posttoday

ถอด 3 กลยุทธ์สร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ถูกใจผู้สอน โดนใจคนเรียน

02 กันยายน 2564

การเรียนการสอนออนไลน์ในยุคโควิด–19 ยังคงเป็นเรื่องท้าทายทั้งผู้สอนและผู้เรียน เพราะต่างก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคจนทำให้การเรียนการสอนสะดุด ขณะที่ผู้ปกครองก็กังวลว่าบุตรหลานจะไม่ได้ประโยชน์จากการเรียนเต็มที่เหมือนกับตอนเรียนที่โรงเรียน จนเกิดข้อเสนอให้หยุดเรียนหนึ่งปีตามที่กำลังเป็นข่าวอยู่ขณะนี้

อย่างไรก็ตาม อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ ขณะที่การเรียนการสอนยังคงต้องดำเนินต่อไปท่ามกลางความท้าทายรอบด้านของทั้งครูผู้สอนและตัวนักเรียนเอง โดยเฉพาะคุณครูที่ต่างกำลังพยายามหา “จุดสมดุล” ระหว่างรูปแบบการสอนให้น่าสนใจ การใช้เครื่องไม้เครื่องมือให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังต้องคิดหาวิธีทำให้ชั่วโมงเรียนออนไลน์น่าสนใจ และอาจรวมถึงความพึงพอใจของนักเรียนในชั้น  

ถอด 3 กลยุทธ์สร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ถูกใจผู้สอน โดนใจคนเรียน

3 กลยุทธ์ต่อไปนี้ อาจเป็นแนวทางสำหรับคุณครูในการสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ถูกใจผู้สอน โดนใจผู้เรียนได้ง่ายยิ่งขึ้น

1.สูตรเนื้อหา 3 จ.  “จูงใจ – จดจ่อ – จดจำ”

การเรียนการสอนออนไลน์ ไม่ใช่เป็นแค่การนำเนื้อหามาสอนผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น แต่หมายถึง      การปรับวิธีปรับเนื้อหาการสอนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนออนไลน์ที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนอย่างสิ้นเชิง

  • จูงใจ ปรับเนื้อหาให้น่าจูงใจจะช่วยให้นักเรียนตั้งใจเรียนและมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรียบเรียงเนื้อหา การยกตัวอย่าง การสอดแทรกเกมและกิจกรรมไปในเนื้อหา
  • จดจ่อ เพิ่มสื่อการสอนที่เหมาะสมเพื่อสร้างความน่าสนใจ เช่น ใช้สื่อวิดีโอขนาดสั้น ประมาณ 2-3 นาที ประกอบการสอน ขนาดวิดีโอไม่ควรยาวจนเกินไป เพราะจะทำให้ผู้เรียนสนใจน้อยลง
  • จดจำ ออกแบบเนื้อหาการเรียนให้เข้าใจและจดจำได้ง่าย เช่น การร้อยเรียงเนื้อหาที่คล้องจอง การใช้ภาพแอนิเมชันและสีช่วยจำ การใช้บทบาทสมมติ รวมถึงการใช้เพลงช่วยทำให้จดจำเนื้อหายากๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคำศัพท์ หรือ สูตรต่างๆ

2.ใช้ประโยชน์เครื่องมือออนไลน์ สร้างการมีส่วนร่วมทั่วถึง

ปัจจุบันมีฟีเจอร์มากมายในโปรแกรมการสอนออนไลน์ คุณครูสามารถศึกษาและหยิบข้อดีของ “ออนไลน์” มาช่วยสร้างการมีปฏิสัมพันธ์แบบเรียลไทม์กับนักเรียน เช่น การจับเวลาตอบคำถามคั่นบทเรียน การค้นคว้าข้อมูลออนไลน์ การนำเสนอหน้าชั้นเรียนด้วยสื่อวิดีโอ การโหวต หรือแม้แต่ฟีเจอร์เครื่องมือวาดเขียนให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถวาดเขียนบนหน้าจอเดียวกันได้ เช่นที่สามารถใช้ได้บนฟีเจอร์ LINE Meeting ฯลฯ นอกจากนี้คุณครูยังสามารถสร้างแบบประเมินหลังจบชั้นเรียนเพื่อวัดการมีส่วนร่วมในการเรียนแต่ละครั้งก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยวัดประสิทธิภาพการเรียนออนไลน์ได้เช่นกัน

3.สร้างคอมมูนิตี้ให้เป็นสังคมโรงเรียนออนไลน์ คุณครูสะดวก นักเรียนเต็มใจ

นอกเหนือจาก “บทเรียน” แล้วการสร้างห้องเรียนออนไลน์จะสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากขาดความเป็น “คอมมูนิตี้” ที่ยึดโยงนักเรียน คุณครู และโรงเรียนเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันคอมมูนิตี้ออนไลน์นี้ก็ควรจะต้องเข้าถึงง่าย สอดรับกับพฤติกรรมผู้ใช้และเคารพความเป็นส่วนตัวของทุกคนบนโลกออนไลน์ ยกตัวอย่าง การใช้ LINE OpenChat ช่วยบริหารจัดการชั้นเรียนออนไลน์ ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อเป็น “สังคมห้องเรียน” จำลอง ที่คุณครูใช้สื่อสารกับนักเรียนได้อย่างทั่วถึงมีระบบ Admin ในการดูแลสมาชิกและจัดระเบียบภายในห้องแชท ขณะที่นักเรียนเองสามารถตั้งชื่อในกรุ๊ป OpenChat นั้นด้วยชื่อนามสกุลจริงโดยไม่กระทบกับตัวตนบนบัญชี LINE ส่วนตัว ฯลฯ

การเรียนการสอนออนไลน์จึงไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของการ “สอนออนไลน์” เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประยุกต์ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ เข้าถึงผู้เรียน สอดรับกับพฤติกรรมออนไลน์ที่ต่างจากในชั้นเรียนจริง รวมถึงการเคารพความเป็นส่วนตัวของทุกคนบนโลกออนไลน์ ที่รวมแล้วจะเป็น “จุดสมดุล” ที่ทำให้ผู้สอนและผู้เรียนเกิดความพึงพอใจมากที่สุด