posttoday

การพัฒนาศักยภาพองค์กรภาครัฐดิจิทัลเชิงรุกเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

16 พฤศจิกายน 2563

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ปัญหา ความจำเป็นเร่งด่วน โลกเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่ง เทคโนโลยีก้าวไกลในอัตราเร่ง ได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและรูปแบบของการใช้ชีวิตของคนในสังคมอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้องค์กรภาครัฐซึ่งเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศจำต้องปรับรูปแบบการบริหารงานอย่างพลิกโฉม  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการต่อประชาชนและเพื่อสร้างสังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืน เพื่อการดำเนินงานตามเป้าหมายดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐตามนโยบาย “การปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล” (Digital Government Transformation) ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่เน้นการพัฒนาความพร้อมของบุคลากรและการปรับเปลี่ยนกระบวนงานให้มีวุฒิภาวะด้านดิจิทัล เพื่อให้องค์กรภาครัฐมีขีดสมรรถนะสูงเทียบเท่ามาตรฐานสากลและมีความคล่องตัว ให้มีความทันสมัย กะทัดรัด รวดเร็ว ยืดหยุ่น มีลักษณะเปิดกว้าง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชื่อมโยงถึงกันจากทุกภาคส่วน โดยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับยุคสมัยเข้ามาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ

การพัฒนาศักยภาพองค์กรภาครัฐดิจิทัลเชิงรุกเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

การพัฒนาองค์กรภาครัฐดิจิทัลเชิงบูรณาการ

ทั้งนี้ เป้าหมายดังกล่าวดังกล่าวจะเป็นจริงได้ บุคลากรภาครัฐจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดการบริหารงานและการพัฒนาในเชิงองค์รวม แนวคิดนี้ประกอบด้วย

  1.  การปรับกรอบความคิดเชิงบวกเพื่อขับเคลื่อนองค์กรดิจิทัลเชิงรุก
  2.  การพัฒนาแนวคิดเชิงระบบเพื่อสร้างนวัตกรรมดิจิทัลที่มีคุณค่า
  3.  การสร้างศรัทธาเพื่อสร้างทีมงานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง
  4.  การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลเพื่อความเป็นเอกภาพ

การพัฒนาศักยภาพองค์กรภาครัฐดิจิทัลเชิงรุกเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

1. การปรับกรอบความคิดเชิงบวกเพื่อขับเคลื่อนองค์กรดิจิทัลเชิงรุก

แนวคิดนี้ให้มุมมองที่ว่า บุคลากรภาครัฐทุกระดับจำเป็นต้องปรับแนวการบริหารงานให้เป็น Digital Mindset โดยเริ่มที่ตนเองก่อน เพื่อสร้างการนำตนเองและปรับวิธีการทำงานเสียใหม่ โดยใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลมายกระดับศักยภาพองค์กรเพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างคล่องตัว ทันสมัย รวดเร็ว มุ่งมั่น เล่นเชิงรุกแต่ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ

2. การพัฒนาแนวคิดเชิงระบบเพื่อสร้างนวัตกรรมดิจิทัลที่มีคุณค่า

นอกจากบุคลากรภาครัฐจะพัฒนาความสามารถในการนำตนเองได้แล้ว ยังต้องพัฒนาแนวคิดเชิงระบบและมุมมองเชิงองค์รวมเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล (Digital Innovation) ที่แตกต่างและแปลกใหม่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลและองค์ความรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเห็นความสัมพันธ์ของการให้บริการที่ทันสมัยและคล่องตัว เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เพื่อแก้ปัญหาเชิงซับซ้อนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและผู้รับบริการให้ดีกว่าเดิมได้อย่างมีคุณค่าและเป็นรูปธรรม

การพัฒนาศักยภาพองค์กรภาครัฐดิจิทัลเชิงรุกเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

3. การสร้างศรัทธาเพื่อสร้างทีมงานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง

นอกจากบุคลากรภาครัฐจะสามารถพัฒนาการนำตนเองและการสร้างองค์กรนวัตกรรมด้านดิจิทัลแล้ว การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวจะเป็นจริงได้ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมที่สามารถระเบิดศักยภาพออกมาเสริมกันได้อย่างเต็มที่บนฐานของศรัทธา และศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ องค์กรจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศของการเปิดใจกว้างรับฟังและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง มีความไว้วางใจ เชื่อมั่นต่อกัน บนฐานของการเห็นคุณค่าในความแตกต่างทางความคิด

4. การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลเพื่อความเป็นเอกภาพ

การปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์กรดิจิทัลจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนรวม และเชื่อมโยงทั้งองค์กรและเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เป้าหมายดังกล่าวจำเป็นที่ผู้บริหารองค์กรต้องสร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างทีมงานและผลักดันความเป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการร่วมกันพัฒนากลยุทธ์ นวัตกรรมการบริการ การตัดสินใจร่วมกันเพื่อให้ไปในแนวทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อยกระดับการบริการที่มีคุณภาพให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ว่าแนวทางการปรับเปลี่ยนองค์กรภาครัฐให้เป็นองค์กรดิจิทัลเชิงบูรณาการนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมเพื่อความยั่งยืนของประเทศในอนาคต ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่า ผู้บริหารองค์กรภาครัฐจะสามารถปรับแนวคิดการบริหารงานให้ทันต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรเชิงองค์รวมให้เป็นองค์กรด้านดิจิทัลเชิงรุก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้มีความทันสมัย รวดเร็ว คล่องตัว ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้เร็วเพียงใด เพื่อยกระดับการให้บริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีความมั่นคงยั่งยืน