posttoday

In My Bag

12 กรกฎาคม 2556

พิมพ์ศศิธร เคเซอร์ อาชีพ เจ้าของกิจการ/Freelance Illustrator : Hum With Me

โดย...เรือนแก้ว บำรุง –สัมภาษณ์/เรียบเรียง

พิมพ์ศศิธร เคเซอร์

อายุ 39 ปี

อาชีพ เจ้าของกิจการ/Freelance Illustrator : Hum With Me

ที่อยู่ : กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี (ย่างปีที่ 9)

แหล่งซื้ออาหาร : ระหว่างสัปดาห์จะซื้อที่ใกล้บ้านที่สุด ใช้เวลาเดิน 2 นาที ร้านอยู่ตรงหัวมุมถนนชื่อว่า Edeka เป็นมินิมาร์ต (Discount) ส่วนใหญ่จะเดินไปจ่ายของ ไกลหน่อยก็เดินราว 78 นาที ถ้าเอาจักรยานไปจะขนกลับมาลำบาก เพราะตะกร้าหน้าของจักรยานเล็ก จะซื้ออาหารเต็มพิกัดในวันเสาร์ เริ่มจากร้านจีนที่ใหญ่ที่สุดในละแวกบ้าน (เบอร์ลินมีร้านเอเชียเยอะมาก) มีผักค่อนข้างครบมากกว่าร้านเล็กๆ หากต้องการเครื่องปรุงเฉพาะพิเศษที่ร้านจีนไม่มี ค่อยแวะไปร้านไทย

เสร็จจากร้านเอเชียก็จะไปซูเปอร์มาร์เก็ตในห้าง Karstadt ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีของคุณภาพดี และราคาสูงกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตจำพวก Discount ทั่วไป จะมีเนื้อสัตว์และอาหารชนิดอื่นๆ ให้เลือกมากชนิด เกรดดีกว่า ทั้งแบบมาตรฐานและแบบ Luxury บางครั้งจะแวะร้านผลไม้แผงข้างถนนของพ่อค้าตุรกี เพราะบ่อยครั้งมีผลไม้ให้เลือกมากกว่าในซูเปอร์มาร์เก็ต และดูสดกว่าด้วย (แต่ไม่ออร์แกนิก) เมื่อซื้อเสร็จแล้ว ระหว่างทางเดินกลับบ้านก็จะแวะร้าน Bio (ร้านขายอาหารออร์แกนิก) เพื่อดูว่ามีอะไรใหม่ๆ บ้าง บางครั้งจะมีผลไม้ตามฤดูกาลออกมา ที่ร้านอื่นไม่มีขาย

การเลือกซื้อของ ถุง บรรจุภัณฑ์ : ซื้ออาหารจะเน้นเรื่องคุณภาพและความหลากหลาย ชอบซื้ออาหารสลับสับเปลี่ยนกันไป ชอบลองผักหรืออาหารชนิดใหม่ๆ แพ็กเกจจิ้งสวยๆ ก็ลองซื้อบ้าง แต่ต้องระวังอาหารที่ไม่แพ้ เหมาะกับกรุ๊ปเลือด (กรุ๊ปโอ) พยายามเลี่ยง Processed Food และเนื้อหมู อาหารที่ซื้อสำหรับกินคนเดียว งบซื้ออาหารครั้งใหญ่ในวันเสาร์ประมาณ 70 ยูโร มีซื้อระหว่างสัปดาห์ 12 ครั้ง ครั้งละ 1020 ยูโร

ที่เยอรมนี ร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปไม่มีถุงให้ฟรี แต่มีถุงกระดาษ ถุงพลาสติก และถุงผ้าไว้ขาย (ราคาเท่าไหร่ ไม่รู้เลย ไม่เคยซื้อ) ตัวเราจะเอาถุงผ้าไปเอง ไม่เช่นนั้นต้องเสียเงินและมีถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษเต็มบ้าน บรรจุภัณฑ์บางอย่างออกแบบทำมาให้คนหิ้วได้สะดวก โดยไม่ต้องใส่ถุง อย่าแปลกใจถ้าจะเห็นผู้คนแต่งตัวดี หิ้วแพ็กกระดาษชำระไปไหนมาไหนแบบไม่แคร์สายตาประชาชี เพราะเป็นเรื่องธรรมดามาก หากบางคนไม่ได้เอาถุงไป ไม่อยากซื้อถุง อาจจะใช้ลังกระดาษที่ใส่สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตมาใส่ของที่ซื้อถือกลับบ้านไป เก๋และสะดวกดีไปอีกแบบ

อาหารในถุงวันนี้ : วันนี้ซื้อเห็ด ซูกินี ข้าวโพดอ่อน ใบแมงลัก กะจะมาทำแกงเลียงกุ้ง ปลาแซลมอนเอามานึ่งมื้อละหนึ่งชิ้นกับผักโขม เต้าหู้ทอดจะเก็บไว้ผัดกับเห็ดนางฟ้า ส่วนพริกหยวก ซูกินี มะเขือเทศ มะเขือม่วงนั้นจะทำ Ratatouille เมนูโปรด ทำง่าย อร่อย และดีต่อสุขภาพ มักจะทำเดือนละครั้ง กินไปได้ตั้ง 23 มื้อ

อาหารที่ต้องมีติดตู้เย็นไว้ประจำ คือ ไข่ เต้าหู้อ่อน ผักใบเขียว (คะน้า กวางตุ้ง) บล็อกโคลี่ ซูกินี มะเขือเทศเชอร์รี่ กุ้งหรือปลาหมึก ซื้อแช่แข็งไว้เสมอ เผื่อทำต้มยำหรือพิซซ่าทะเลแบบเกาหลีได้ ซื้อตังโอ๋และเนื้อไก่งวงบดมา เห็ดนางฟ้าจะแบ่งมายำ มีวุ้นเส้นติดบ้านตลอด ผักชีต้นหอมไม่ต้องใส่ เปลือง (มันแพง ซื้อหนึ่งกำใช้ไม่หมดสักครั้ง ไม่ครบเครื่องคงไม่เป็นไร) ตับหมูและผ้าขี้ริ้วเอามาทำโจ๊กกินมื้อวันอาทิตย์นี้ ตับอีกส่วนจะย่างหรือทอดกระเทียมพริกไทย ผ้าขี้ริ้วจะเอาไปเคี่ยวแบ่งทำอาหารให้สุนัข เนื้อสเต๊กเอาไว้สำหรับมื้อเย็นวันหนึ่งวันใด ทำสลัดผักเพิ่ม

ขนมปังเอาไว้เป็นอาหารเช้า มักกินกับตับบด ไม่ก็แยมผลไม้ และกินผลไม้อื่นๆ จิบชามินต์หรือชาอื่นๆ ที่ไม่มีกาเฟอีน นมหลังจากที่กินมาตลอดชีวิต เพิ่งทราบจากหมอว่า แพ้นมวัวและผลิตภัณฑ์จากวัว นมถั่วเหลืองก็ไม่ควรกิน จึงหันมากินนมแพะกับนมที่ทำจากข้าวแทน หัวไช้เท้าจะเอาไว้ทำแกงส้ม (ซื้อผักอื่นมาผสมระหว่างสัปดาห์) น้ำเต้าฮอกไกโด กับมันเทศจะเอามาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ย่างบนกระทะ หรือนึ่งกินแทนข้าวในบางมื้อ เพื่อให้ได้คาร์โบไฮเดรต

In My Bag