posttoday

มองโลกในแบบเฟมินิสต์ท่ามกลางสังคมสูงวัยกับ ดร.รัชดา ธนาดิเรก

08 มกราคม 2565

คุยกับ ดร.กานต์-รัชดา ธนาดิเรก ผู้หญิงเก่งที่เดินหน้าเพื่อพัฒนาสังคมสู่ความเท่าเทียม พร้อมผลักดันศักยภาพสตรี และสังคมสูงวัย วาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องตื่นตัว

มองโลกในแบบเฟมินิสต์ท่ามกลางสังคมสูงวัยกับ ดร.รัชดา ธนาดิเรก

จากอาจารย์สาวคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “กานต์-ดร.รัชดา ธนาดิเรก” ตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อลงมาลุยการเมืองอย่างเต็มตัว ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากสำรวจความพร้อมของตัวเอง อีกทั้งครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังก็สนับสนุนเต็มกำลัง จนวันนี้เธอค้นพบตัวเองแล้วว่าขอเดินหน้าเพื่อพัฒนาสังคมสู่ความเท่าเทียม ผลักดันศักยภาพสตรี

“เราสอนหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ วิชาที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารงานภาครัฐ การกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ การประเมินโครงการ นโยบายทางการเงินการคลัง ทำให้ต้องเกาะติดการเมือง เราให้นักศึกษาอ่านข่าวการเมืองและเอานโยบายมาวิพากษ์วิจารณ์ในชั้นเรียน นั่นทำให้เกิดความอินกับการเมือง อยากมีส่วนร่วมมากกว่าการไปร่วมชุมนุม ซึ่งตอนนั้นช่วงปี 2549 มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แล้วอยู่ๆ ก็มีความคิดผุดขึ้นมาว่า ถ้าเรามีโอกาสไปทำการเมืองให้ดีขึ้นได้ ไปเป็นนักการเมืองเองเลยดีกว่า ในเมื่อตัวเรามีความพร้อม ความรู้ก็มี ครอบครัวยินดีสนับสนุน จะรอไปเลือกคนอื่นทำหน้าที่แทนทำไมกัน จึงตัดสินใจเดินเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แบบไม่รู้จักใครเลยสักคน และท่านแรกที่มีโอกาสคุยเรื่องความตั้งใจทางการเมือง คือท่านชวน หลีกภัย ผู้เป็นนักการเมืองต้นแบบที่เราคารพ เรื่องนี้เป็นความภูมิใจ จะเล่าทุกครั้งที่มีคนถามเกี่ยวกับเส้นทางการเมือง”

มองโลกในแบบเฟมินิสต์ท่ามกลางสังคมสูงวัยกับ ดร.รัชดา ธนาดิเรก

ดร.รัชดา อยู่ในวงการการเมืองมา 14 ปี ผ่านงานการเมืองมาอย่างโชกโชน ในวันนี้ประสบการณ์ได้หล่อหลอมอุดมการณ์และความตั้งใจอย่างแน่วแน่ เธอมีความชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมสิทธิสตรีและการผลักดันเรื่องสังคมสูงวัย เพราะเธอเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญในทุกสังคม ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทย นโยบายต้องครอบคลุม หลายอย่างดูเหมือนจะเท่าเทียม แต่ยังแฝงความไม่เป็นธรรมอยู่ ผู้หญิงต้องได้รับการส่งเสริมให้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องสังคมสูงวัยนั้น เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องตื่นตัว ไม่ต้องรอแก่ และเชื่อมั่นว่านักการเมืองหญิงไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี

“เราอยู่ในแวดวงการเมืองมา 14 ปี แนวทางการทำงานในแต่ละช่วงเวลานี่ต่างกันมาก ในยามที่เป็น ส.ส.หน้าใหม่ ต้องทุ่มเทกับงานพื้นที่-ใกล้ชิดประชาชนอย่างมาก ไม่มีคำว่า เสาร์-อาทิตย์นะคะวันหยุดจะจัดกิจกรรมฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเดินเยี่ยมประชาชนบางช่วงก็จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการวางแผนการเงินกับกลุ่มผู้หญิงมีจัดกิจกรรมให้นักเรียนหญิงเรื่องเซ็กส์กับมะเร็งปากมดลูกช่วงเย็นวันธรรมดาถ้าไม่มีงานสภาก็ต้องไปงานศพงานแต่งเราพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดไม่อยากถูกตำหนิเป็นผู้หญิงคนมักคิดไปก่อนแล้วว่าคงจะบอบบางจะไหวเหรองานนี้เราไม่ชอบคำว่าผู้หญิงเป็นไม้ประดับในสภาเราอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ชายทำได้เราก็ทำได้งานสภาเราก็เต็มที่เช่นกัน

เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็เพิ่มการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชน ทำงานในภาพกว้างมากขึ้น ส่วนเรื่องการใช้เวทีสภาฯ ถือเป็นภารกิจหลัก การเป็นผู้แทนราษฏรต้องอภิปราย เป็นปากเสียงให้ประชาชน ในวาระอภิปรายสำคัญๆ ไม่ว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี อภิปรายนโยบายรัฐบาล พรบ.งบประมาณแผ่นดิน ก็ได้ทำมาแล้ว งานไหนเวลาพูดมีไม่มาก การเตรียมตัวยิ่งต้องเตรียมให้มาก อย่าให้เสียของ ดังนั้น สิ่งที่นำเสนอต้องชัดเจน น่าเชื่อถือทั้งเนื้อหาและท่าทาง เราได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ค่ะ ทั้งการกำหนดประเด็นอภิปราย จังหวะ รายละเอียดเยอะ พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ กลับมาดูคลิปตัวเองทีไร จะรู้สึกเสมอว่า ถ้าปรับตรงนี้ตรงนั้น มันคงจะดีกว่านี้”

มองโลกในแบบเฟมินิสต์ท่ามกลางสังคมสูงวัยกับ ดร.รัชดา ธนาดิเรก

เมื่อถามถึงมุมมองของคำว่า "เฟมินิสต์" ดร.รัชดา กล่าวว่า “คำว่า Feminist ในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเรียกร้องสิทธิผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชาย เราต้องเพิ่มเรื่องการส่งเสริมบทบาทและโอกาสของผู้หญิงด้วย เรื่อง ‘สิทธิ’ ในทางกฎหมายของประเทศไทยถือว่าทำได้ดีทีเดียว แต่ว่าในทางปฏิบัติยังไม่เสมอภาค ยังมีมายาคติต่อผู้หญิง และกลุ่ม LGBT ด้วย อคติที่คิดว่างานนี้เหมาะกับผู้ชายเท่านั้น ผู้ชายมีความเป็นผู้นำมากกว่า ผู้หญิงเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ยกตัวอย่าง งานบางตำแหน่งบางแผนก ผู้ชายมีความก้าวหน้ามากกว่า หลายครั้งยังพบว่า แรงงานหญิง ถูกให้ออกจากงานก่อนแรงงานชาย เวลาเจ้าของกิจการประกาศลดคนงาน ยังมีอีกหลายกรณี ที่เรามองแค่ความเท่าเทียมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าเป็นมันเป็นธรรมหรือไม่ และความเท่าเทียมไม่ได้แปลว่าให้เหมือนกัน เอาง่ายๆ เลย ลูกชายกับลูกสาว แน่นอนว่าเรารักเท่ากัน แต่จะเลี้ยงดูเหมือนกันในทุกเรื่องคงไม่ได้ การกำหนดนโยบาย/โครงการจึงต้องมี Gender Lens หรือมิติหญิง-ชายอยู่ในนั้นด้วย”

การส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักการเมือง จะทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบาย การแก้ปัญหาสังคมทำได้อย่างครอบคลุมหลายมิติมากขึ้น ดีกว่าที่จะปล่อยให้ผู้ชายคิดและตัดสินใจฝ่ายเดียว ในเมื่อสังคมมีทั้งผู้ชายผู้หญิง การตัดสินใจเพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ ก็ควรมีผู้หญิงเข้ามีส่วนร่วมด้วย ผู้หญิงเข้าใจปัญหาผู้หญิง ผู้หญิงมีความเป็นแม่ เป็นหลักในการดูและครอบครัว ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนผู้ชาย สิ่งเหล่านี้ทำให้การมองปัญหามีความหลากหลาย และแน่นอนว่าจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ สะท้อนความต้องการประชาชนแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก

ส่วนเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ ต้องดูแลกลุ่ม LGBT ด้วย หากเราเชื่อว่าคนทุกคนเท่าเทียม เราต้องตระหนักว่า ที่ผ่านมาพวกเขาถูกลิดรอนสิทธิ์ หรือไม่ได้รับโอกาสในหลายกรณี เพียงเพราะเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ มันถึงเวลาแล้วที่เราควรคืนสิทธิ์ให้เขา ไม่ใช่รอให้เขามาเรียกร้อง สำหรับประเด็นที่พูดถึงกันมากคือ เรื่อง #สมรสเท่าเทียม ในเรื่องนี้ ครม. ผ่านร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (Civil partnership) แล้วนะคะ รอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แต่ว่ามันก็ยังไม่ถึงขั้นสมรสเท่าเทียม เทียบเท่ากับคู่รักต่างเพศ เพราะสังคมอาจจะยังไม่พร้อมไปให้สุด ด้งนั้นแนวทางในเรื่องของกฎหมายอาจจะค่อยๆ ขยับ เริ่มด้วย พ.ร.บ. คู่ชีวิต อย่างที่ในหลายๆ ประเทศก็เริ่มต้นจากตรงนี้ ให้สิทธิในประเด็นสำคัญๆ อาทิ สิทธิในการรับมรดก การเซ็นเพื่อการรักษาโรค/ผ่าตัดใหญ่ กรณีฝ่ายหนึ่งป่วยหนักๆ ให้คู่ชีวิตเป็นฝ่ายคนตัดสินใจได้ ไม่ใช่ต้องไปเรียกญาติที่ไม่เคยเจอมา 20-30 ปี มาตัดสินใจแทน เป็นต้น จะได้เป็นก้าวแรก สู่ก้าวต่อไปที่พาไปถึง #สมรสเท่าเทียม

ได้ยินเรื่องการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยจากนักการเมืองหญิงท่านนี้ ทำให้นึกขึ้นได้ว่าสังคมไทยกำลังจะเผชิญคลื่นสึนามิใหญ่ที่เรียกว่า #สังคมสูงวัย ในอนาคตอันใกล้นี้ “จริงๆ ตอนนี้เราเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์แล้วค่ะ” ดร.รัชดา ยิ้ม

“ประเทศไทยมีคนอายุเกิน 60 ถึง 20% แล้ว แต่ถามว่ามีใครเตรียมตัวแก่บ้าง คนทุกวัยต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้ค่ะ เพราะถ้าเรามีประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปถึง 20% นี่ เท่ากับทุกๆ 5 คน เราจะเจอคนเกษียณอายุ 1 คน ในมุม Gender ที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลสามีในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขา แต่พอเขาตาย ผู้หญิงอยู่คนเดียว เงินทองก็หมดไปกับการดูแลสามีแล้ว คราวนี้ทำไงหละ”

คำว่า ‘เกษียณ’ คืออะไร คือไม่ต้องทำงานแล้ว แต่เมื่อเกษียณแล้ว มันไม่ใช่ว่าอีก 5 ปี 10 ปี เราจะตายนะ อายุเฉลี่ยคนไทยตอนนี้เพิ่มเป็น 84-86 ปีแล้วค่ะ คำถามคือ ชีวิตที่เหลือเราจะอยู่อย่างไร? คิดกันบ้างหรือยังล่ะ มันน่ากลัวนะ บั้นปลายชีวิตในช่วงท้ายๆ ถ้าเราเจ็บป่วยดูแลตัวเองไม่ได้ อาจป่วยโรคเรื้อรัง เราจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มและต้องพึ่งพิงคนอื่นอีก และถ้าเป็นผู้ป่วยติดเตียงล่ะ เราทำเรื่องผู้ป่วยติดเตียงมาตลอด เดินเยี่ยมชุมชนแจกผ้าอ้อม แจกของต่างๆ นานา จะเห็นว่าชีวิตมันหดหู่มากนะคะ บางบ้านคือแม่อายุ 80 กว่า ลูกก็ 60 กว่า หลานไปทำงาน แล้วจะอยู่กันอย่างไร บางบ้านนี่จำนวนผู้ป่วยติดเตียงมากกว่าคนดูแล เป็นปรากฏการณ์ที่เจอตลอดเวลา

ฉะนั้น คนที่เป็นวัยทำงาน เมื่อทำงานปุ๊บต้องเริ่มเก็บเงิน วางแผนเก็บเงินไว้เลย ต้องฉายภาพตัวเองให้ได้ว่า ตั้งแต่วันที่คุณมีเงินบาทแรกที่เข้ากระเป๋าไปจนถึงอายุ 86 ปี ตามอายุค่าเฉลี่ยของคนไทย คุณจะใช้ชีวิตอย่างไร คุณต้องสร้างนิสัยในการวางแผนการเงิน การดูแลสุขภาพ หากสุขภาพไม่ดีมันจะเป็นภาระอย่างมาก ถ้าเราเจ็บป่วยตอนแก่ เราเป็นภาระต่อคนที่เรารักด้วยนะ เงินที่เราออมมาจะหมดไป ลูกหลานต้องมาดูแลเรา ซึ่งเขาก็คงมีครอบครัวของเขาที่ต้องดูแลเช่นกัน เพราะฉะนั้นการคิดเรื่อง Aging ไม่ได้คิดแค่ว่าเรากำลังจะแก่ แต่ต้องคิดว่าถ้าชีวิตเรายังอยู่อีกยาว เราจะใช้ชีวิตอย่างไร ให้ตอนตายเราอยู่อย่างไม่เป็นภาระคนอื่น และจะดีมากถ้ายามแก่ ยังคงได้ใช้ชีวิตแบบมีเสรีภาพ เที่ยวได้ กินได้ ไม่เป็นหนี้ และยังทำตัวเป็นประโยชน์กับสังคมได้บ้าง และขอย้ำสำหรับเพื่อนผู้หญิงทุกคน “ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย” ง่ายๆ คือเราตายหลังแฟนเรา ที่นี้ก็ต้องเตรียมตัว ปฎิบัติตัวสูในโหมด อยู่คนเดียว ก็มีความสุขได้

มองโลกในแบบเฟมินิสต์ท่ามกลางสังคมสูงวัยกับ ดร.รัชดา ธนาดิเรก

แม้ภาระหน้าที่ปัจจุบันของ ดร.รัชดา จะค่อนข้างยุ่ง ต้องอยู่หน้าจอไอแผดตลอดเวลา ติดตามกระแสสังคม ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ในฐานะรองโฆษกรัฐบาลต้องรับทราบกระแสสังคม ชี้แจงเรื่องไม่จริง ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่เธอกลับมีวิธีบาลานซ์ชีวิตที่ไม่เหมือนใครเช่นกัน “ว่ายน้ำค่ะ” ดร.รัชดา ตอบทันที

“เราเป็นคนที่เตรียมตัวแก่มานานแล้วนะ มองภาพตัวเองว่าฉันคงจะอายุยืน 80 อัพคงเป็นไปได้ ตอนนี้ 46 แล้ว เหลือเวลาเท่าไรล่ะ สมมติว่าอยู่ไปอีก 40 ปี มันมีเวลาอีกยาวมากในการใช้ชีวิตเลยนะ ที่สำคัญอยากจะดูดีในวัย 50-60-70 อยากจะหุ่นดีแบบสมวัย ซึ่งไม่ใช่เอวเอส หน้าตึง เอาแค่แข็งแรง ดูเข้มแข็ง สดใส คล่องแคล่ว อยากเป็นแชมป์ว่ายน้ำในวัย 60 ด้วย (หัวเราะ) จริงๆ เราไม่ได้เพิ่งมาว่ายน้ำนะ สมัยเด็กๆ เราเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ เป็นเจ้าของสถิติประเทศไทยหลายรายการค่ะ ช่วง 7 ขวบ รุ่นที่ดังๆ ในช่วงนั้นก็อย่างคุณมธุรดา คุโณปการ คุณศรสวรรค์ ภู่วิจิตร ซ้อมสระว่ายน้ำเดียวกัน เขาเป็นรุ่นพี่ ส่วนเราพอเป็นแชมป์ สำเร็จตามเป้า ก็เลิกเปลี่ยนมาเล่นเทนนิสแทน เล่นจนถึงระดับเยาวชนทีมชาติ เหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัย ชีวิตวัยเรียนของนักกีฬามันโหดมากนะ ไม่ได้เที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ แค่เวลาทำการบ้านยังไม่ค่อยจะมีเลย”

“ตอนนี้ ถ้าวันไหนไม่อยากว่ายน้ำ จะเดินเล่น เดินกับน้องหมา (ชื่อ กระต่าย) เดินเร็วๆ ในหมู่บ้าน หรือไม่ก็ขี่จักรยาน อีกอย่างเราเป็นคนชอบกระโดดเชือกมาก เป็นกีฬาที่ดีมากเลยนะ หนึ่ง คือประหยัดเงิน ไม่ต้องใช้เงินอะไรเลย ซื้อเชือกเส้นเดียว สอง ใช้เวลานิดเดียวก็เหงื่อพลั่ก ๆ ๆ แล้ว หากบางวันที่ไม่อยากทำอะไรมาก ก็จะดูละคร และยกเวท เล็กๆ น้อยๆ ทำสควอช เกร็งขา เกร็งหน้าท้อง เราคิดว่าวัยนี้ถ้าเราไม่ได้หวังว่าจะต้องมีกล้ามสวยแบบดารา การที่เราได้ขยับ เผาผลาญไขมันตามสมควร ทำให้เป็นกิจจะลักษณะเป็นนิสัย มันก็โอเคแล้วค่ะ ที่สำคัญขอให้ได้เริ่ม!”