posttoday

การพัฒนาศักยภาพในการนำตนเองเชิงรุก

15 กุมภาพันธ์ 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ปัญหาทรัพยากรมนุษย์ในไทยกำลังวิกฤต

ว่าไปแล้วงานในตลาดมีเหลือเฟือ แต่คนตกงานเยอะ เพราะเราไม่ได้ขาดแรงงาน แต่เราขาดคนที่มีคุณภาพ มีศักยภาพต่างหาก และมีผลอย่างยิ่งต่อภาวะการแข่งขันและความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจในทุกภาคส่วน รวมทั้งภาวะของเศรษฐกิจของไทยในอนาคต เพราะอะไร

1. เด็กไทยเกิดแต่น้อย แต่ยังด้อยคุณภาพ เด็กไทยเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปีละ 800,000 คน เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ลงมาเหลือ 550,000 คนต่อปีในปัจจุบัน คือลดลงกว่า 30% และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ ยังด้อยคุณภาพด้วย

2. ในทางตรงข้าม คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจึงเพิ่มขึ้น อีกทั้งจำนวนคนในวัยแรงงานกำลังถึงจุดสูงสุด และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

3. คุณภาพการศึกษายังไม่ได้รับการพัฒนา แต่กลับลดต่ำลง คนมีศักยภาพลดลง ใบปริญญาเริ่มหมดความหมาย แต่หน่วยงานกลับให้ความสนใจกับความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อนาคต  สถาบันการศึกษา โรงเรียน จะลดความสำคัญลง

4. ความรู้ในปัจจุบันเป็นความรู้ที่พัฒนามาแต่ในอดีต ปัจจุบันล้าสมัย และส่วนใหญ่ก็ก๊อปปี้เขามา เราจึงต้องพึ่งความรู้ เทคโนโลยีคนอื่น ต้องลอกเลียนแบบคนอื่น เพราะระบบการศึกษาและกระบวนการพัฒนาที่มีอยู่ในบ้านเราไม่ได้สอนให้คิด แต่ส่วนใหญ่สอนให้จำ บุคลากรส่วนใหญ่จึงคิดเองไม่ได้ คิดไม่เป็น จึงแก้ปัญหาไม่เป็นระบบ โดยเฉพาะปัญหาเชิงซ้อน อีกทั้ง ไม่ได้ฝึกการคิดเชิงองค์รวม จึงขาดการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ จึงขาดนวัตกรรมที่แตกต่าง ที่แปลกใหม่ ที่เป็นของตนเอง

5. ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เอไอ ที่เติบโตในอัตราเร่ง และมันจะมาแทนที่คนในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะมันมีประสิทธิภาพสูงกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า และแน่นอนด้วย

ทั้งหมดนี้ เป็นตัวเร่งให้ปัญหาทรัพยากรบุคคลในไทยกำลังถึงจุดวิกฤติและถดถอย ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ และมีผลกระทบต่อความอยู่รอดขององค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงในอนาคต

การพัฒนาศักยภาพในการนำตนเองเชิงรุก

แล้วเราต้องเตรียมคนอย่างไร

ที่ผ่านมากว่า 20 ปี เศรษฐกิจไทยยังพอไปได้ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะเรามาจากฐานที่ต่ำ แต่เมื่อจุดๆ หนึ่ง มันตัน ไปต่อไม่ไหว เพราะขาดองค์ความรู้และศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง ทั้งนี้ เราต่างตระหนักดีว่า เราต้องปรับตัว องค์กรส่วนใหญ่ก็กำลังพยายามอยู่ แต่ก็ยังหลงทาง หรือที่พอจะทำได้บ้าง แต่ก็ไม่เต็มที่ องค์กรต่างๆ จึงเหมือน “ติดกับดัก” บนฐานของศักยภาพที่ตีบตัน จึงเป็นหน่วยงานในลักษณะแบบกลางๆ ไม่สามารถก้าวข้ามพ้นขีดจำกัดของตนเองได้ จึงไปต่อไม่ไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระบาดอย่างไม่คาดคิดของไวรัสโควิด 19 สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง แล้วเราจะรับมือกับความท้าทายที่สำคัญนี้อย่างไร เรารู้ว่าจะต้องพัฒนาศักยภาพ แต่จะพัฒนาอะไร อย่างไร จึงจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันเชิงรุก เพื่อความอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน หนึ่งในคำตอบคือ การพัฒนาศักยภาพในการนำตนเองเชิงรุก

การพัฒนาศักยภาพในการนำตนเองเชิงรุก

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกตอบสนอง นั่นคือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าเราจะโต้ตอบอย่างไร เพราะการตอบสนองใดๆ  มันล้วนมาจากกรอบความคิดตนเอง กรอบความคิดเปลี่ยนได้ และตนมีอำนาจเหนือมัน ดังนั้น การตอบสนองใดๆ ในรูปของพฤติกรรม มันจึงมาจากการเลือกของตนเองทั้งสิ้น (ถึงแม้เลือกที่จะไม่ทำอะไร ก็ถือเป็นการเลือกอย่างหนึ่ง)

ความสามารถในการเลือกนี้เองคือ อำนาจ อำนาจดังกล่าวคือ ความเป็นอิสระ คืออิสระจากแรงกดดันภายนอก อิสระจากข้อจำกัดภายนอก บุคคลประเภทนี้จะไม่บ่น จะไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย ไม่โทษโน่นนี่นั่น หรือโทษใคร หรืออ้างเหตุภายนอกว่าเป็นสาเหตุ นั่นคือ เขาจะไม่เอาข้อจำกัดภายนอกมากำหนดชะตาชีวิตตนเอง เพราะถ้าทำอย่างนั้น นั่นเท่ากับว่า ตนกำลังพาเอาตนเองเข้าไปอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนแอ ความอ่อนด้อย ความไร้สมรรถภาพ แต่จะตระหนักว่า ตนอยู่เหนือสถานการณ์นั้นๆ เพราะเรามีอำนาจเหนือมัน ตนจึงไม่กวัดแก่วงไปตามกระแส จะไม่ยอมให้มันมามีอิทธิพลเหนือตนเอง แต่จะดูว่าตนมีทางเลือกอะไรบ้างที่พอจะทำได้ในสถานการณ์ดังกล่าว และไม่ว่าจะเกิดผลอะไรที่ตามมา ตนก็พร้อมที่จะรับผิดชอบ

ภาวะนี้เองคือ ศักยภาพสูงสุด มันคือ ความสามารถในการนำตนเอง เพราะนำตนเองได้ จึงปรับตัวได้ และด้วยสามารถในการคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ตนจึงสามารถสร้างทางเลือกได้หลากหลาย เพื่อรองรับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ความสามารถในการปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นล่วงหน้านี้เอง บุคคลจึงเล่นเชิงรุกได้

การเล่นเชิงรุกจึงมิได้มีความหมายเพียงแค่ว่าคิดไปได้ไกล คิดไปข้างหน้า หรือขยัน เอางานที่จะถึงกำหนดในวันข้างหน้ามาทำวันนี้เท่านั้น แต่มันคือการตระหนักถึงศักยภาพภายในที่ตนมี รู้ว่าตนมีอำนาจในการเลือกว่าจะตอบสนองต่อสถานการณ์ข้างหน้านั้นๆ อย่างไร และใช้ให้เป็น เพื่อรับมือกับปัญหา แก้ปัญหาได้อย่างทันการณ์ และด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง หากว่าผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาด ตนก็รู้ว่ามันพลาดที่ตรงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมองว่านั่นคือ กระบวนการเรียนรู้ แล้วจะหาทางปรับแก้ไขอย่างไร เพื่อทางออกที่ดีกว่า

ดังนั้น ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ด้วยข้อจำกัดอย่างไรก็ตาม ขอให้เข้าใจว่า ตนมีศักยภาพในการนำตนเอง นั่นคือ เรามีอำนาจในการเลือกที่จะเล่นเชิงรุก เล่นเชิงบวกได้

การพัฒนาศักยภาพในการนำตนเองเชิงรุก

ในสถานการณ์ที่โลกมีความผันผวนสูง จากความท้าทายด้านจำนวนวัยแรงงานที่ลดลง การศึกษาและกระบวนการพัฒนาก็ขาดคุณภาพ องค์กรขาดกระบวนการคิดเพื่อการแก้ปัญหาเชิงซ้อน และไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แตกต่าง ที่แปลกใหม่ อีกทั้งเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในอัตราเร่ง องค์กรจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับศักยภาพบุคลากรให้ก้าวข้ามพ้นขีดจำกัดอันเกิดจาก “กับดัก” กับดักดังกล่าวก็คือ กรอบความคิด (Mindset) ของตนเองนั่นเอง ข้อจำกัดต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ตนสร้างขึ้นเองทั้งสิ้น เมื่อเกิดในทางลบ ตนและองค์กรจึงตีบตัน แต่หากเป็นไปในทางบวก บุคคลย่อมพัฒนาความสามารถในการนำตนเองและเล่นเชิงรุกได้ เมื่อนั้น องค์กรก็มีโอกาสเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

ภาพ Freepik