพายกระเป๋ามาแปะอยู่ที่ด้านหน้าของเราเท่านั้น หากจับจ่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ต้องระวังรถเข็นของตัวเอง รถเข็นเปล่าๆ จอดไว้อาจหายได้ เมื่อเรากำลังดูของเพลินๆ ต้องเสียเวลาเดินออกไปเข็นมาใหม่ ส่วนรถเข็นที่เราจ่ายของ ชั่งของไว้แล้ว ก็อาจจะอันตรธานไปได้ง่ายมากๆ เพราะของที่เราเลือกอาจจะเป็นของดี ผ่านการคัดเลือกแล้ว คนมาฉวยคว้าไปเลย โชคดีที่ของเหล่านี้ยังไม่ได้จ่ายเงิน แต่ทำให้เสียเวลามาก

การซื้อกับข้าวที่เมโจ (Metro) ทางห้างฯ จะไม่ให้เอากระเป๋าสตรีเข้าไปข้างใน จำต้องใช้กระเป๋าสะพายเล็กๆ ใบเก่งเท่านั้น และต้องมีถุงพลาสติกรีไซเคิลขนาดใหญ่เข้าไปด้วยสัก 10 กว่าใบ ของที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น ปูอัด ปลาแช่แข็ง นม น้ำผลไม้จำนวนมาก รวมถึงเนื้อสะโพกไก่ ไหล่หมู ขาหมู ไข่ ผักสดและผลไม้

Big C ในวันพฤหัสบดี อาหารที่มักไปซื้อ คือ ปลาแซลมอน หมูบด ตับหมู ของที่นี่จะมีคุณภาพดีกว่าที่อื่นเล็กน้อย ที่อร่อยถูกใจมาก คือ ขนมปังฝรั่งเศส (baguette) ที่กรอบนอกนุ่มใน หอม สดใหม่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กำลังดี สำหรับ Unimart จะมีผลิตภัณฑ์ที่เอาใจคนเกาหลี ญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ไปหาซื้อมาทำพวกซูชิ เขาจะมีปลาแซลมอนรมควัน (ที่บ้านไม่นิยมทำด้วยปลาสด) ไข่กุ้ง ผงปลากรอบ ปูอัด สาหร่ายห่อซูชิหลากหลายยี่ห้อ น้ำสลัดญี่ปุ่น รวมทั้งมิโซซุปสำเร็จรูป ก้อนแกงกะหรี่ญี่ปุ่นสำเร็จรูป หอยตลับเล็กๆ เอามาผัดเนยที่ลูกสาวชอบ ไก่บดก็มีขายเฉพาะที่ร้านนี้

สำหรับร้านค้าสำหรับคนต่างชาติเล็กๆ บนถนนซวนเสียว (Xuan Dieu) จะมีเต้าหู้แข็งโฮมเมดและผักสลัดประเภทต่างๆ ที่ผ่านการล้างทำความสะอาดมาระดับหนึ่งแล้ว สด กรอบ แช่ในตู้แช่สดฉ่ำเกือบพร้อมรับประทาน ซูเปอร์ฯ Ocean Market ในห้าง Royal Vincom ที่ทันสมัย เพิ่งเปิดใหม่ล่าสุดในฮานอยนี้ก็น่าเดินเป็นที่สุดค่ะ คนค่อนข้างน้อยในวันธรรมดา ราคาของไม่แพงอย่างที่คิด มีทุกอย่างที่ Big C มี รวมทั้งมีอาหารสำเร็จรูปที่คนไทยพอกินได้ เช่น ไก่ย่างร้อนๆ และขนมเบเกอรี่

อาหารหลักๆ ที่ต้องติดบ้านเพราะรับประทานกันทุกวัน คือ ข้าวหอมมะลิไทย แหล่งหาซื้อที่ฮานอยมี 2 แห่ง คือ Citimart และ Metro นอกนั้นจะเจอข้าวบรรจุถุงที่มีตัวหนังสือไทยสะกดผิดเพี้ยนอีก 5-6 ยี่ห้อ

ส่วนใหญ่อาหารที่ทำประจำในบ้านจะเป็นอาหารรสจัด ยกเว้นอาหารสำหรับลูกสาวที่จะไม่เผ็ด ได้แก่ ข้าวต้มเครื่อง ข้าวผัด ข้าวราดหน้าต่างๆ สลับสับเปลี่ยนไป นานาก๋วยเตี๋ยว สปาเกตตีผัดแบบไทยรสจัด หากในวันเสาร์อาทิตย์ สมาชิกอาจจะมีการเรียกหาซูชิ ข้าวมันไก่ ข้าวหมกไก่ ข้าวขาหมู ลาบ น้ำตก หมูย่างเกาหลี ขนมจีนน้ำเงี้ยว แกงกะทิต่างๆ ก็ทำกินบ้างในบางโอกาส

วัตถุดิบไทยๆ ที่หาไม่ได้ในฮานอย ได้แก่ ใบมะกรูด มะเขือเปราะ มะเขือพวง มะเขือยาว ส่วนที่หายากมากๆ มีขายเฉพาะในบางฤดู คือ ใบกะเพรา ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ใบแมงลัก ถ้าเป็นพวกซอส คนไทยจะมีการถามหาเต้าเจี้ยวและซีอิ๊วดำกันทุกบ้าน เต้าเจี้ยวของเวียดนามมีกลิ่นหมักที่อาจไม่ถูกจมูกและลิ้นของคนไทยบางบ้าน แต่สำหรับบ้านเราสามารถใช้แทนได้โดยที่ไม่มีใครรู้สึก”


ในถุงกับข้าววันนี้

เมื่อคืนเพิ่งเดินทางกลับมาจากทริปซาปา (Sapa เมืองชายแดนในจังหวัดหล่าวกาย ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม) เลยได้เห็ดหอมและเห็ดหลินจืออบแห้งจากตลาดสดกลางเมือง ถุงใหญ่ ราคาดี ได้แบ่งปันเพื่อนรักไปคนละถุงสองถุง แล้วคิดจะทยอยเก็บไว้ทำน้ำซุปติดบ้าน เพราะที่บ้านชอบทำข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว และเฝอ กินบ่อยๆ ได้สรรพคุณดีๆ เพื่อสุขภาพที่ดีกันทั้งครอบครัว แต่คงใส่เพียงให้ออกกลิ่นและรสอ่อนๆ ในน้ำซุปกระดูกหมูเท่านั้น

เครื่องดื่มที่ต้องมีติดบ้านคือ ไมโล 3 in 1 สำหรับสามี ดื่มทุกๆ เช้าก่อนไปทำงาน นม UHT ชนิดจืดสำหรับ lunch box ของลูกสาวไปโรงเรียนทุกวัน ส่วนชาประเภทต่างๆ สำหรับตัวเอง เพราะชอบจิบน้ำชาอุ่นๆ รสธรรมชาติ ไม่นิยมเติมนมหรือน้ำตาล จิบได้ตลอดทั้งวันหากอยู่บ้าน ไม่มีธุระไปไหน ถ้วยชามีส่วนทำให้ชาที่จิบแต่ละวันอร่อย หอม แตกต่างกันไป ช่วงนี้ชอบใช้ชุดชาเวียดนามทรงโบราณค่ะ ใช้มานานเกือบปีแล้วยังไม่เบื่อเลย ส่วนชนิดชาที่ชอบเป็นพิเศษ คือ ชาท้องถิ่น Cozy กลิ่น Green Tea และชาอาทิโช้ก (Artichoke Tea) ของดาลัด (เมืองในจังหวัดเลิมด่งทางใต้ของเวียดนาม)

สำหรับชาที่ชอบมานาน ไม่เคยเปลี่ยนใจ คือ Twinings Earl Grey และชาอินเดียที่ต้องขอไปดื่มที่บ้านเพื่อนชาวอินเดียในฮานอย โดยเฉพาะชาของเพื่อนคนนี้หอมเข้มข้นขึ้นจมูก ต้มพร้อมกับผงใบชาจนเดือดในหม้อต้มชาแบบของอินเดีย ดื่มแล้วเหมือนต้องมนต์เลยค่ะ เครื่องดื่มอีกประเภทที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ถ้ามาอยู่เวียดนาม คือ กาแฟ G SEVEN 3 in 1 เพื่อนคนไทยที่มาเยี่ยมเยือนมักต้องเรียกหาสักแก้วก่อนจากลา ที่บ้านมักจะเสิร์ฟร่วมกับขนมเปี๊ยะไส้ทุเรียนไข่ของท้องถิ่น เพื่อนๆ จะขอแบ่งเอากลับบ้านเสมอค่ะ

นอกจากนี้ น้ำผลไม้และนมโยเกิร์ตก็เป็นเครื่องดื่มอีกประเภทที่สมาชิกในบ้านชื่นชอบ ถั่วกระป๋องปรุงรส อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แมกคาเดเมีย พิสตาชิโอ้ เป็นของขบเคี้ยวที่ต้องมีติดบ้านเสมอ โชคดีที่คราวนี้เราได้อัลมอนด์ซื้อมาจากซาปา ชนิดมาทั้งเปลือกเคลือบคาราเมล มีกลิ่นนมเนยหอมจางๆ ไม่ทราบว่าชาวซาปาเขามีกรรมวิธีทำอย่างไร ติดใจทุกครั้งที่ได้ขบเปลือกให้กระเทาะ เคี้ยวอัลมอนด์หอมกรอบแต่ละเม็ดพร้อมกับกลิ่นนี้ไปด้วย

อาหารหลักของลูกสาวในวันนี้ มื้อเช้าเย็นเป็นข้าวต้ม ใช้ข้าวสวยหอมมะลิไทยผสมข้าวเหนียวเดียนเบียนฟูเล็กน้อย (เมืองแห่งสมรภูมิรบประวัติศาสตร์ในจังหวัดเดียนเบียนตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ชาวเมืองรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ข้าวเหนียวที่นี่จะมีชื่อเสียงเป็นพิเศษ) ราดด้วยน้ำซุปเคี่ยวกระดูกหมู หัวไช้เท้า เห็ดหอมและเห็ดหลินจืออ่อนๆ เติมหน้าด้วยหมูตุ๋นหั่นเต๋า ส่วนมื้อกลางวันวันนี้สามีกลับมาทานกลางวันด้วย ... ขอเป็น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ผสมสาหร่าย น้ำใส (จากน้ำซุปหม้อเดิม) รองถั่วงอกลวกโรยหน้าด้วยหมูยอเวียดนาม ไก่ตุ๋น หมูบดลวก ไข่ต้ม โรยหน้าด้วยพริกไทย กระเทียมเจียวกรอบ ต้นหอมซอย ปรุงรสตามชอบใจ ก็เป็นอันปิดครัว เก็บถุงกับข้าวของที่บ้านสำหรับวันนี้ค่ะ”