posttoday

ต่างหน้าที่ ต่างบทบาท ไลฟ์สไตล์ผู้หญิงเก่งยุคใหม่

05 มกราคม 2564

อ่านบทสัมภาษณ์ พ.ต.ต.พญ.เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ (คุณหมอติ๋น) เผยเคล็ดลับสร้างครอบครัวอบอุ่นกับนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับไลฟ์สไตล์หญิงยุคใหม่ วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

โพสต์ทูเดย์ สัมภาษณ์ผู้หญิงเก่งที่ Work-Life-Balance ได้อย่างลงตัว พ.ต.ต.พญ.เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ (คุณหมอติ๋น) ถึงเคล็ดลับสร้างครอบครัวอบอุ่นกับนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับไลฟ์สไตล์และบทบาทที่เปลี่ยนไปของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน..."วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" 

 ต่างหน้าที่ ต่างบทบาท ไลฟ์สไตล์ผู้หญิงเก่งยุคใหม่

พญ.เทพจงจิต อาวเจนพงษ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ เป็นลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นของ พล.ต.อ.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลเจตนิน โรงพยาบาลรักษาผู้มีบุตรยากชื่อดังของเมืองไทย หนึ่งในผู้หญิงที่ต้องสวมหมวกหลายใบ ทั้งในฐานะผู้บริหาร แพทย์ และคุณแม่ลูกสองวัยกำลังซน

 ต่างหน้าที่ ต่างบทบาท ไลฟ์สไตล์ผู้หญิงเก่งยุคใหม่

ความทรงจำและแรงบันดาลใจจากคุณพ่อ...จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางสูตินรีแพทย์

คุณหมอติ๋น เล่าให้ฟังว่า “ตอนที่คุณพ่อก่อตั้งเจตนิน ติ๋นอายุประมาณสัก 10 กว่าๆ ค่ะ แล้วก็กำลังจะไปเรียนที่อังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีความคุ้นเคยกับชีวิตของแพทย์อยู่บ้างแล้ว เพราะก่อนที่จะเปิดโรงพยาบาลเจตนิน คุณพ่อก็เปิดคลินิกยศเสอยู่แถวพระราม 1 ติ๋นก็ได้คลุกคลีอยู่ที่คลินิกมาตั้งแต่เด็ก มาช่วยนับยา มาอยู่แถวนั้นตลอด ฉะนั้น การเปลี่ยนจากคลินิกมาเป็นโรงพยาบาลสำหรับเด็กคนหนึ่งมันก็รู้สึกคล้าย ๆ กัน แค่มันใหญ่ขึ้น ดูดีขึ้น ดูภูมิฐานขึ้น แต่ก็ยังทำเหมือนเดิมคือ การรักษาคนไข้ให้มีลูก มีครอบครัวต่าง ๆ มารับการรักษา ในเวลานั้น สำหรับติ๋นก็ยังดูคล้าย ๆ เดิม แต่ว่าพอโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้เห็น รพ.เจตนินเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วขนาดของโรงพยาบาลก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยจากตอนแรกที่มีตึกข้างหน้าแค่ตึกเดียว ก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนมีตึกที่ 2 ตึกที่ 3 แล้วก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ความรู้สึกของเด็กคนหนึ่งในตอนนั้นมันเป็นแค่ความคุ้นเคยกับชีวิตในวงการแพทย์และชีวิตในคลินิก แต่เมื่อโตขึ้นมา พอเริ่มรู้ว่าสิ่งที่คุณพ่อทำคืออะไร แล้วชื่อเสียงของ รพ.เจตนินก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ความคุ้นเคยก็เปลี่ยนเป็นความภูมิใจ และอยากเป็นหมอเหมือนอย่างคุณพ่อค่ะ”

 ต่างหน้าที่ ต่างบทบาท ไลฟ์สไตล์ผู้หญิงเก่งยุคใหม่

นวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมกับการวางแผนที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

ด้วยไลฟ์สไตล์และบทบาทของผู้หญิงในสมัยนี้ ที่ผู้หญิงให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อความก้าวหน้าและสร้างรายได้ให้กับตัวเองมากกว่าในอดีต สาวๆ หลายคนยังไม่คิดที่จะแต่งงาน หรือหากแต่งก็แต่งงานช้ากว่าสาว ๆ ในสมัยก่อน แต่อนาคตเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย วันหนึ่งอาจจะมีลูกขึ้นมา บางคนก็โชคดีมีลูกง่ายมาก แต่ในบางคนอยากมีลูกแทบตาย ทำอย่างไรก็ไม่มีสักที ปล่อยตามธรรมชาติมานานก็แล้วยังไม่ติด เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นจำนวนและคุณภาพของไข่ในรังไข่จะลดลง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงอายุมากมีบุตรยากกว่าผู้หญิงอายุน้อย คุณหมอติ๋นเล่าถึงขั้นตอนทุกอย่างรวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการดูแลและการรักษาคนไข้ผู้มีบุตรยากให้ฟังว่า

“การเป็นหมอด้านผู้มีบุตรยากนี้ ต้องให้ความเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการดูแลรักษาคนไข้ และต้องมีความละเอียดอ่อน เพราะคนไข้ที่ต้องการจะมีลูกนั้น พวกเขาใช้ความพยายามที่จะมีลูกมาเป็นเวลานาน จึงมีความคาดหวังสูง เพราะสิ่งที่เขาคาดหวังมันเป็นสิ่งสำคัญที่เติมเต็มคำว่า “ครอบครัว” ที่ รพ.เจตนิน ขั้นตอนการดูแลรักษาคนไข้จะเริ่มจากวันแรกที่เจอคนไข้ ต้องมีการตรวจประเมินก่อนเพื่อหาว่าที่คนไข้ไม่มีลูกนั้นไม่มีเพราะอะไร? เพราะมันก็เกิดได้หลายสาเหตุ อาจจะเกิดจากฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง หรือบางทีก็หาสาเหตุไม่ได้ การตรวจ Workup จะทำให้ทราบได้ว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน จะได้แก้ปัญหาถูกค่ะ เมื่อรู้ปัญหาแล้วก็จะพูดคุยกับคนไข้ มีทางเลือกให้คนไข้ ในการดูแลการรักษาที่จะให้มีบุตรนั้นมีแนวโน้มอย่างไรบ้าง มีวิธีไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่เป็นการทำ การฉีดอสุจิ เข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) หรือจะเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) / อิ๊กซี่ (ICSI)  แล้วให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ ข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียง และรวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้ก่อนมาเริ่มการรักษาด้วยค่ะ แล้วพอเราประเมินทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็เข้ากระบวนการรักษาค่ะ”

เทคโนโลยีในการรักษาคนไข้ผู้มีบุตรยาก คนส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยและได้ยินเรื่องการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) / อิ๊กซี่ (ICSI) กันมาบ้าง อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นการกระตุ้นให้ฝ่ายหญิงมีไข่หลาย ๆ ใบ แล้วทำการเก็บไข่ออกมาเพื่อมาผสมกับอสุจิ ให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายของคนไข้ จากนั้นเลี้ยงเป็นตัวอ่อนและย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งในกระบวนการกระตุ้นไข่ก็จะใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน โดยมีการฉีดยากระตุ้นให้มีฟองไข่หลาย ๆ ใบ และในวันเก็บไข่คนไข้ก็มีการได้รับการดมยาสลบจะไม่รู้สึกเจ็บอะไรแล้วก็เก็บไข่ออกมาเพื่อนำไปปฏิสนธิกับอสุจิภายนอกร่างกาย ปัจจุบันเราก็เลี้ยงตัวอ่อน 5 วัน เป็นการเลี้ยงไปจนถึงระยะบลาสโตซิสท์ (ตัวอ่อนระยะนี้จะมีการแบ่งชนิดของเซลล์ออกเป็น 2 ชนิดคือ เซลล์ที่จะเจริญไปเป็นทารก (inner cell mass) และเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นรก) ก่อนที่จะนำไปย้ายไปที่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการฝังตัว จากนั้นก็มีการตรวจติดตามการตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าเกิดคนไข้มีการตั้งครรภ์แล้ว การดูแลในช่วงนี้ก็จะหมือนกับคนท้องปกติโดยทั่วไป

อีกหนึ่งนวัตกรรมใหม่ในการรักษาที่ ก็คือ การแช่แข็งไข่/ การฝากไข่ (Egg Freezing) ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในบ้านเราโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงยุคใหม่ที่ยังไม่พร้อมที่จะมีบุตร  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางสังคม เช่น การทำงานหรือการศึกษา หรือเหตุผลทางการแพทย์ เช่น การรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น การเก็บรักษาไข่โดยการแช่แข็งไข่และรอจนกระทั่งพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้หญิงในยุคนี้ 

 ต่างหน้าที่ ต่างบทบาท ไลฟ์สไตล์ผู้หญิงเก่งยุคใหม่

ดูแล ห่วงใย ใส่ใจ เสมือนญาติสนิท มิตรสหาย

ด้วยกระบวนการในการรักษาคนไข้ผู้มีบุตรยากต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง แพทย์ต้องให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอนอย่างละเอียดนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มการรักษา และต้องเข้าใจถึงภาวะของแต่ละคู่ว่ามีความเฉพาะแตกต่างกันไป และให้การดูแลในทุก ๆ รายละเอียดจนเกิดความสนิทสนม เชื่อใจและไว้วางใจ กลายเป็นความผูกพันระหว่างคนไข้กับหมอและโรงพยาบาล คุณหมอติ๋นอธิบายว่า

“การดูแลและเตรียมความพร้อมให้กับคนไข้ที่จะเป็นพ่อแม่ในอนาคต รวมถึงการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น อย่างแรกคือการดูแลตัวเองทั่ว ๆ ไป เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การเริ่มรับประทานยาบำรุงที่สำคัญกับการตั้งครรภ์ เช่น โฟลิค งดบุหรี่ อย่างที่สองที่สำคัญคือการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เช่นการตรวจเรื่องการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็น HIV, Hepatitis B,C, ซิฟิลิส การตรวจเลือดเพื่อหาภาวะโลหิตจาง การตรวจหาพาหะธาลัสซีเมีย เพราะว่าโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่พบเจอบ่อยในประชากรไทยแล้วหลายๆ คนก็เป็นพาหะ ถ้าเกิดพาหะกับพาหะมาเจอกันลูกก็มีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียได้ค่ะ”

จากที่เคยได้ยินได้ฟังมาบ้างก็ว่าผู้หญิงที่เข้ารับการรักษาผู้มีบุตรยาก จะเจ็บมาก อาการเจ็บที่ว่าเป็นอย่างไร คุณหมอติ๋นได้อธิบายเรื่องนี้ให้ฟังว่า

“ตามที่ได้เล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่า การทำเด็กหลอดแก้ว จะมีการฉีดยากระตุ้นให้มีไข่หลายๆ ฟอง จะต้องมีการฉีดทุกวันเป็นระยะเวลาประมาณ 10-12 วันค่ะ ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่หลาย ๆ คนบอกเจ็บ เพราะว่าโดนฉีดยา แต่ถามว่าจริง ๆ แล้ว มันเจ็บมากไหม อันนี้ไม่สามารถชี้ชัดได้ เพราะว่าความรู้สึกเจ็บของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แต่ติ๋นก็บอกได้ว่าเข็มที่ใช้นี้จริง ๆ แล้วไม่ใหญ่ จึงไม่เจ็บเท่าฉีดวัคซีน เพราะเข็มที่ฉีดที่ท้องมันเป็นเข็มเล็ก ๆ เองค่ะ สาเหตุที่ 2  ที่คนอาจจะมองว่าเจ็บก็คือในระหว่างการรักษา ก็จะมีการตรวจติดตามเรื่องฮอร์โมน ซึ่งก็ต้องเจาะเลือด ส่วนตัวติ๋นก็ไม่ชอบการเจาะเลือด เพราะฉะนั้นก็อาจจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่คนบอกว่าเจ็บนะคะ ส่วนสาเหตุที่ 3 ก็เป็นตอนเก็บไข่ที่คนไข้อาจจะมีความกลัวว่ามันจะเจ็บไหม ซึ่งที่จริงแล้ว ตอนนั้นอาจจะไม่รู้สึกเลยเพราะว่ามันเป็นการทำหลังจากที่คนไข้ได้รับยาสลบแล้ว ตื่นมาก็จะไม่ได้รู้สึกอะไรมากค่ะ”

work-life-balance สร้างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เคล็ดลับสร้างความสุขในครอบครัว ด้วยต้องสวมหมวกหลายใบ ทั้งฐานะผู้บริหารของโรงพยาบาล แพทย์ แล้วยังเป็นแม่ของลูกชายวัยกำลังซน 2 คน จึงต้องดูแลตัวเองและบริหารเวลาให้ลงตัว

“ทุกเช้าติ๋นจะไปส่งลูกที่โรงเรียนก่อน ส่งลูกเสร็จ ก็มาทำงานค่ะ ตรวจคนไข้ตามตารางนัดหมาย ทำงานบริหารไปจนถึงเย็น ช่วงเย็นๆ หลังเลิกงานก็จะเป็นเวลาของครอบครัวค่ะ วันเสาร์-อาทิตย์ส่วนใหญ่จะไม่ตรวจคนไข้ค่ะ? แต่ถ้ามีเคสที่จำเป็นจริง ๆ อย่างมีเคสเก็บไข่ก็จะเข้าไปที่ รพ. ค่ะ ปกติช่วงวันหยุดจะพาเด็ก ๆ ไปต่างจังหวัดเพราะอยากให้เด็ก ๆ ได้อยู่กับธรรมชาติ ส่วนเรื่องของการดูแลตัวเอง ก็ออกกำลังกายบ้าง อย่างเวลาที่ลูก ๆ เรียนว่ายน้ำ ติ๋นก็จะอยู่ในห้องฟิตเนส ก็ถือว่าระหว่างรอก็ออกกำลังกายไปด้วยค่ะ

ติ๋นคิดว่าเคล็ดลับในการสร้าง Work-Life-Balance ก็คือ Time Management การบริหารจัดการเวลาให้ได้ เพราะว่างานก็ต้องทำ ลูกก็ต้องเลี้ยง เพราะฉะนั้นในเวลาทำงาน ขณะที่ลูกอยู่ที่โรงเรียน เราก็เต็มที่กับงาน พอเลิกงานกลับบ้านก็จะเป็นเวลาสำหรับครอบครัว ทานข้าวเย็น อ่านหนังสือ ทำเป็น Routine ประจำวัน ก็จะง่ายสำหรับเด็ก ติ๋นเชื่อว่าสมัยนี้คุณแม่หลายคน ก็เป็น Working Mom ที่ต้องเต็มที่กับการงานในเวลางาน แต่พอกลับบ้านก็ทำหน้าที่คุณแม่ เต็มที่กับลูก ๆ และที่สำคัญอีกอย่างสำหรับคุณแม่มือใหม่คือ อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองนะคะ พักผ่อนให้เพียงพอ และหาเวลาออกกำลังกายบ้างค่ะ”