posttoday

อะไรที่คอยฉุดรั้งให้ศักยภาพถดถอย

18 มกราคม 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

หลายคนมีศักยภาพสูง แต่ไม่สามารถขับมันออกมาได้อย่างเต็มที่ แก้ปัญหาไม่เป็นระบบ เล่นไม่เป็นทีม ขาดภาวะผู้นำ องค์กรไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนรวมก็เสียหาย ท่านคิดว่าอะไรฉุดรั้งท่านไว้ อะไรทำให้คนเราแตกต่างกัน แล้วท่านจะขับศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ได้อย่างไร ในการพิจารณาภาวะดังกล่าว มีมุมมองที่ต้องพิจารณาดังนี้

มุมมองที่ 1 ศักยภาพเป็นเรื่องที่ตนกำหนดได้เอง เราต้องเข้าใจก่อนว่าศักยภาพที่แสดงออกมาภายนอกในรูปของพฤติกรรมนั้น มันมาจากกรอบความคิด กรอบความคิดนี้คือตัวตน ตัวตนต้องการคุณค่าและความหมาย หากมองตัวเองในเชิงลบ ศักยภาพที่แสดงออกมาก็ติดลบ ถดถอย แต่หากมองในเชิงบวก ศักยภาพก็ออกมาเป็นบวก มุ่งมั่น โดยนัยดังกล่าว มันให้ความหมายว่า ศักยภาพเป็นเรื่องที่ตนกำหนดได้เอง

มุมมองที่ 2 ความผิดมีสองประเภท ในโลกนี้มีความผิดอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือ ความผิดในลักษณะของความเป็นรูปธรรมซึ่งเป็นความผิดพลาดที่จับต้องได้ วัดได้ เช่น ความพลาดพลั้งจากการที่ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ในขณะที่ความพลาดพลั้งดังกล่าวเกิดขึ้นนั้น เรานำมันมาตีความเป็นความพลาดพลั้งอย่างที่ 2 นั่นคือ ความรู้สึกผิด ความผิดประเภทนี้จับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้ และมันเกิดขึ้นที่ภายในส่วนลึกของจิตใจตนเอง

มุมมองที่ 3 ที่ไม่ถึงฝั่งทุกวันนี้ เพราะเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิด โดยปกติคนเราทำงานใดๆ ก็ตาม ไม่เคยสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ 100% ได้มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกัน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาก็คือว่า เรามักเอาความผิดพลาดจากการที่ไม่ถึงเป้าหมายในเชิงรูปธรรมที่วัดได้นั้นมาสร้างความรู้สึกผิด ภาวะดังกล่าวคือ ภาวะที่เห็นตนเองติดลบ เห็นว่าตนเองใช้ไม่ได้ รู้สึกว่าตนเองไม่เอาไหน ไม่ได้เรื่อง คิดว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น หรือทำไมจึงต่ำกว่ามาตรฐาน โดยรวมก็คือ เห็นตนเองไร้ค่า เมื่อเห็นตนเองไร้ค่าจึงทำให้ภายในตนเองอ่อนแอ เปราะบาง ขาดความมั่นคง ขาดความเชื่อมั่น ขาดภูมิต้านทาน อ่อนไหวไปตามกระแสหรือสิ่งที่เข้ามากระทบ เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตนรู้สึกผิดหวัง รับไม่ได้ จึงเกิดความขัดแย้งภายใน กลายเป็นแรงกดดัน มากๆ เข้าก็เลยคิดมาก วิตกจริต กดดันตนเอง หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ ควบคุมตนเองไม่ได้ แล้วชอบเหวี่ยงใส่คนอื่น ซึมเศร้า และในบางกรณีกลับมาทำร้ายตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพราะตนไปเอาความพลาดพลั้งในเชิงรูปธรรมมาทำร้ายตัวตนของตนเองอย่างเข้าใจผิด ปัญหาของบุคคลจึงเป็นเรื่องของ “ความเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิด” ตรงนี้แหละที่เป็นประเด็น ที่เอาความเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิดมาทำร้ายตนเอง มาทำลายคุณค่าตนเอง และนี่คือสาเหตุหลักที่คอยฉุดรั้งศักยภาพของบุคคลให้ถดถอยและเป็นรากของปัญหาในทุกความสัมพันธ์

อะไรที่คอยฉุดรั้งให้ศักยภาพถดถอย

มุมมองที่ 4 การตีตรา ในบางกรณี ที่ท่านถูกตำหนิ หรือถูกว่ากล่าวตักเตือน แล้วทำให้ตนเองรู้สึกแย่ หมดกำลังใจ ท้อแท้ ไฟในตัวมอดดับ ท่านลองถามตนเองว่าขณะนั้น ใครกันแน่ที่รู้สึกแย่ มันไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นตนเอง แล้วภาวะนั้นมันมาจากไหน ก็มาจากกรอบความคิดเชิงลบที่ตนมีต่อตนเอง มิใช่ใครที่ไหน แต่เรากลับบ่นว่ามาจากบุคคลอื่นภายนอกที่พูดพาดพิง ตำหนิ หรือนินทาเรา เมื่อท่านอยู่ในสภาพนั้น นั่นแสดงว่า ภายในท่านอ่อนไหว ขาดความมั่นคง ขาดภูมิต้านทาน เปราะบาง ไม่สามารถนำตนเองได้ และรับเอาการตีตราจากคนอื่นมากำหนดชีวิตตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ท่านเองนั่นแหละที่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยภายนอกที่ท่านไม่อาจควบคุมได้ ท่านลองถามตนเองลึกๆ อย่างจริงจังว่ามีใครที่ไหนที่สามารถทำให้ท่านรู้สึกแย่ได้จริงๆ หรือ แล้วที่ท่านรู้สึกแย่ทุกวันนี้ มันขึ้นกับความคิดของคนอื่นจริงๆ หรือ หรือว่าท่านไปรับเอาการตีตราจากผู้อื่นมาทำร้ายตนเอง ซึ่งท่านเป็นผู้เลือกเอง ใช่หรือไม่

มุมมองที่ 5 ผลกระทบ จะเห็นได้ว่าการที่บุคคลไม่สามารถขับศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ องค์กรไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนรวมก็เสียหาย และมีประเด็นทางอารมณ์นั้น ล้วนมีรากมาจากความเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิดที่ตนสร้างขึ้นเองทั้งสิ้น และที่สำคัญปมลบดังกล่าว นอกจากสร้างปัญหาให้กับตัวเองแล้ว ยังไปทำลายคุณค่าของคนรอบข้างด้วย เมื่อทำให้คนรอบข้างเขารู้สึกว่าคุณค่าตัวเขาลดลง เขาก็ไม่เห็นความสำคัญของท่านเช่นกัน “เพราะใครก็ตามที่เห็นฉันไม่มีค่า เธอก็ไม่มีราคาเช่นกัน” สถานการณ์เช่นนี้นำไปสู่ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ตนจึงไม่ได้รับการยอมรับ ภาวะผู้นำจึงถดถอย และลดทอนบรรยากาศการทำงานเป็นทีม ขาดการมีส่วนร่วม ทีมงานจึงไม่สามารถขับศักยภาพให้ออกมาเป็นพลังร่วมได้อย่างเต็มที่ และไม่สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน นอกจากนี้ ท่านยังเอาความรู้สึกแย่ๆ นั้นไปสร้างเป็นปมเชิงลบให้กับคนในครอบครัว ทำให้คนที่เรารักพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ความสัมพันธ์ก็เสียหาย และก่อรูปขึ้นเป็นปมลบ ศักยภาพของบุตรหลานก็ถดถอย ความรักความเข้าใจเริ่มจืดจาง สุดท้ายก็ไม่มีความสุข และเป็นปัญหากระทบสืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด

โดยสรุป บุคคลสามารถระเบิดศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่เพื่อสร้างความแตกต่าง เพราะ

  1. รู้จักปรับกรอบความคิดและทัศนคติเชิงบวก มองปัญหาเป็นความท้าทาย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
  2. ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ มองความพลาดพลั้งเป็นการเรียนรู้
  3. ไม่เอาความพลาดพลั้งมาทำลายคุณค่าตนเอง
  4. เห็นคนเป็นมนุษย์ เห็นคุณค่าในความแตกต่าง
  5. ตนจะเป็นอย่างไรขึ้นกับมุมมองของตนเองที่เห็นว่าตนเป็นใครอย่างไร และเป็นอิสระและอยู่เหนือความเห็นของผู้อื่นและปัจจัยภายนอก
  6. การแสดงออกใดๆ มันอยู่ในอำนาจของตนเองว่าจะเลือกตอบสนองอย่างไรให้เหมาะสม