posttoday

อะไรก็ตามที่ทำร้ายเราไม่ได้ จะทำให้เราเข้มแข็ง …นิชเช่

28 ธันวาคม 2563

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

หากจะถามว่า อะไรคือปัญหาร่วมของสังคมทุกวันนี้ และเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราพบว่าความท้าทายหลักๆ ของสังคมทุกวันนี้ คือบุคลากรขาดศักยภาพ ไม่สามารถนำตนเองได้ การแก้ปัญหา ก็ไม่เป็นระบบ โดยเฉพาะปัญหาซับซ้อน อีกทั้งขาดนวัตกรรมที่มีคุณค่า นอกจากนี้ ทีมงานก็ไม่เข้มแข็ง ไม่เป็นหนึ่งเดียว อีกทั้ง ขาดผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะนำองค์กรให้สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน

เมื่อพิจารณาความเป็นครอบครัว แม้บริบทต่างกัน ปัญหาก็ไม่แตกต่าง หลักๆ คือขาดความรัก ความเข้าใจ ขาดความไว้วางใจ ขาดการเห็นคุณค่าระหว่างกัน ความรักจืดจาง อยู่ด้วยกันแต่เหมือนอยู่คนละบ้าน บ่อยครั้งใช้ความรุนแรง การสื่อสารก็มักจะเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง เอาแต่ใจตนเอง ขาดความยืดหยุ่น

เมื่อพูดถึงวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ยิ่งอ่อนไหว เปราะบาง เพราะหลงทาง ยึดติดค่านิยมผิดๆ เน้นวัตถุภายนอกเพื่อมาเสริมให้ตนดูดีมีคุณค่า แต่หารู้ไม่ว่านั่นเป็นเรื่องจอมปลอม เมื่อยิ่งเสพหนัก ยิ่งถลำลึก ยิ่งกลับมาทำร้ายตนเอง นำไปสู่การไม่เข้าใจตนเอง เกิดความขัดแย้งภายใน และนำไปสู่ความรุนแรงในทุกระดับ ทั้งทำร้ายตนเอง ครอบครัวขาดความสุข องค์กรขาดความเข้มแข็ง ไม่สามารถระเบิดศักยภาพออกมาเสริมกันได้ องค์กรก็ไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนรวมก็เสียหาย

ท่านคิดว่าปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากอะไร อะไรคือฐานรากของปัญหาเหล่านี้ แล้วเราจะมีทางออกอย่างไร

อะไรก็ตามที่ทำร้ายเราไม่ได้ จะทำให้เราเข้มแข็ง …นิชเช่

เราพบว่าอาการทั้งหมดที่กลาวข้างต้นนี้ล้วนเป็นผลมาจาก การที่บุคคลขาดความสามารถในการนำตนเอง (Self-directed) กลาวคือ ไม่รู้ว่าจะโต้ตอบอย่างไรให้เหมาะสม เมื่อมีอะไรเข้ามากระทบ เพราะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ตนมีอำนาจในการเลือกตอบสนอง แล้วอำนาจดังกล่าวนี้คืออะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้านักคิดในกลุ่มนี้กัน มันเป็นที่ประจักษ์ว่า การแสดงออกของคนเรานั้นล้วนมาจากกรอบความคิด ดังคำกล่าวของ เพลโต (427-347 BC) ที่ว่า “that the physical world is not as real or true as timeless, absolute, unchangeable ideas.” รวมทั้งคำกล่าวของ ไอน์สไตน์ (1879-1956) ที่ว่า “The world as we have created it is a process of our thinking. It cannot be changed without changing our thinking.” ดังนั้น การตอบสนองใดๆ ที่แสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมจึงล้วนมาจากกรอบความคิด

กรอบความคิดนี้เองสะท้อนความเป็นตัวตน ด้วยวาทะอันโด่งดังของ เรอเน เดการ์ต (1596-1950) ที่ว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่ - I think, therefore I am.” ดังนั้น เมื่อเราคิด ตัวตนของเราจึงเกิดขึ้น มีอยู่

และตัวตนที่เกิดขึ้นนี้ต้องการคุณค่าและความหมาย คุณค่าและความหมายนี้เองทำให้เรายืนหยัดว่าอยู่ไปทำไม เพื่ออะไร ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ดังที่ นิชเช่ (1844-1900) ได้กล่าวไว้ว่า “He who has a why to live can bear almost any how.” และนิชเช่ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การยืนหยัด ความอดทน มุ่งมั่นนี้เองทำให้เราเข้มแข็ง “That which does not kill us makes us stronger.”

ต่อมา ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (1905-1980) ได้เสนอความคิดว่า ชีวิตมีทางเลือกเสมอ เราจึงต้องตัดสินใจเลือก และไม่ว่าเราจะแสดงอะไรออกมา มันล้วนมาจากการที่เราได้เลือกแล้วทั้งสิ้น “I can always choose, but I ought to know that if I do not choose, I am still choosing.” แก่นแท้ของมนุษย์จึงเป็นเสรีภาพ เสรีภาพดังกล่าวคือ ความสามารถในการตัดสินใจเลือกว่าจะตอบสนองอย่างไร เมื่อมีอะไรเข้ามากระทบ แต่เสรีภาพดังกล่าวต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

จากนักคิดเหล่านี้ พอจะสรุปได้ว่า ทุกการแสดงออกเป็นสิ่งที่เราเลือกเองและมาจากกรอบความคิด กรอบความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนต้องการคุณค่าและความหมาย และการแสดงออกใดๆ เป็นสิ่งที่เราเลือกเอง (เพราะกรอบความคิดเป็นของตนเอง) และการที่เราเลือกหรือกำหนดทางเดินของตนได้นี้เอง เป็นตัวที่สะท้อนถึงความสามารถในการนำตนเอง ถ้าเราเลือกได้ว่าจะตอบสนองอย่างไร นั่นแสดงว่า ปัจจัยภายนอกใดๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้ และแม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ภายนอกได้ แต่เราสามารถควบคุมตนเองได้ รับผิดชอบตนเองได้ นั่นคือ เราอยู่เหนือมัน เรามีอำนาจเหนือมัน ปัจจัยภายนอก มันทำอะไรเราไม่ได้ เมื่อการตัดสินใจใดๆ เป็นสิ่งที่เราเลือกเอง เราจึงเป็นอิสระจากมัน เมื่อเราเป็นอิสระจากมัน บุคคลจึงนำตนเองได้ การนำตนเองได้จึงเป็นฐานรากสำคัญของความเข้มแข็ง ดังนั้น อะไรก็ตามที่ทำร้ายเราไม่ได้ จะทำให้เราเข้มแข็ง …นิชเช่

ดังนั้น บุคคลที่สามารถนำตนเองได้ มักมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. มีกรอบความคิดเชิงบวก มองปัญหาเป็นความท้าทาย บุคคลาเหล่านี้ ไม่ว่าจะทำอะไร ย่อมมีเป้าหมาย เขาจะวาดภาพถึงผลลัพธ์สุดท้ายทุกครั้ง ก่อนจะลงมือทำอะไร เขาจึงสามารถปรับกรอบความคิดเพื่อยกศักยภาพตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ แรงขับเคลื่อนภายในได้อย่างมุ่งมั่น

2. คิดเชิงระบบ บุคคลที่สามารถนำตนเองได้ จะคิดวิเคราะห์เพื่อหาองค์ประกอบหลัก และเชื่อมโยงองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ด้วยตนเอง อีกทั้งเข้าใจในความหมายของระบบซ้อนระบบ จึงสามารถแก้ปัญหาเชิงซ้อนได้ นอกจากนี้ ยังสามารถมองภาพเชิงองค์รวม นำไปสู่การเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่างเพื่อคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ

3. มีความมั่นคงทางอารมณ์ ผู้ที่สามารถนำตนเองได้ จำเป็นต้องมีความหนักแน่น มีความเข้มแข็ง มีภูมิต้านทาน สามารถยืนหยัดและปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น สามารถปรับฟื้นคืนสภาพตนเองได้ แม้อยู่ในสภาพที่ยากลำบาก ผ่านการเห็นคุณค่าตนเอง อีกทั้ง เห็นคุณค่าในความแตกต่าง จึงเปิดใจกว้างรับฟัง เพื่อสร้างศรัทธา นำไปสู่การสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง

4. มีภาวะผู้นำ ผู้ที่นำตนเองได้ ต้องสามารถนำผู้อื่นได้ด้วย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สามารถนำทีมงานให้ไปในแนวเดียวกันอย่างมีส่วนร่วม บนฐานของการเห็นคนเป็นมนุษย์

สังคมทุกวันนี้อ่อนแอ เปราะบาง กดดัน ซึมเศร้า ขาดความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลไม่อาจพัฒนาและขับศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ นั่นเป็นเพราะบุคคลไม่เป็นอิสระจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย แต่ยึดติดกับมัน แล้วกลับเอามันทำร้ายตนเอง มองในอีกมุมหนึ่ง เราเองต่างหากที่ยอมเอาตัวเองไปอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เราไม่อาจควบคุมได้ เราจึงต้องเต้นไปตามกระแส ไม่อาจนำตนเองได้ ด้วยเหตุนี้ ทั้งตนเอง ครอบครัว องค์กร รวมทั้งสังคมจึงขาดความเข้มแข็ง ไม่สามารถนำไปสู่ความสมดุล มั่นคงยั่งยืนได้อย่างแท้จริง