posttoday

กุมารแพทย์แนะทิปส์เสริมพัฒนาการลูกน้อยในวิถี New Normal

30 พฤษภาคม 2564

กุมารแพทย์แนะนำวิธีการเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยในวิถี New Normal พร้อมเผยเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติในการพัฒนาทักษะต่างๆ ตามช่วงวัย

การดูแลพัฒนาการสำหรับลูกน้อยถือเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาทอง หรือ Golden Period สำหรับพัฒนาการทางด้านสมองและสติปัญญาที่มีส่วนสำคัญในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันที่ส่งผลให้การออกนอกบ้านเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมีความกังวลและประสบกับข้อจำกัดถึงวิธีการในการเลี้ยงดูลูกน้อยเพื่อการมีพัฒนาการและทักษะที่ดี ด้วยเหตุนี้ Dodolove (ดูดู เลิฟ) แบรนด์กางเกงผ้าอ้อมยอดนิยม จึงได้เชิญ พญ. พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์จากเพจเรื่องเด็กๆ by หมอแอม มาร่วมไขข้อข้องใจและแนะนำเทคนิคการเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยง่ายๆ ในวิถีนิวนอร์มัล พร้อมชวนช้อปผลิตภัณฑ์ของใช้จำเป็นในราคาพิเศษให้เจ้าตัวน้อยในแคมเปญ Shopee 6.6 Greatest Brands Celebration

กุมารแพทย์แนะทิปส์เสริมพัฒนาการลูกน้อยในวิถี New Normal

พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์จากเพจเรื่องเด็กๆ by หมอแอม กล่าวว่า “การดูแลเลี้ยงลูก และได้เฝ้ามองลูกๆ เติบโตถือเป็นประสบการณ์ที่สร้างความสุขและความท้าทายไปพร้อมๆกันสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เด็กในแต่ละช่วงอายุจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลัก คือ การเลี้ยงดู พันธุกรรม และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่ทารกแรกเกิดถึง 12 เดือนเป็นช่วงที่ปัจจัยดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการทางร่างกาย สมองและอารมณ์เป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ”

กุมารแพทย์แนะทิปส์เสริมพัฒนาการลูกน้อยในวิถี New Normal

เข้าใจกลไกการเรียนรู้แต่ละช่วงวัย เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการอย่างเหมาะสม

ทารกแรกเกิด: ในวัยทารกแรกเกิดเป็นช่วงที่ทารกต้องปรับตัวอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นระบบประสาทต่างๆ ให้ทารกได้คุ้นเคยกับโลกใบใหม่ การนวด ใช้นิ้วไต่ตามแขนและขา และโอบกอดทารกอย่างนุ่มนวลเป็นประจำจะเป็นการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสและช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย เนื่องจากทุกครั้งที่มีการโอบกอดสัมผัส ร่างกายจะหลั่งสาร Oxytocin (ฮอร์โมนแห่งความรัก) ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย และยังช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนมของคุณแม่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ วัยทารกแรกเกิดเป็นวัยที่สายตายังมองเห็นได้ไม่เต็มที่ สามารถมองเห็นเพียงแค่ในระยะ 1 ฟุต คุณพ่อคุณแม่จึงควรกระตุ้นการมองเห็นของลูกด้วยการจ้องมองตาอยู่เป็นประจำ หรือหาของเล่นสีสดอย่างเช่นลูกบอลเล็กๆ สีแดง ให้ลูกฝึกมอง จะเป็นการช่วยกระตุ้นระบบประสาทและการมองเห็นของลูกได้ดี

1 - 4 เดือน: ทารกช่วง 1-4 เดือน เป็นช่วงที่เริ่มมีการพัฒนาของระบบประสาทและการมองเห็น การได้ยิน มีปฏิกิริยาโต้ตอบ อย่างเช่นการชันคอและหลัง ยิ้ม หัวเราะ มองหาเมื่อเวลาคุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่ รวมถึงเริ่มมีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมซึ่งจะเห็นได้จากการนอนหลับและการรับประทานอาหารที่เริ่มเป็นเวลามากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นพูดคุย ฝึกการได้ยินและชันคอ โดยการให้ลูกนอนคว่ำ หาของเล่นที่มีเสียงกรุ๋งกริ๋งมาชูเหนือศีรษะให้ลูกพยายามชันคอขึ้น หรืออุ้มลูกหันหน้าเพื่อมองสบตากัน พร้อมเอียงหน้าไปมาช้าๆ เพื่อให้ลูกมองตาม 

5 - 8 เดือน: ในวัย 5-8 เดือน เจ้าตัวน้อยจะมีพัฒนาการเรื่องการนั่งและการกิน เนื่องจากเป็นวัยที่กล้ามเนื้อหลังเริ่มแข็งแรง คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญในการฝึกให้ลูกนั่งกินข้าวร่วมกับครอบครัว นั่งทำกิจกรรม เล่นของเล่น โดยให้ลูกได้ลองจับของเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสแตกต่างกัน อาทิ น้ำ บล๊อกไม้ ของเล่นยางนิ่มๆ สีสันสดใส ก้อนไหมพรม เป็นต้น

สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษในวัยนี้คือเจ้าตัวน้อยบางรายอาจมีพฤติกรรมโยนขว้างสิ่งของ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือห้าม แต่ควรหาพื้นที่ที่ปลอดภัยหรืออุปกรณ์เสริมให้ลูกเล่น อย่างเช่น การขว้างของเล่นให้ลงตะกร้า เพราะนอกจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวแล้ว ลูกๆ ยังได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

9 - 12 เดือน: ลูกน้อยจะเริ่มทรงตัวเพื่อหัดยืน เดิน และเป็นนักสำรวจตัวน้อย พัฒนาการของวัยนี้จะเรียนรู้จากการได้ลองทำด้วยตัวเอง ดังนั้นสิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมคือพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกได้เล่นสำรวจอย่างเต็มที่ และควรระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ อย่างเช่น ปิดรูปลั๊กและครอบพัดลมป้องกันไม่ให้ลูกเอานิ้วแหย่ ปิดสันขอบโต๊ะเพื่อป้องกันไม่ให้หัวลูกกระแทก เก็บสายระโยงระยาง รวมถึงทำรั้วกั้นบันไดเพื่อป้องกันลูกตกบันไดและอุบัติเหตุอื่นๆ

เมื่อมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกได้เล่นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมเล่นกับลูก โดยเน้นการเคลื่อนไหวของแขนขา อย่างเช่น การฝึกให้ลูกเกาะคอกเดิน เกมคลานเก็บของเล่น หรือการเล่นน้ำในสระยางเพื่อให้ลูกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

กุมารแพทย์แนะทิปส์เสริมพัฒนาการลูกน้อยในวิถี New Normal

เคล็ด (ไม่) ลับเสริมพัฒนาการลูกน้อย เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน

  1. กำหนดเวลาให้ชัดเจน เคล็ดลับพื้นฐานข้อแรก คือ คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ของลูกให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเวลาตื่นนอน เวลารับประทานอาหาร และเวลาเล่น นอกจากจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่บริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างวินัยเชิงบวกให้ลูก
  2. ใส่ใจเรื่องโภชนาการ ในช่วงกักตัว คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักสั่งอาหารจากร้านอาหารนอกบ้านมารับประทาน จึงควรระมัดระวังเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และหลีกเลี่ยงผงชูรส อาหารที่ใส่ผงชูรสหรือมีรสจัด อาจส่งผลให้ไตของลูกน้อยทำงานหนักเกินไป
  3. เอ็นจอยกับกิจกรรมภายในบ้านร่วมกัน เด็กเล็กเป็นวัยที่กำลังมีพลังงานมาก และเมื่อพวกเขาไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นเพื่อนเล่นและหากิจกรรมง่ายๆ ที่ลูกสามารถมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้เคลื่อนไหว เสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกายทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและใหญ่ รวมถึงช่วยฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ อย่างเช่น รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง ล้างจาน หรือเช็ดโต๊ะ
  4. อย่ามองข้ามเสื้อผ้าและกางเกงผ้าอ้อม เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ใส่ง่าย ทำให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกันกับการเลือกกางเกงผ้าอ้อมที่ควรเลือกเนื้อผ้าที่อ่อนนุ่ม ซึมซับและระบายอากาศได้ดี เนื่องจากผ้าอ้อมที่หนาจะทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว งอแงหงุดหงิดง่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ทั้งการพลิกตัว การคลานเดิน รวมถึงการนอนหลับที่ไม่เต็มที่ ที่จะส่งผลต่ออารมณ์และพัฒนาการการเรียนรู้ของลูกได้เช่นกัน