posttoday

'เยาวราช'รำลึก

10 กุมภาพันธ์ 2556

เคยได้ยินคำว่า “เสื่อผืนหมอนใบ” มานาน

เคยได้ยินคำว่า “เสื่อผืนหมอนใบ” มานาน

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

เคยได้ยินคำว่า “เสื่อผืนหมอนใบ” มานาน

ยิ่งคิดตามยิ่งเห็นภาพเป็นรูปร่างกระจ่างชัด บรรพบุรุษชาวจีนโพ้นทะเลขึ้นเรือสำเภา หนีความยากแค้นจากบ้านเกิดเมืองนอน รอนแรมกลางทะเลนานนับเดือน มุ่งหน้าสร้างอนาคตใหม่บนแผ่นดินไทย

ด้วยความขยันตรากตรำงานหนัก บวกนิสัยมัธยัสถ์ เก็บหอมรอมริบ จนสร้างเนื้อสร้างตัวมีฐานะมั่นคงเป็นปึกแผ่นมายังรุ่นลูกหลานดังเช่นปัจจุบัน

วันนี้ ตรงกับวันตรุษจีน เทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของลูกหลานเลือดมังกรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 4,000 ปี ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน ละแวกถนนเยาวราช สำเพ็ง ตึกรามบ้านช่องสองข้างทางต่างประดับประดาด้วยสีแดง ผู้คนแต่งตัวสวยงามด้วยชุดใหม่เอี่ยมเดินทางมาจับจ่ายซื้อของไหว้เจ้า เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและวงศ์ตระกูล

โอกาสดีแบบนี้ ผมจึงหาโอกาสไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ย่านหัวลำโพง

โดยหวังเล็กๆ ในใจว่าจะได้รู้จักรากเหง้าของบรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีนของพวกเราได้ดียิ่งขึ้น

แบกเสื่อผืนหมอนใบมาไกลจากโพ้นทะเล

แรกเข้ามา ชมวีดีทัศน์ประกอบแสง สี เสียง เรื่องเล่าจากปากอากงอาม่า ทำความรู้จักกับย่านเยาวราชและสำเพ็ง ชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จนได้รับขนานนามว่าเป็นไชน่าทาวน์เมืองไทย เป็นออร์เดิร์ฟเรียกน้ำย่อย

แล้วเดินทอดน่องสบายๆ อ่านนิทรรศการบนผนังสองข้างทางว่าด้วยเรื่องกำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325-2394) ดูแผนที่เส้นทางอพยพของชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งส่วนใหญ่มาจากทางตอนใต้ของจีน อาทิ ชาวฮกเกี้ยนจากมณฑลฮกเกี้ยน ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนแคะ ชาวจีนกวางตุ้ง ทั้งหมดจากมณฑลกวางตุ้ง และชาวจีนไหหลำ จากเกาะไหหลำ

จำลองบรรยากาศใต้ท้องเรือสำเภาอันคับแคบ มืด อับชื้น ท่ามกลางเสียงพูดคุยภาษาจีนโล้งเล้ง เสียงฟ้าคำราม คลื่นมรสุมโหมกระหน่ำ ทำให้รู้ซึ้งถึงหัวอกคนพลัดถิ่นที่ไม่รู้ชะตากรรมตัวเอง หวังไปตายดาบหน้า

สัมภาระที่นำติดตัวมานอกจากเสื้อผ้าไม่กี่ชุด เสื่อหนึ่งผืนหมอนหนึ่งใบ ยังมีข้าวของที่นำมาค้าขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินอย่างผ้าดิบ ผ้าไหม ผ้าแพร เครื่องกระเบื้องเคลือบ พัด ร่ม ผักผลไม้ดอง ยาจีน

ทันทีที่เท้าเหยียบฝั่งเทียบท่าที่สำเพ็ง ตลาดน้ำที่ใหญ่ที่คึกคักที่สุดของพระนครในขณะนั้น นั่นหมายถึงชีวิตใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

วิถีชีวิต วิถีทำมาหากินในแบบ ‘คนพันธุ์มังกร’'

นี่คือส่วนที่ผมประทับใจที่สุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ รูปปั้นหุ่นชายชาวจีนไว้ผมทรงแมนจู กำลังแสดงการดำเนินชีวิตประจำวัน วิธีหาอยู่หากินของคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาตั้งรกรากในย่านสำเพ็ง

ไม่ว่ารับจ้างเป็นจับกังแบกหามสารพัด หรือทำมาค้าขาย เปิดแผงร้านค้าขายของชำ จำพวกอาหารแห้งอาหารหมักดอง ผลไม้สดจากจีน ของใช้ต่างๆ อาทิ กระดาษไหว้เจ้า โคมกระดาษ ตะเกียง ร้านเครื่องทองเหลือง ของใช้ไทยๆ ที่ทำจากทองเหลือง เช่น ขันน้ำ พานทอง ทัพพี เชิงเทียน เครื่องเชี่ยนหมาก

ร้านขายถ้วยชามทำจากกระเบื้องเคลือบ หาบก๋วยเตี๋ยว เมนูแปลกๆ ทำจากเส้นแป้ง ใส่น้ำแกง ใส่หมู ใส่ผัก จนกลายเป็นเมนูยอดนิยมจนถึงวันนี้ แผงข้าวต้มกุ๊ย มีเป็ด ไก่ หมูแดง ปลาห้อยแขวนต่องแต่ง โถผักกาดดอง ไข่เค็ม หัวไชโป๊ เรียงราย โดยมีหนุ่มจีนนั่งยองๆ พุ้ยข้าวใส่ปากอย่างเอร็ดอร่อย

สองข้างทางมีบอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของชาวจีนแต่ละยุคสมัย สะท้อนให้เห็นความเจริญรุ่งเรือง ยุคทองของชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก จนมีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจการค้าการขาย และได้รับการโอนสัญชาติเป็นคนไทยในที่สุด

ภายในห้องโถงใหญ่ ตื่นตาตื่นใจกับการจำลองถนนเยาวราชทั้งเส้นซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างถึงที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของคนไทยเชื้อสายจีนที่ถีบตัวพุ่งสูงขึ้น มีตึกรามบ้านช่อง โรงแรม โรงเรียนจีน ภัตตาคาร ร้านทอง ร้านขายยาจีน ตลาดสด ศาลเจ้า โรงงิ้ว จนถึงรถรางสัญจร

ตำนานมีชีวิต บรรพบุรุษที่ลูกหลานภูมิใจ

ระยะเวลากว่า 200 ปีที่ชุมชนสำเพ็งเยาวราชได้กำเนิดและเติบโตขึ้นบนแผ่นดินไทย ชาวจีนจำนวนมากได้โอกาสดีในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ หลายคนสามารถก่อร่างสร้างตัวจากมือเปล่าสู่ความเป็นเจ้าสัว แถมยังสร้างคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงตอบแทนให้กับสังคม

นี่คือ Hall of Fame ที่มีวีดิทัศน์ประกอบเรื่องราวตำนานชีวิตของบุคคลชาวเยาวราชที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่อนุชนรุ่นหลัง

ละออ หลิมเซ่งท่าย คหบดีผู้บริจาคทรัพย์เพื่อก่อตั้งโรงเรียนเอี่ยมละออ โรงเรียนเก่าแก่ที่สร้างคนคุณภาพออกสู่สังคม หลวงภักดีภัทรากร (กอฮุยเจี๊ยะ) พ่อค้าข้าวที่ประสบความสำเร็จที่สุดในรัชกาลที่ 5 ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเผยอิงและโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ อันเป็นรากฐานงานสาธารณกุศลเพื่อคนยากไร้ ตันจินเก่ง (จิตติน ตันธุวนิตย์) กรรมกรโรงสีข้าวผู้สร้างตัวจนเป็นนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง พระศรีทรงยศ (เจ้าสัวเนียม) พ่อค้าใหญ่แห่งตลาดสำเพ็ง ผู้มีหัวใจราวแม่น้ำ เป็นผู้ให้ทุนตั้งเนื้อตั้งตัวแก่ชาวจีนในเมืองไทยมานับไม่ถ้วน

จนถึงบุคคลสำคัญร่วมสมัยอย่าง ชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ อุเทน เตชะไพบูลย์ มหาเศรษฐีผู้รับการยอมรับสูงสุดในฐานะประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เทียม โชควัฒนา นักธุรกิจหัวก้าวหน้า และป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการหลากหลายชีวิตชาวไทยเชื้อสายจีน แสดงทัศนะที่มีต่อวัฒนธรรมจีน แสดงความภาคภูมิใจในสายเลือดของตนออกมาได้อย่างน่าชื่นชม

ปิดท้ายด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ เล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงมีต่อชาวไทยเชื้อสายจีน ตลอดจนการเจริญสัมพันธไมตรีกับผู้นำประเทศจีนแต่ละสมัย

มาเที่ยวครั้งนี้ ผมได้เห็นรากเหง้าที่มาที่ไปของชาวจีนในอดีต และชาวไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบัน การเดินทางอันยากลำบากของคนรุ่นบรรพบุรุษ การต่อสู้ชีวิต สร้างเนื้อสร้างตัว ก่อร้างสร้างตระกูลกว่าจะมาเป็นปึกแผ่นสมบูรณ์พูนสุขบนผืนแผ่นดินไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภารอย่างทุกวันนี้

จงภูมิใจเถิดลูกหลานชาวจีนทั้งหลาย

 


&<2288;