posttoday

องค์กรจะยั่งยืน มิใช่แค่การปรับเปลี่ยน (Change) แต่มันต้องปฏิรูป (Transformation) ตอนที่ 3

19 เมษายน 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

องค์กรจะยั่งยืน มิใช่แค่การปรับเปลี่ยน (Change)แต่มันต้องปฏิรูป (Transformation) ตอนที่ 3

เพราะโลกเปลี่ยนแปลง อ่อนไหว ซับซ้อน และคลุมเครือ โลกเอไอ ยุคดิจิทัลพัฒนาอย่างไปไกลอย่างก้าวกระโดด องค์กรธุรกิจ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนจึงต้องเร่งปรับตัว แต่ด้วยกระบวนการหาความรู้ในปัจจุบันมีความแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น นำมาสร้างข้อจำกัดที่ปิดกั้นตัวมันเอง ไม่สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ องค์กรยุคใหม่จึงต้องปรับกระบวนการทำงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว โดยเน้นที่ผลลัพธ์เป้าหมายความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างคุณค่า สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้เสีย แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ องค์กรจำเป็นต้องสร้างทุนมนุษย์ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจโดย

1. ทุกความท้าทายเป็นปัญหาเชิงซ้อนไม่มีปัญหาใดที่เข้ามาเดี่ยวๆ ทุกปัญหาคือระบบที่เกิดจากการเชื่อมโยงของมิติต่างๆ ที่หลากหลาย ทุกปัญหาจึงมีความเป็นระบบเชิงซ้อน มันเป็นปัญหาทับซ้อนปัญหา และส่งผลซึ่งกันและกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ การจะเข้าใจปัญหา เราจึงต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของมันว่า ทุกปัญหามีความเป็นระบบที่ทับซ้อนกันทั้งแนวราบและแนวลึกอย่างลึกซึ้ง การจัดการกับปัญหาจึงต้องก้าวข้ามจากมุมมองในลักษณะเส้นตรง เชิงเดี่ยว แยกส่วน มาเป็นการแก้ปัญหาด้วยมุมมองของการสร้างการเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่าง

2. องค์กรที่ยั่งยืนต้องมี “นวัตกรรม”องค์กรที่เข้มแข็งต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ องค์กรแห่งนวัตกรรมที่สามารถสร้างสรรค์ความคิดที่แตกต่าง ที่แปลกใหม่ได้ด้วยตนเอง บนฐานของแนวคิดเชิงระบบที่ว่า ปัญญา องค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ใดๆ รวมทั้งนวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ เกิดจากการเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่าง

3. ทีมงานต้องเข้มแข็งองค์กรจะยั่งยืนได้ ทีมงานต้องเข้มแข็ง ความเข้มแข็งจะเป็นจริงได้ ทีมงานต้องอยู่บนฐานของความเข้าใจ ความไว้วางใจ ความมีศรัทธาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเปิดใจกว้าง รับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ โดยเห็นคุณค่าในความแตกต่าง การเห็นคุณค่าระหว่างกันนี้เองเป็นต้นทางสำคัญของการสร้างพลังร่วม เพื่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และการที่บุคคลจะเห็นคณค่าในความต่างได้นั้น บุคคลคนนั้นต้องเห็นคุณค่าตนเองก่อนเสมอ การเห็นคุณค่าตนเองนี้เองเป็นหัวใจสำคัญของความมั่นคงทางอารมณ์ ความเข้มแข็งภายใน มีภูมิต้านทาน ดังนั้น องค์กรที่ยั่งยืน บุคคลจึงต้องเห็นคุณค่าตนเอง และเห็นคุณค่าในความแตกต่าง 

4. ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องเห็น “คุณค่ามนุษย์”ภาวะผู้นำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นำได้การยอมรับจากคนรอบข้าง และการยอมรับจากคนรอบข้างจะเกิดขึ้นได้ เขาเหล่านั้นต้องได้รับการยอมรับจากผู้นำเสียก่อน การยอมรับที่ว่านี้คือ การยอมรับในคุณค่าของตัวตน มันคือ การมองคนให้เป็นมนุษย์ ดังนั้น ผู้นำนอกจากจะมีตำแหน่งแล้ว ยังต้องเห็นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วย จึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ

ประเด็นความท้าทายต่างๆ เหล่านี้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและเป็นตัวปิดกั้นมิให้การพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ท่านคิดว่าอะไรคือรากของปัญหา อะไรทำให้องค์กรแตกต่างกัน แล้วท่านจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร ท่านจะนำความเข้าใจดังกล่าวไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงนำองค์กรสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

ดังนั้น ในยุคของความผันผวน เพื่อความอยู่รอด แนวทางการพัฒนาองค์กรจึงจำเป็นต้องปฏิรูปเสียใหม่ว่า การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนต้องสามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อน สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ มีทีมงานที่เข้มแข็ง โดยมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เห็นคนเป็นมนุษย์