posttoday

การพัฒนาองค์กรเชิงองค์รวมเพื่อก้าวข้ามสู่ความยั่งยืน

11 มกราคม 2564

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ทุกวันนี้โลกมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่แน่นอน และคลุมเครือ ทั้งภาวะเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 ที่กลายพันธุ์ และส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งล็อคดาวน์เต็มรูปแบบและบางส่วน รวมทั้งความสับสนในการจัดการเพื่อรักษาความสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและการพยุงภาวะเศรษฐกิจ วัคซีนที่เป็นคำตอบก็ยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 เดือน กว่าจะเริ่มฉีดและอีก 5-6 เดือนถึงจะครอบคลุมอย่างทั่วถึง อีกทั้งเทคโนโลยี เอไอ หุ่นยนต์ ก็ล้ำสมัยอย่างก้าวกระโดดในอัตราเร่ง ทำอย่างไรจึงจะตามให้ทัน สังคมทุกระดับจึงสั่นคลอน ระบบเดิมก็ล่มสลาย มีทิศทางสู่วิกฤติ การบริหารองค์กรจึงมีความเสี่ยง การปรับตัวจึงรุนแรงเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิดและการเร่งสปีดการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เพื่อความอยู่รอด ใครปรับไม่ทัน ต้องโดนทิ้ง

การพัฒนาองค์กรเชิงองค์รวมเพื่อก้าวข้ามสู่ความยั่งยืน

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง การบริหารจัดการในรูปแบบเดิมๆ ไม่อาจก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้ จำเป็นต้องพิจารณาถึงเป้าหมายสูงสุดองค์กร นั่นคือ ความอยู่รอด แต่จะรอดได้ องค์กรต้องสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น คุณค่าดังกล่าวต้องมาจากบุคลากร การพัฒนาศักยภาพบุคลากรจึงเป็นคำตอบสุดท้าย คำถามที่สำคัญคือ เราต้องพัฒนาบุคลากรด้วยองค์ความรู้อะไรและอย่างไร องค์กรจึงจะมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว คำตอบคือองค์รวม แล้วมันมีความหมายอย่างไร

การพัฒนาองค์กรเชิงองค์รวมเพื่อก้าวข้ามสู่ความยั่งยืน

ประการแรก บุคลากรต้องปรับมุมมองต่อการพัฒนาเสียใหม่ จากเดิมที่เน้นเพียงเพิ่มประสิทธิภาพซึ่งมันดี แต่ไม่พอ มาเป็นการพัฒนามุมมองเชิงยั่งยืนที่จะสร้างองค์กรให้มีการเติบโตอย่างสมดุลต่อเนื่อง

ประการที่สอง การพัฒนาเชิงยั่งยืนจำเป็นต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของความเป็นองค์รวม โดยต้องสร้างความสมดุลของการพัฒนาทั้ง ทักษะด้านการบริหารจัดการ (Technical Skills) และทักษะชีวิต (Soft Skills) เพราะลำพังการพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งไม่อาจสร้างความยั่งยืนได้

ประการที่สาม การพัฒนาเชิงองค์รวมจำเป็นต้องเปลี่ยนที่ฐานรากชีวิต นั่นคือ กรอบความคิดเพื่อระเบิดศักยภาพจากภายในและขับออกมาได้อย่างเต็มที่ มิใช่เพียงแค่การปรับแต่งพฤติกรรมอย่างฉาบฉวย ด้วยการปรับออกจากกรอบความคิดเดิมๆ บุคคลจึงสามารถพลิกฟื้นคืนสภาพตนเองได้ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนภายในตนเองอย่างมุ่งมั่น พึ่งพาตนเองเป็นหลัก สามารถนำตนเองได้เพื่อเล่นเชิงรุก และที่สำคัญ มันให้ความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ

ประการที่สี่ บุคลากรต้องไม่หยุดการใฝ่เรียนรู้ เพื่อพัฒนากระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยพัฒนากระบวนการคิดเชิงระบบ บุคคลจึงสามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อนได้ อีกทั้งการพัฒนามุมมองเชิงองค์รวม บุคคลจึงสามารถพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ที่แตกต่าง เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ จึงจะสามารถสร้างองค์กรให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

ประการที่ห้า บุคลากรต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความเชื่อมั่นในตนเอง หนักแน่น เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว มีภูมิต้านทาน ควบคุมตนเองได้ จึงจะสามารถระเบิดศักยภาพจากภายใน รู้ว่าจะตอสนองอย่างไรให้เหมาะสม ผ่านการเห็นคุณค่าตนเอง

ประการที่หก เพราะบุคลากรหลากหลาย ต่างเจน ต่างวัย ต่างความคิด บุคลากรมีตัวตนสูง จึงมักเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง การทำงานร่วมกันจึงมิใช่ว่าต้องทำทุกคนให้เหมือนเรา แต่ต้องเห็นคุณค่าในความแตกต่าง ด้วยมุมมองดังกล่าว บุคคลจึงต้องเปิดใจกว้างรับฟังความคิดที่แตกต่าง เพื่อสร้างความเข้าใจกัน ไว้วางใจกัน เชื่อใจกัน และศรัทธา นำไปสู่ทีมงานที่เข้มแข็ง

ประการที่เจ็ด การอยู่ร่วมกันเป็นองค์กร จำเป็นต้องเล่นเป็นทีม ทำงานอย่างมีส่วนร่วม ทั้งนี้ บุคลากรต้องมีภาวะผู้นำที่เข้าใจถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน เป็นหนึ่งเดียว อย่างมีเอกภาพ

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้คือศักยภาพของบุคลากรที่แท้จริง เพื่อรับมือกับปัญหาที่มีความท้าทายมากขึ้นทุกวัน ประเด็นสำคัญคือ ท่านจะพัฒนาคุณสมบัติเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะสามารถระเบิดศักยภาพบุคลากรและขับออกมาได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับองค์กร เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และท่านจะนำความเข้าใจดังกล่าวไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส สร้างองค์กรให้เข้มแข็ง มั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริงได้อย่างไร