posttoday

อัพเดทสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด 15 ตุลาคม

15 ตุลาคม 2565

GISTDA เผยพื้นที่ 6 ลุ่มน้ำเหนือตอนล่างและภาคกลาง ยังถูกน้ำท่วมอีกกว่า 1.1 ล้านไร่ ขณะกรมอุตุ ออกประกาศฉ.8 "พายุเซินกา" ความเร็ว 50 กม./ชม. เคลื่อนเข้าไทย ฝนตกหนัก 14 จว.

          GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียม COSMO-Skymed-1 วันที่ 14 ตุลาคม 2565 แสดงให้เห็นพื้นที่น้ำท่วมขังบางส่วนในเขต ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง และ ลุ่มน้ำท่าจีน ทั้งสิ้น 1,178,025 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ พื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำ และเส้นทางคมนาคมบางส่วน

          จึงเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียง โดยเฉพาะตามแนวริมตลิ่ง ริมลำน้ำสายหลักสายรอง เฝ้าสังเกตสถานการณ์และติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด

          โดย GISTDA ได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป และได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง 

อัพเดทสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด 15 ตุลาคม

          ขณะเดียวกัน นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ลงนามในประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เรื่อง "พายุเซินกา" ระบุว่า.. 

          เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ (15 ต.ค. 65) พายุโซนร้อน เซินกา (SONCA) ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน บริเวณเมืองดานัง ประเทศเวียดนามแล้ว และเมื่อเวลา 10.00 น. มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองกว๋างนาม ประเทศเวียดนาม โดยอยู่ห่างประมาณ 10 กิโลเมตร ทางตะวันออกของแขวงเซกอง ประเทศลาว  มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป 

อัพเดทสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด 15 ตุลาคม

          ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดสกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมแรง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย