posttoday

ต้องปรับอะไร...ถ้าอยากให้องค์กรชนะ!!

08 กุมภาพันธ์ 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ท่ามกลางโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ซับซ้อน และคลุมเครือ โดยเฉพาะเทคโนยีที่ล้ำสมัยอย่างก้าวกระโดด สร้างภาวะการแข่งขันสูง ในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ องค์กรต้องปรับตัวเพื่อเอาชนะอุปสรรค เพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะการมาของโควิด 19 รอบสอง หลายธุรกิจต้องสะดุดยาว บางแห่งเอาชนะปัญหาเหล่านี้และยังพอไปต่อได้ หลายองค์กรไปต่อไม่ไหว ต้องล่มสลายพ่ายแพ้ในที่สุด

ท่านคิดว่าอะไรทำให้องค์กรเหล่านี้แตกต่างกัน ทำไมองค์กรจึงประสบความสำเร็จต่างกัน เราบอกว่าต้องปรับตัว ถามจริงๆ ว่า เราต้องปรับอะไร ปรับอย่างไร

หลายคนบอกว่าต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ หาช่องทางใหม่ๆ บ้างก็ปรับยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่บ้างก็ปรับวิธีการทำตลาดใหม่ หากลุ่มเป้าหมายใหม่ บางแห่งเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ที่แตกต่าง บ้างก็ว่าต้องปรับรูปแบบและกระบวนการทำงานใหม่ มันต้องเร็วขึ้น และเกือบทุกแห่ง พูดถึงการใช้เทคโนโลยี เอาแนวคิดดิจิทัล เข้ามาช่วย

ความคิดการปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรผิด แต่มันเป็นเพียงแค่การบริหารจัดการ แต่เมื่อถามว่าแล้วต้องทำอะไร ต้องทำอย่างไร มันท้าทายมาก และไม่ว่าเรามีแผนยุทธศาสตร์ดีเลิศอย่างไร ยังไงมันต้องทำผ่านคน เมื่อพูดถึงคน มันมีคุณสมบัติอีกกลุ่มหนึ่งที่เรามองข้ามไป นั่นคือ ทักษะชีวิต ทักษะที่ว่านี้จริงๆ แล้ว มันคืออะไร แล้วเราต้องปรับอย่างไร จึงจะเอามาเสริมความสามารถด้านการจัดการ เพื่อสร้างองค์กรให้ชนะ สามารถผ่านพ้นภาวะยากลำบาก เพื่อคงธุรกิจให้มั่นคงได้อย่างยั่งยืน

ต้องปรับอะไร...ถ้าอยากให้องค์กรชนะ!!

เมื่อพูดถึงทักษะชีวิตเพื่อสร้างองค์กรให้ชนะ มันมีคุณสมบัติที่ต้องพิจารณา ต่อไปนี้

1. การนำตนเองเชิงรุกไม่ว่าเราจะมียุทธศาสตร์ที่เลิศล้ำอย่างไร บุคลากรสำคัญที่สุด และคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของความเป็นคนคือ การนำตนเอง แต่ที่เป็นปัญหาทุกวันนี้คือ บุคลากรไม่สามารถนำตนเองได้ ไม่สามารถพัฒนาและขับศักยภาพออกมาได้อย่างที่ควรจะเป็น ไม่เล่นเชิงรุก เล่นตามน้ำ ขาดความเป็นอิสระจากปัจจัยภายนอก

ทางออกคือ ต้องเข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนใดๆ ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน โดยการปรับทัศนคติเชิงบวก ด้วยการเปลี่ยนกรอบความคิดอันเป็นภาพความสำเร็จ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แรงขับเคลื่อนภายใน ความมุ่งมั่น โดยเฉพาะทีมงานต้องมีภาพเป้าหมายเดียวกันที่ชัดเจน เพื่อไปในแนวทางเดียวกัน

2. การแก้ปัญหาเชิงซ้อนงานทุกวันคือการแก้ปัญหา ในการรับมือกับปัญหา เราต้องใช้ความรู้ แต่บ่อยครั้งที่เราแก้ปัญหาไม่ตก เพราะคิดไม่เป็นระบบ จึงขาดกระบวนการเรียนรู้ ขาดทางเลือกที่หลากหลาย ไม่รู้ว่าอะไรสำคัญ จับประเด็นไม่ได้ จัดลำดับความสำคัญก็ไม่ถูก ไม่เป็นขั้นเป็นตอน

ทางออกคือ การพัฒนามุมมองเชิงระบบ เห็นธรรมชาติของระบบซ้อนระบบ สร้างองค์ความรู้ผ่านการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นภาพรวม ด้วยการจับประเด็นและการเชื่อมโยงของประเด็นเหล่านั้นที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นลำดับชั้น เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ สร้างทางเลือกที่หลากหลาย

3. การสร้างองค์กรนวัตกรรมในการรับมือกับความท้าทายที่ผ่านเข้ามาอย่างต่อเนื่อง องค์กรจำเป็นต้องมีความคิดที่แตกต่าง ที่แปลกใหม่ แต่ปัจจุบันพบว่า บุคลากรยังยึดติดอยู่กับกรอบความคิดเดิมๆ ภาพความสำเร็จเก่าๆ ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ขาดมุมมองที่แปลกใหม่ ไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ ขาดการมองภาพเชิงองค์รวม อีกทั้งยังยึดติดอยู่กับคำตอบเดียวที่ดีที่สุด ทางออกของปัญหาก็คับแคบ

ทางออกคือ การคิดอย่างเป็นต้นฉบับบ ไม่ซ้ำใคร ด้วยการพัฒนามุมมองเชิงองค์รวม โดยสร้างการเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่าง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ เพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า เพื่อสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมที่ยั่งยืน

4. การปรับฟื้นคืนสภาพตนเองโลกเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต จึงเป็นที่มาของความท้าทายต่างๆ ที่ถาโถมเข้าอย่างต่อเนื่อง บางคนเจอเรื่องแย่ๆ แล้วจมดิ่งไปเลย ไม่อาจกลับมาได้ดังเดิม แรงกระทบดังกล่าวย่อมสร้างแรงกดดัน และแสดงออกมาในรูปของอารมณ์ บางคนอ่อนไหว เปราะบาง แกว่งไปตามกระแสโลก ควบคุมตนเองไม่ได้ มักคิดว่าตนเองถูกกระทำ เลยเป็นผู้แพ้ บ่อยครั้งแสดงความหงุดหงิด ชอบเหวี่ยงใส่คนอื่น ใช้อารมณ์ตัดสินปัญหา และนำไปสู่ภาวะถดถอย ท้อแท้ เครียด วิตกกังวล และเป็นตัวฉุดรั้ง ปิดกั้นมิให้บุคคลระเบิดศักยภาพภายในออกมาได้อย่างเต็มที่

ทางออกคือ ต้องรีบพลิกฟื้นตนเองให้กลับคืนสภาพที่เข้มแข็งให้เร็วที่สุด ทั้งนี้จะเป็นจริงได้ ก็โดยการเปลี่ยนตัวฉุดรั้งให้เป็นพลังบวก โดยผ่านการเห็นคุณค่าในตนเอง และมองความพลาดพลั้งเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นคงภายในให้กลับคืนมา มีความหนักแน่น ยืนหยัด ทนทานต่อความท้าทาย สร้างภูมิต้านทานภายในให้เป็นต้นทุนชีวิตที่เข้มแข็ง สามารถปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น กลับมามีความสุข

5. การสร้างทีมงานเข้มแข็งในการทำอะไรให้สำเร็จ เราไม่อาจทำคนเดียวได้ องค์กรจะชนะได้ ต้องเล่นเป็นทีม แต่บ่อยครั้งที่ทีมงานขาดเป้าหมายร่วม ขาดการมีส่วนร่วม ไม่ยื่นมือ ไม่เกื้อกูล การทำงานจึงไปคนละทิศคนละทาง ไม่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน จึงไม่สามารถขับศักยภาพออกมาเสริมกันได้อย่างมีพลังร่วม ทางออกคือ ในการพลิกสถานการณ์เชิงลบเพื่อระเบิดศักยภาพทีมงานได้อย่างมีพลังร่วม บุคคลจำเป็นต้องปรับมุมมองเสียใหม่ มีทัศนคติเชิงบวก คือต้องเห็นคุณค่าในความแตกต่าง ไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง บุคคลจึงจะเปิดใจกว้างรับฟัง เพื่อสร้างความเข้าใจ และการยอมรับกัน เชื่อใจและศรัทธาต่อกัน ทีมงานจึงจะเข้มแข็ง เข้าใจในมุมมองที่แตกต่าง สามารถจัดการกับปัญหาเชิงบวก ลดขัดแย้ง มุ่งเน้นที่ตัวปัญหา

6. การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงเราตระหนักดีว่าโลกขยับปรับเปลี่ยนตลอดเวลา องค์กรจึงต้องปรับตาม ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจุบันพบว่า ความท้าทายของผู้นำองค์กรคือ ยังไม่สามารถสร้างศักยภาพทีมงานและขับออกมาได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถเหนี่ยวนำให้ทีมงานพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ไม่สามารถสร้างทีมงานเข้มแข็ง และเหนี่ยวนำสร้างทีมงานอย่างมีส่วนร่วม จึงไม่สามารถนำองค์กรให้ไปในแนวเดียวกันได้

ทางออกคือ ไม่ว่าองค์กรใด ล้วนต้องการบรรลุเป้าหมายและความยั่งยืน แต่ที่เป็นปัญหาข้างต้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจาก ผู้นำองค์กรมักให้ความสนใจกับเรื่องการพัฒนาด้านการบริหารจัดการ แต่มองข้ามประเด็นสำคัญ นั่นคือ คนคือมนุษย์ มนุษย์มีชีวิต ชีวิตมีความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดคือตัวตน ตัวตนต้องการคุณค่า นั่นคือ บุคลากรต้องการคุณค่า ในรูปของกำลังใจ การให้เกียรติ การยอมรับ ความไว้วางใจ การมอบอำนาจให้ตัดสินใจ ภาวะดังกล่าวจึงจะสะท้อนออกมาว่าตนมีค่า และใครก็ตามที่เห็นฉันมีค่า เธอก็มีค่าเช่นกัน จึงเกิดการยอมรับกัน นั่นคือภาวะผู้นำได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ผู้นำองค์กรต้องปรับมุมมองว่า คนคือมนุษย์ที่ต้องการคุณค่า

ในภาวะที่ผันผวน องค์กรจะชนะและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องนำตนเองเพื่อเล่นเชิงรุก สามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อนอย่างเป็นระบบ สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถพลิกฟื้นตนเองได้แม้ในภาวะยากลำบาก สามารถสร้างทีมงานที่เข้มแข็งด้วยผู้นำที่เห็นคนเป็นมนุษย์