posttoday

การแก้ปัญหาระบบซับซ้อนเชิงรุก

30 สิงหาคม 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ปัญหา ผลกระทบ

เพราะโลกเปลี่ยนแปลง อ่อนไหว ซับซ้อน และคลุมเครือ เอไอยุคดิจิทัลพัฒนาอย่างไปไกลอย่างก้าวกระโดด โควิด-19 ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ไม่แน่นอน กำลังซื้อในตลาดลดลง พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม มีความละเอียดในการจับจ่ายมากขึ้น องค์กรธุรกิจไม่ว่าทั้งภาครัฐหรือเอกชนกำลังเร่งปรับกระบวนการทำงานใหม่ ทั้งการลงทุนในด้าน Digital Transformation การเน้นทำตลาดออนไลน์ การไลฟ์สดขายสินค้ามากขึ้น ขยายฐานลูกค้าและหากลุ่มลูกค้าใหม่ รวมทั้งการทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงบนฐานของข้อมูลลูกค้าเชิงลึก หรือการทำ CSR ร่วมกับภาครัฐ และการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อยกระดับการบริการที่ดียิ่งขึ้นและครอบคลุมมากกว่าเดิม ทั้งนี้ เพื่อใส่ใจและให้ความมั่นใจแก่ลูกค้า

เพราะการทำงานคือการแก้ปัญหา ปัญหาคือความท้าทาย ปัญหาใดๆ มันไม่เคยมาเดี่ยว มันทับซ้อนกันมาอย่างสลับซับซ้อน อีกทั้งการจัดการกับปัญหา เราไม่สามารถคอยแต่จะตั้งรับได้ ในการที่องค์กรจะรับมือกับปัญหานั้น องค์กรจำเป็นต้องสร้างทุนมนุษย์ขึ้นใหม่ ต้นทุนดังกล่าวก็เพื่อ การแก้ปัญหาระบบซับซ้อนเชิงรุก ซึ่งประกอบคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการคือ

  1. การพัฒนาศักยภาพทีมงานเชิงรุก
  2. การพัฒนาแนวคิดระบบเชิงซ้อน

การพัฒนาศักยภาพทีมงานเชิงรุก

เมื่อพูดถึงการพัฒนาศักยภาพ โดยทั่วไปเรามักหมายถึงการพัฒนาขีดความสามารถที่แสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ศักยภาพมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น มันคือแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่น คุณสมบัติดังกล่าวมาจากฐานของทัศนคติและกรอบความคิดเชิงบวก

จากมุมมองดังกล่าว ศักยภาพจึงมาจากกรอบความคิด กรอบความคิดคือภาพ มันคือภาพในใจ มันคือภาพที่ตนมีอำนาจเหนือ มันอยู่ในอำนาจที่เราสร้างขึ้นมาเองได้ และกรอบความคิดดังกล่าวจะเหนี่ยวนำไปสู่แรงขับเคลื่อนภายใน มีความคล่องตัว ว่องไว รวดเร็ว ปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น และผลักดันออกมาเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนว่าบุคคลคนนั้นมีศักยภาพเพียงใด

ดังนั้น เมื่อพูดถึงศักยภาพ โดยความหมายที่แท้แล้ว จึงต้องเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด ที่สำคัญและเป็นความท้าทายอย่างยิ่งก็คือ ทำอย่างไรทีมงานจึงจะสามารถสร้างภาพเป้าหมายเดียวกัน เป็นภาพเดียวกัน เพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว

ดังนั้น การเล่นเชิงรุก โดยความหมายก็คือ ความสามารถที่บุคคลจะมองไปข้างหน้า และคาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างไร แล้วเอามาตั้งคำถามว่า ในปัจจุบันเราควรจะทำอะไร เพื่อป้องกันหรือรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น นี่คือความหมายของการเล่นเชิงรุก

ดังนั้น องค์กรที่ประสบความสำเร็จ บุคลากรต้องกล้าที่จะเปลี่ยน ด้วยการคิดนอกกรอบ มีมุมมองและแนวคิดใหม่ๆ เพื่อมาปรับแนวคิด ทัศนคติ และวัฒนธรรมในองค์กรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสามารถมองภาพสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แล้วกลับเอามาแปลงเป็นขั้นตอนงานต่างๆ เพื่อการรับและป้องกันความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การแก้ปัญหาระบบซับซ้อนเชิงรุก

การพัฒนาแนวคิดระบบเชิงซ้อน

นอกจากการพัฒนาศักยภาพเชิงรุกแล้ว ในการรับมือกับปัญหา จำเป็นต้องใช้แนวคิดเชิงระบบและการมองภาพเชิงองค์รวม โดยเห็นความจริงว่าระบบคือ ภาวะองค์รวมที่เกิดจากการเชื่อมโยงขององค์ประกอบ ภาวะใหม่ที่เกิดขึ้นนี้สามารถแสดงคุณสมบัติที่แตกต่างจากองค์ประกอบเดิม (เมื่ออยู่อย่างแยกส่วน) ระบบที่ต่างกันก็เกิดจากการเชื่อมโยงที่แตกต่างขององค์ประกอบที่หลากหลาย

ทางออกของปัญหาก็เช่นกัน มันคือระบบที่เกิดจากการเชื่อมโยงของตัวแปรต่างๆ ทางออกอย่างสร้างสรรค์ก็เกิดจากการเชื่อมโยงที่หลากหลายของตัวแปรที่แตกต่าง

ที่สำคัญ ทุกปัญหาเป็นระบบซ้อนระบบ เป็นปัญหาทับซ้อนปัญหาอย่างเป็นลำดับชั้น ดังนั้น ในการแก้ปัญหาหรือการบริหารโครงการใดๆ จำเป็นต้องแตกโครงการดังกล่าวเป็นขั้นตอนย่อยๆ ว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นลำดับชั้น และด้วยการเชื่อมโยงที่แตกต่างและหลากหลายขององค์ประกอบในแต่ละระดับชั้น เพื่อให้ออกมาเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานที่แตกต่าง เพื่อสร้างทางเลือกที่มีคุณค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ เพื่อบริหารโครงการให้สำเร็จหรือแก้ปัญหาให้ลุล่วง

เพราะโลกไม่เคยหยุดหมุน การพัฒนาไม่เคยหยุดนิ่ง องค์กรธุรกิจจึงต้องปรับตัว ยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เพื่อสร้างคุณค่าและความพึงพอใจให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อความอยู่รอดขององค์กรอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ มันจะเป็นจริงได้ องค์กรจำเป็นต้องพัฒนาทุนมนุษย์ ด้วยการพัฒนาศักยภาพทีมงานเชิงรุก มีความคล่องตัว มีอำนาจในการตัดสินใจ สามารถปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นผ่านการเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ อีกทั้ง ต้องพัฒนามุมมองเชิงระบบและการมองภาพเชิงองค์รวมที่เห็นความจริงว่า ทุกปัญหามีความสลับซับซ้อนกันอย่างเป็นลำดับชั้น

ดังนั้น ในการจัดการกับความท้าทายใดๆ จำเป็นต้องแตกโครงการดังกล่าวเป็นขั้นตอนย่อยๆ ว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร อย่างเป็นลำดับชั้น ตรงนี้เองที่องค์ความรู้ได้เกิดขึ้น และที่สำคัญคือ ต้องนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาสร้างให้เกิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กันในทีมงานด้วยการสื่อสารด้วยใจที่เปิดกว้าง