posttoday

“นาฬิกอติภัค”นักสถิติผู้สร้างสถิติสู่นักบริหารมืออาชีพ

19 ธันวาคม 2564

“อย่าพยายามทำตัวให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จ แต่จงพยายามทำตัวเองให้มีคุณค่า”

เจ้าของคำพูดนี้เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หรือ DASTA เมื่อหลายปีก่อน หลังจากนั้นผลงานเชิงประจักษ์สมัยเป็น ผอ.อพท. ครบ 2 วาระ 8 ปีเต็ม ก็ทำให้  “ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท” ได้รับการจดจำในฐานะบุคคลสำคัญของการผลักดัน “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” หรือ Community-Based Tourism (CBT) และยังทำให้หน่วยงาน อพท. จากประเทศไทยได้รับการยอมรับระดับนานาชาติด้วยการเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำเครื่องมือประเมินการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม หรือ ASEAN's Sustainable and Inclusive Tourism Development Assessment Tool (ASITAT) เพื่อให้สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ นำไปใช้ในประเทศของตนเองอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ชื่อของอดีต “ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท” ในตำแหน่ง ผอ. อพท. เป็นที่คุ้นเคยแพร่หลายของแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งฝั่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสื่อมวลชน และทำให้คำคุ้นชินอย่าง “ท่องเที่ยวโดยชุมชน” เพื่อให้เกิด “ท่องเที่ยวยั่งยืน” ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีอยู่ในการบริหารจัดการหรือพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ด้วยรูปแบบที่มีต้นทางจาก อพท. ซึ่งเรียกว่า Co-Creation ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ ทั้งยังมีแนวทางอย่างชัดเจนว่าการท่องเที่ยวจะยั่งยืนและเป็นไปได้ ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว ต้องได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว

“นาฬิกอติภัค”นักสถิติผู้สร้างสถิติสู่นักบริหารมืออาชีพ

ถึงวันนี้ชื่อของ “ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท” ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยครั้งมากขึ้นอีกครั้ง ในตำแหน่งและหน่วยงานที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา พร้อมภารกิจในการพัฒนาทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมตามหลักธรรมาภิบาล ที่ต้องยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายและบทพิสูจน์ของการเป็นเป็นนักบริหารมืออาชีพอย่างแท้จริง

ย้อนไปกว่าสามสิบปีก่อน เด็กหนุ่มวัย 19 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สถิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บินลัดฟ้าไปศึกษาต่อจนได้ดีกรีปริญญาโท สาขา Operations Research จาก Stanford University สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท สาขา Operations Research และปริญญาเอก สาขา Interdisciplinary จาก Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเริ่มทำงานที่ประเทศไทย ด้วยการเลือกเข้ารับราชการทหาร และติดยศ “พันเอก” ในวัย 35 ปี รับผิดชอบด้านการติดต่อประสานงานระหว่างกองทัพต่างประเทศโดยผ่านผู้ช่วยทูตทหารซึ่งประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ผู้ช่วยสมาชิกวุฒิสภาไปพร้อมกัน ทั้งยังจัดเวลาให้ตนเองได้ไป “ละเลียดทัวร์” อยู่เนืองๆ ด้วยความนิยมชมชอบการท่องเที่ยวที่เน้นการสัมผัสวิถีชุมชนและธรรมชาติ รวมถึงลิ้มลองอาหารอร่อยประจำถิ่นที่กลายเป็น “ต้นทุน” ของประสบการณ์ในการทำงานต่อมา

หากแต่เส้นทางชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ใช้ความท้าทายเป็นพลังในการขับเคลื่อนชีวิต” ก็ทำให้นายทหารหนุ่ม อนาคตไกล ที่ใครต่อใครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเนี้ยบทุกเรื่อง ตัดสินใจรับตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” คนแรก และก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักบริหารในอีกหลากหลายหน่วยงาน ก่อนจะเป็นผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่ทำให้ อพท. ได้รับคะแนนประเมินจาก กพร. เต็ม 5.0 หลายปีติดต่อกัน จนกระทั่งมาถึงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. คนปัจจุบันที่ยังคงสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น ไม่น้อยหน้าความสำเร็จต่างๆ เมื่อครั้งเป็นผู้บริหารในหน่วยงานก่อนหน้า

“นาฬิกอติภัค”นักสถิติผู้สร้างสถิติสู่นักบริหารมืออาชีพ

ในช่วงแรกของการรับตำแหน่ง MD ธพส. นั้น ดร.นาฬิกอติภัค เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ธพส. จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 ตามมติของคณะรัฐมนตรี มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ทำหน้าที่ในการลงทุนก่อสร้างอาคาร และบริหารโครงการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และบริหารจัดการทรัพย์สินอื่นของรัฐตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของกรมธนารักษ์ รายได้หลักก่อนหน้านี้ของ ธพส. มาจากการบริหารพื้นที่ศูนย์ราชการฯ มีรายได้เชิงพาณิชย์และค่าเช่าต่อปีรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากค่าเช่าสำนักงาน 2,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87และรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์อีกราว 400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13

ต่อมาภายใต้ยุทธศาสตร์ของ ดร.นาฬิกอติภัค ทำให้ ธพส. สามารถเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซาท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 กลายเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สามารถลงทุนก่อสร้างโครงการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อสร้างอาคารและบริหารจัดการภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ และเพิ่มเติมด้วยการรับจ้างก่อสร้างอาคารให้แก่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ที่ ดร.นาฬิกอติภัค เรียกว่าเป็น “ดิเวลอปเปอร์ภาครัฐ” โดยเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้ ธพส. ซึ่งมีการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบเรียบร้อยแล้ว คือ อาคารสำนักงานประหยัดพลังงานซอยพหลโยธิน 11 มูลค่า 262 ล้านบาท และยังมีโครงการต่อเนื่อง ได้แก่ งานก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ประหยัดพลังงานให้กรมสรรพสามิต มูลค่า 200 ล้านบาท โครงการก่อสร้างที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามาฯ-ธนารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ มูลค่า 1,400 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างสนามกีฬาคอมเพล็กซ์ของกรมพลศึกษา พื้นที่ 454 ไร่ ที่สมุทรปราการ มูลค่า 20,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังจะมีรายได้จากอีกโมเดลธุรกิจใหม่คือการคุมงานก่อสร้างโครงการบูรณาการสวัสดิการที่พักอาศัยกับสถานที่ทำงาน และศูนย์บริการของข้าราชการพลเรือนสามัญ 14 อาคาร ที่เป็นคอนโดมิเนียมขนาด 76-650 ห้อง พื้นที่ใช้สอย 35-40 ตารางเมตรต่อห้อง โดยโมเดลนี้ ธพส.ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง ส่วนค่าก่อสร้างลูกบ้านจะเป็นผู้รับผิดชอบเซ็นสัญญากับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่ ธพส. เป็นผู้จัดหาให้ เป็นการเปิดให้เอกชนเข้าลงทุนก่อนแบบเหมาจ่ายทั้งโครงการ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ธพส.จะทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแทนลูกบ้านเมื่อส่งมอบเรียบร้อยแล้ว ธพส. จึงจะจ่ายเงินลงทุนคืนให้เอกชน ซึ่งรูปแบบนี้จะช่วยให้การก่อสร้างรวดเร็วขึ้นจากเดิม โดยเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแต่ละแห่งจะเหลือเพียง 10-12 เดือน จากเดิม 14-16 เดือน

“นาฬิกอติภัค”นักสถิติผู้สร้างสถิติสู่นักบริหารมืออาชีพ

เป้าหมายรายได้ของ ธพส. ในปี 2565 นั้น ดร.นาฬิกอติภัค ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนเป้าหมายรายได้และกำไรใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ในปี 2564 นี้ รายได้น่าจะอยู่ที่ 3,040 ล้านบาท กำไร 360 ล้านบาท โดยคาดว่า จากโครงการและโมเดลธุรกิจต่างๆ จะทำให้ ปี 2565 ธพส. จะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจและทำให้ชื่อของ “ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท” ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยครั้งคือโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี (C) มูลค่า 30,000 ล้านบาท เพื่อเปิดให้บริการต้นปี 2567 ด้วยเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นศูนย์ราชการเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการบริหารและพัฒนาศูนย์ราชการฯ ในส่วนของโซน A และโซน B ที่มีอยู่เดิม และวางแผนพัฒนาโซน C ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ควบคู่กันไป ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้มีความเป็นไปได้สูง ด้วยการการันตีจากรางวัลระดับนานาชาติที่ ธพส. ได้รับอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปลายปี 2562 “อาคารธนพิพัฒน์” อาคารสำนักงานของ ธพส. ได้รางวัล “Energy Efficiency Award” จากการประกวดเทคโนโลยีและการนำพลังงานหมุนเวียนกลับมาใช้ภายในอาคาร โดยใช้เทคโนโลยีเยอรมัน (Made inGermany) และใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารยั่งยืน (DGNB) เป็นเกณฑ์ตัดสินการประกวดซึ่งนับเป็นสำนักงานแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการรับรองให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาคารยั่งยืนระดับแพลตินั่ม (DGNB Certificate in Platinum) จากสภาอาคารยั่งยืนของเยอรมัน (German Sustainable Building Council-DGNB) ต่อด้วยศูนยราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ได้รับการประกาศเกียรติคุณ “อาคารราชการต้นแบบดานการจัดการนําเสีย” ระดับทอง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จัดขึ้นโดย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“นาฬิกอติภัค”นักสถิติผู้สร้างสถิติสู่นักบริหารมืออาชีพ

ต่อด้วยรางวัลระดับโลกอย่างโครงการนวัตกรรมที่โดดเด่น ประเภท "District Energy in Developing Countries" ในการประกวด "Global District Energy Climate Awards ครั้งที่ 7" ซึ่งจัดขึ้นโดย "The Asian Pacific Urban Energy Association" จากผลงานอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วยแนวคิดพื้นฐานของ District Energy (DE) คือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในเขตเมืองหรือชุมชน การนำพลังงานส่วนเกินกลับมาใช้ใหม่ ไม่ให้พลังงานนั้นสูญเปล่าเพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และตอกย้ำการเป็นผู้นำบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภาครัฐ ที่โดดเด่น Best Commercial Landscape Architectural Design ในการประกวด PropertyGuru Thailand Property Awards 2021 และรางวัล Best Landscape Architectural Design จากเวที PropertyGuru Asia Property Awards 2021 ซึ่งเป็นรางวัลระดับทวีปเอเชีย ด้วยจากโครงการอาคารจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ

ผลงานเชิงประจักษ์ที่มีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง หากจะบอกว่า ธพส. ภายใต้การนำของแม่ทัพอย่าง “ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท” เป็นยุคที่ศูนย์ราชการฯ มีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่สดใสหลากหลายมิติ และเป็นยุคแห่งการสร้างสถิติที่มุ่งเน้นคุณค่ามากกว่าความสำเร็จอีกครั้งก็คงไม่เกินเลยความจริง รวมทั้งการพยายามนำนวัตกรรมและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาปรับใช้กับโครงการต่างๆ ของ ธพส. เพื่อสร้างทั้งความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกในองค์กรและสร้างการยอมรับต่อสาธารณชนไปพร้อมกัน จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญในฐานะนักบริหารมืออาชีพอย่างแท้จริง “นาฬิกอติภัค”นักสถิติผู้สร้างสถิติสู่นักบริหารมืออาชีพ