posttoday

ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนอย่างเฉพาะเจาะจงตรงจุด

10 สิงหาคม 2563

การรับมือกับปัญหาเชิงองค์รวม : ด้วยงบประมาณที่จำกัด ยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่อพัฒนาคนจึงต้องมีความเฉพาะเจาะจงและหวังผล

ด้วยงบประมาณที่จำกัด ยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่อพัฒนาคนจึงต้องมีความเฉพาะเจาะจงและหวังผล ทั้งกลุ่มเป้าหมายและองค์ความรู้ เพื่อสร้างระบบการพัฒนาบุคลากรต่อยอดรุ่นต่อรุ่นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องไปในแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ ไร้รอยต่อเพื่อความยั่งยืนขององค์กร

ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนอย่างเฉพาะเจาะจงตรงจุด

ข้อมูลโดย ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล จากสถาบันอินทรานส์ Hipot-การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน  ระบุ โลกก้าวเข้าสู่ยุค Digital AI Robot IoT และ Technology ที่ซับซ้อน การปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงานต้องตามให้ทัน เป้าหมายคือความมั่นคงยั่งยืน สามารถสร้างความต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอด ไม่เช่นนั้นต้องล่มสลาย และไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพียงใด สุดท้ายแล้วต้องใช้คน คนจึงต้องปรับตาม แล้วใครต้องเปลี่ยน ด้วยงบประมาณที่มีอยู่ การพัฒนาอาจมีการกระจายไปในหลายระดับ ทั้งระดับต้น กลาง สูง ตามนโยบาย แต่การลงทุนพัฒนาคนในองค์กรต้องกันไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาคนกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้อย่างหวังผล อย่างเฉพาะเจาะจง ความเฉพาะเจาะจงนั้นมองใน 2 ประเด็น คือ บุคลากรกลุ่มเป้าหมายและองค์ความรู้ 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนอย่างเฉพาะเจาะจงตรงจุด

ความเฉพาะเจาะจงในแง่ของกลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มเป้าหมายที่ถือเป็นหัวใขสำคัญคือ ผู้บริหารระดับกลาง นั่นคือ ระดับหัวหน้ากลุ่มงาน รองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการ คนกลุ่มนี้คือมือทำงาน คนรุ่นใหม่ ไฟแรง เป็นอนาคตของหน่วยงาน เป็นกลุ่มที่จะขยับขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์ คนกลุ่มนี้จะเป็นรอยต่อเชื่อมโยงระดับบนและล่าง คนกลุ่มนี้จะขยับขึ้นเป็นผู้นำองค์กรในอนาคตและพัฒนากลุ่มล่างขึ้นมาแทน สร้างระบบการพัฒนาต่อยอดรุ่นต่อรุ่นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน ไร้รอยต่อเพื่อความยั่งยืนขององค์กร 

ความเฉพาะเจาะจงในแง่ขององค์ความรู้

องค์ความรู้ดังกล่าวต้องเพื่อยกระดับศักยภาพผู้บริหารระดับกลางเพื่อการเตรียมขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูง อีกทั้งตนต้องพัฒนาทีมงานระดับรองลงมาให้ขึ้นมาแทนที่ ดังนั้น องค์ความรู้ดังกล่าวต้องเป็นองค์ความรู้อย่างเป็นองค์รวม ครอบคลุมทุกมิติชีวิตอย่างเป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหา ความท้าทายต่างๆ อย่างตรงจุด อีกทั้งต้องสามารถนำไปปประยุกต์ใช้ได้และถ่ายทอดได้อย่างมั่นใจ องค์ความรู้ดังกล่าวประกอบด้วย

1. ความสามารถในการนำตนเองได้ ความสามารถในการนำตนเองนี้ถือเป็นหลักการเบื้องต้นของความสำเร็จใดๆ การจะนำตนเองได้นั้น ต้องทำงานอย่างมีเป้าหมาย รู้ว่าอะไรคือความหมายของงานนั้นๆ อย่างแท้จริง จะทำไปเพื่ออะไร ทำไม ความสามารถนี้จะเป็นจริงได้ ตนต้องปรับกรอบความคิดและมุมมองตนเองได้อย่างยืดหยุ่น เพื่อยกระดับศักยภาพตนเองได้ สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนภายในตนเองอย่างมุ่งมั่น สามารถพลิกฟื้นคืนสภาพตนเองกลับมานำตนเองได้ แม้ในยามที่ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบาก ความสามาถในการนำตนเองนี้จึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สุดของการจะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในอนาคต ผู้บริหารระดับกลางจึงต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ เพราะการที่จะไปนำใครนั้นต้องแสดงให้ประจักษ์ว่าต้องเริ่มเปลี่ยนที่ตนเองก่อน

2. ความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงซับซ้อนและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ผู้บริหารระดับกลางถือเป็นมือทำงาน ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาเป็น มีความคิดที่แปลกใหม่ สามารถสร้างทางเลือกที่แตกต่างอย่างหลากหลายเพื่อการตัดสินใจที่คุ้มค่า คุณสมบัตินี้ต้องใช้ปัญญา และปัญญาต้องมาจากมุมมองเชิงระบบ การมองภาพเชิงองค์รวม โดยเข้าใจว่าความรู้ใดๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ ต้องมาจากการเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่าง ผู้บริหารระดับกลางจึงจำเป็นต้องมีแนวคิดเชิงระบบ การมองภาพเชิงองค์รวม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงซับซ้อน และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ อีกทั้ง สามารถมองทั้งหน่วยงานด้วยมุมมองเชิงระบบที่เห็นทุกระดับเชื่อมโยงกันทั้งหมด การพัฒนาจึงต้องเป็นภาพรวมอย่างเป็นหนึ่งเดียว ผู้บริหารระดับกลางจึงถือเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญที่จะหลอมรวมทุกระดับเข้าด้วยกัน เพื่อจัดการกับปัญหาเชิงซับซ้อนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าอย่างสอดคล้องไปในแนวเดียวกัน

3. ความสามารถในการสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง ผู้บริหารระดับกลางมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรความเข้มแข็งขององค์กรจะเป็นจริงได้ทีมงานต้องตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อมั่นความเข้าใจความไว้วางใจที่มีต่อกันนั่นคือศรัทธาศรัทธาในทีมงานจะเกิดขึ้นได้บุคลากรต้องเห็นคุณค่าในความต่างเคารพในความคิดเห็นที่หลากหลายการเห็นคุณค่าในความต่างนี้เองทำให้เราเปิดใจกว้างรับฟังนั่นคือเอาอีกฝ่ายเป็นตัวตั้งมิใช่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางการเปิดใจกว้างรับฟังจึงนำไปสู่การเห็นคุณค่าระหว่างกันการเห็นคุณค่าระหว่างกันนี้จึงจะสามารถสร้างทีมงานที่มีพลังร่วมที่เกิดจากการเชื่อมโยงของบุคลากรที่หลากหลาย

ทั้งนี้ พลังร่วมดังกล่าวจะต้องเกิดจากการระเบิดศักยภาพตนเองจากภายใน การจะระเบิดแรงขับเคลื่อนภายในตนเองได้นั้น บุคคลนั้นๆ ต้องเห็นคุณค่าในตนเองเท่านั้น การเห็นคุณค่าตนเองโดยความหมายแล้วก็คือ การมองภาพตนเองเชิงบวก การยอมรับตนเอง เข้าใจตนเองตามความเป็นจริง ภาวะนี้จึงจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอารมณ์ มีความเชื่อมั่น ภายในมั่นคง มีความเข้มแข็ง มีภูมิต้านทาน ยืนหยัด อดทน สามารถนำตนเองได้ ด้วยภาวะของการเห็นคุณค่าในความแตกต่างและการเห็นคุณค่าตนเองจึงจะสามารถสร้างทีมงานที่เข้มแข็งอย่างมั่นคงยั่งยืน

4. ความสามารถในการสร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ชัดว่าผู้บริหารระดับกลางมีความสำคัญต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำองค์กรให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ การนำองค์กรไปในทิศทางเดียวกันต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภาวะผู้นำมิใช่ตำแหน่งผู้นำ แต่เป็นภาวะที่เกิดจากการยอมรับจากบุคคลรอบข้าง การยอมรับจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตนให้การยอมรับบุคคลเหล่านั้นเสียก่อน มันคือการยอมรับในคุณค่าและความหมายของความเป็นมนุษย์ เพราะใครก็ตามที่เห็นฉันมีค่า ฉันก็เห็นเขามีค่าเช่นกัน ผู้บริหารระดับกลางที่ต้องเล่นบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมทั้งระดับบนและล่าง จึงต้องเข้าใจและตระหนักว่าเรากำลังสัมพันธ์อยู่กับชีวิตที่ต้องการคุณค่าและความหมาย

ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนอย่างเฉพาะเจาะจงตรงจุด

ในโลกที่ผันผวน ยุค Digital ที่ Technology ก้าวไกลและซับซ้อน การปรับเปลี่ยนอย่างยืดหยุ่นจึงเป็นหัวใจสำคัญของความยั่งยืน การลงทุนเพื่อพัฒนาคนในองค์กรจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างหวังผลและเฉพาะเจาะจง ความเฉพาะเจาะจงนั้น ผู้เขียนเห็นว่าผู้บริหารระดับกลางคือตัวจักรสำคัญ อีกทั้ง ทักษะที่จำเป็นนั้นต้องครอบคลุม ความสามารถในการนำตนเองได้ ความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงซับซ้อนและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ความสามารถในการสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง และความสามารถในการสร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อการบรรลุเป้าหมายเดียวกันและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์องค์กรอย่างเป็นหนึ่งเดียว