posttoday

ผู้แทนชาวพุทธนานาชาติ ร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่บังคลาเทศ

18 พฤศจิกายน 2555

เป็นปรากฏการณ์ที่น่าอนุโมทนาและชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผู้แทนชาวพุทธนานาชาติและองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.)

โดย...สมาน สุดโต รายงานจากกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ

เป็นปรากฏการณ์ที่น่าอนุโมทนาและชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผู้แทนชาวพุทธนานาชาติและองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ร่วมอนุโมทนากับกระทรวงการต่างประเทศ ที่อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายพระสงฆ์ในวัดธรรมราชิกา กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2555

กฐินพระราชทานวัดในต่างประเทศเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นนโยบายการทูตเพื่อประชาชนที่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการต่อเนื่องมา 17 ปีแล้ว

ชาวพุทธนานาชาติ และ รมต.บังกลาเทศ ร่วมงานกฐิน

Deva Priya Barua, Joint secretary General of Bangladesh Bouddha Kristi Prachar Sangha บอกว่า นอกจากชาวพุทธบังกลาเทศนับร้อยคนในกรุงธากา อีกนับร้อยคนที่เดินทาง 12 ชั่วโมง โดยรถไฟจากเมืองจิตตะกอง พระสงฆ์ทั่วบังกลาเทศประมาณ 500 รูป และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม Dilip Barua ซึ่งเป็นชาวพุทธ ได้เข้าร่วมอนุโมทนากฐินพระราชทานที่วัดในเช้าวันที่ 9 พ.ย.แล้ว ผู้แทนชาวพุทธนานาชาติประกอบด้วยผู้แทนจากสาธารรัฐประชาชนจีน ศรีลังกา สหภาพเมียนมาร์ เวียดนาม ไทย อินเดีย สิงคโปร์ ภูฏาน และนายพัลลภ ไทยอารี เลขาธิการองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก จะเข้าร่วมประชุมการสร้างสันติภาพนานาชาติที่วัดธรรมราชิกา ที่นางชีก ฮาซินา นายกรัฐมนตรีแห่งบังกลาเทศ จะมาเป็นประธานในการประชุม หลังจากพิธีทอดกฐินพระราชทานแล้ว

ผู้แทนชาวพุทธนานาชาติ ร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่บังคลาเทศ

วัดที่ทำงานเพื่อชุมชนและสังคม

นายสาโรจน์ ชวนะวิรัช อดีตปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งเป็นประธานในการอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปถวายสงฆ์ที่บังกลาเทศ ได้กล่าวชื่นชมวัดธรรมราชิกา หลังจากท่านสุทธนันทะ มหาเถโร เจ้าอาวาสและสังฆนายก แห่งคณะสงฆ์บังกลาเทศ พาชมกิจกรรมของวัดว่า แม้ทุนดำเนินการจะจำกัด แต่ทางวัดจัดกิจกรรมเพื่อสังคม จัดตั้งโรงเรียนสอนเยาวชนด้านต่างๆ โดยไม่เลือกศาสนาได้อย่างน่าทึ่ง ถือได้ว่าทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

ในวัดมีอาคารเรียนสำหรับเยาวชนระดับต่างๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงอาชีวะ มีโรงเรียนปริยัติธรรมสอนภาษาบาลี และสันสกฤต และศาลาปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ 2 ชั้น ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ แห่งวัดปากน้ำ สร้างมอบให้วัด เมื่อ พ.ศ. 2543 และเหนืออื่นใดสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสร้างพระพุทธรูปปางลีลาสูง 38 ฟุต เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศ ประทานให้แก่วัดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2553

น.ส.มธุรพจนา อิทธะรงค์ เอกอัครราชทูตไทยประจำบังกลาเทศ กล่าวว่า ที่เลือกวัดธรรมราชิกาเพื่อรับผ้าพระกฐินพระราชทาน เพราะเห็นว่าเป็นวัดที่ผู้นำและผู้ใหญ่ของประเทศไทยคุ้นเคยและเคยรับผ้าพระกฐินพระราชทานมาแล้ว

วัดธรรมราชิกาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2494 โดยการริเริ่มของพระมหาสังฆนายก วิสุทธนันทะ มหาเถโร ชาวบังกลาเทศ เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงธากา

เมื่อปี 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนวัดนี้ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนปากีสถานตะวันออก (ในขณะนั้นบังกลาเทศเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน) และได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อทำนุบำรุงวัดด้วย

เมื่อ พ.ศ. 2551 นายแผน วรรณเมธี ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้อัญเชิญผ้าพระกฐินมาทอดที่วัดนี้เช่นกัน

ภูมิหลังผ้าพระกฐินพระราชทานในต่างประเทศ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา พระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดถวายสงฆ์ทุกปี กระทรวงการต่างประเทศในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการต่างประเทศและการทูตเพื่อประชาชน จึงได้เริ่มดำเนินงานการทูตวัฒนธรรมด้านศาสนาในปี พ.ศ. 2538 โดยการริเริ่มของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้น มีจุดประสงค์เพื่อดำเนินนโยบายการทูต โดยใช้รากฐานร่วมทางวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นสื่อและเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่อยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมพุทธศาสนาเช่นเดียวกับประเทศไทย อาทิ ลาว กัมพูชา พม่า จีน และศรีลังกา

ผู้แทนชาวพุทธนานาชาติ ร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่บังคลาเทศ

นับแต่นั้นเป็นต้นมา โครงการทอดกฐินพระราชทานประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับด้วยดี เนื่องจากเป็นจุดร่วมของศรัทธาและทำให้เกิดสำนึกทางวัฒนธรรมในหมู่ประชาชนระหว่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนาด้วยกัน ซึ่งเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับการดำเนินการตามนโยบายการทูตเพื่อประชาชน

กฐินสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

นายสาโรจน์ ชวนะวิรัช ได้กล่าวว่า การอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดวัดในต่างประเทศ เป็นการเชื่อมน้ำใจชาวพุทธด้วยกัน แม้ว่าชาวพุทธจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นนับถือศาสนาอื่น หรือบางประเทศมีผู้นับถือพุทธเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ล้วนแต่สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญและยั่งยืนต่อไป ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศทำโครงการนี้มา 17 ปีแล้ว

แต่ละปีกระทรวงการต่างประเทศรับผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดหลายประเทศ เช่น ปีนี้อัญเชิญไปทอดทั้งหมด 13 ประเทศ (เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา ศรีลังกา จีน เวียดนาม เนปาล อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ) รวม 23 วัด (บางประเทศทอดถวาย 2 วัด)

หลังจากทอดผ้าพระกฐินแล้ว พบว่า ผู้คนในแต่ละประเทศรู้จักประเทศไทยดีขึ้น เช่นที่บังกลาเทศนี้ ทางการบังกลาเทศให้ความสำคัญมาก โดยมีรัฐมนตรีมาร่วมงาน ประเทศนี้แม้จะมีปัญหาเรื่องศาสนา แต่เขาแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นประเทศที่เปิดกว้างสำหรับทุกศาสนา อะไรที่เป็นปัญหาเขาก็พยายามแก้ไขและสร้างสามัคคีในหมู่ชน

นอกจากนั้น การที่ได้อัญเชิญผ้าพระกฐินมาทอดถวายที่วัดธรรมราชิกา เป็นความภูมิใจที่ได้มีโอกาสตามรอยเสด็จพระราชดำเนินอีกด้วย

การทูตเพื่อประชาชน

ท่านสาโรจน์ กล่าวว่า การอัญเชิญผ้าพระกฐินไปทอดนั้น เป็นการดำเนินการทางการทูตอย่างหนึ่งที่เรียกว่า การทูตเพื่อประชาชนและเพื่อเชิดชูประเทศไทย เป็นการนำความดีของไทยไปประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้

ผู้แทนชาวพุทธนานาชาติ ร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่บังคลาเทศ

นายณรงค์ ศศิธร อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กล่าวเพิ่มเติมว่า การอัญเชิญผ้าพระกฐินไปทอดในต่างประเทศนั้นไม่มีปัญหาและอุปสรรค แต่ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากประเทศผู้รับด้วยดี ทั้งระดับรัฐบาลและท้องถิ่น เป็นนโยบายการทูตเพื่อประชาชนก็จริง แต่ไปถึงผู้นำด้วย เช่นที่มาบังกลาเทศปีนี้ รัฐมนตรีในรัฐบาลบังกลาเทศก็มาร่วมด้วย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ทุกระดับ

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศอัญเชิญผ้าพระกฐินไปทอด ต่างได้รับการต้อนรับด้วยดีและอบอุ่นมาก เป็นการทูตเพื่อประชาชนที่ประสบความสำเร็จ

นอกจากกิจกรรมการทอดกฐินพระราชทานแล้ว สถานทูตยังมีกิจกรรมพิเศษ เช่น จัดหาข้าวบริจาคให้กับโรงเรียนในวัดธรรมราชิกา บังกลาเทศ เพราะนักเรียนบางส่วนเป็นเด็กกำพร้า สถานทูตในประเทศอื่นๆ ก็มีกิจกรรมเพื่อประชาชนในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น เป็นอาสาสมัครไปสอนภาษาไทย หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาก็ทำ

มูลนิธิไทย

นอกจากนี้ ท่านสาโรจน์ เล่าว่า กระทรวงตั้งมูลนิธิไทยขึ้นมา โดยมีตัวท่านเป็นเลขาธิการ เพื่อช่วยงานด้านต่างๆ ที่เป็นการทูตประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งมูลนิธิได้ดำเนินการหลายด้าน เช่น ส่งเสริมละครไทยให้เป็นที่รู้จักในประเทศจีนให้มากขึ้น และงานที่จะออกมาเร็วๆ นี้ คือพิมพ์ตำราอาหารไทยที่ต่างชาตินิยม 32 อย่างเป็นหนังสือ 3 ภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน โดยจะแจกจ่ายไปทั่วโลก เป็นการตอกย้ำความนิยมให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผ้าพระกฐินพระราชทาน นอกจากสร้างความสามัคคีระหว่างชาวพุทธแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังดำเนินนโยบายการทูตเพื่อประชาชนอย่างเห็นผลอีกด้วย