posttoday

7 เรื่องต้องรู้หลังโควิด 'Self-resilience' ฟื้นอย่างไรให้ไปเร็วกว่า

25 พฤษภาคม 2563

รับมือกับปัญหาไวรัสโควิด-19 เชิงองค์รวม : การปรับฟื้นคืนสภาพตนเองกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน Self-resilience towards Sustainability Development

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภค ห่วงโซ่การผลิตขาดความต่อเนื่อง การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก หลายธุรกิจต้องล่มสลาย การปรับตัวเกิดในทุกภาคส่วนของธุรกิจ ไม่มียกเว้น

คนเดินทางทางอากาศลดลง 90% ทุกสายการบินต้องลดคน ลดเงินเดือนและหลายแห่งกำลังล้มละลาย ธุรกิจพลังงานราคาตกต่ำกว่าครึ่ง ทุกค่ายรถยนต์อัดโปรโมชั่นแข่งกันลดราคา อสังหาริมทรัพย์ยอดขายลดลงกว่า 25% หลายโครงการถูกพัก หลายแห่งต้องโละสต็อก คาดซึมยาว

สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐรอบใหม่ใกล้ปะทุ ธุรกิจซื้อขายออนไลน์โตกว่าเท่าตัว ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์บูมสุดขีด ธุรกิจอาหารพุ่งกระฉูด รีเทลปรับการให้บริการรับค้าปลีกยุคใหม่ให้สอดรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เรียนออนไลน์ผ่านทีวีดิจิทัลไม่ง่าย แค่ชั่วคราว เพราะขาดอุปกรณ์ ระบบไม่พร้อม บรรยากาศไม่ให้ สัมมนาออนไลน์ไม่ได้ผลเพราะขาดการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนรู้ที่แท้จริง

7 เรื่องต้องรู้หลังโควิด 'Self-resilience' ฟื้นอย่างไรให้ไปเร็วกว่า

ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล จากสถาบันอินทรานส์ Hipot-การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคง ยั่งยืน เผยว่า บทเรียนจากการระบาดไวรัสโควิค 19 ขณะนี้ทุกภาคส่วนตื่นตัว มิใช่เพียงแค่รับมือกับไวรัสโควิด 19 เท่านั้น แต่เพื่อเตรียมพร้อมรับกับคลื่นดิสรัปชั่นลูกใหม่ที่มาแน่นอนแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของการปรับตัวในภาวะยากลำบากที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน คือการพึ่งพาตนเอง (Self-independent) การพึ่งพาตนเองจะเป็นจริงได้ บุคคลต้องมีความสามารถในการนำตนเองการจะนำตนเองได้ บุคคลต้องมีความสามารถในการปรับฟื้นคืนสภาพได้ด้วยตนเอง (Self-resilience) ภาวะดังกล่าวคือศักยภาพด้านจิตใจและอารมณ์ที่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้หลังจากผ่านภาวะวิกฤต ความสามารถดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของธุรกิจ

7 เรื่องต้องรู้หลังโควิด 'Self-resilience' ฟื้นอย่างไรให้ไปเร็วกว่า

การจะปรับฟื้นคืนสภาพด้วยตนเอง (Self-resilience) นี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

1. ต้องมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ การปรับตัวคือหัวใจของความสำเร็จ การปรับเปลี่ยนใดๆ ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน นั่นคือต้องสร้างความเป็นอิสระจากผู้อื่นและเงื่อนไขภายนอก รู้ว่าจะตอบสนองอย่างไรเมื่อมีอะไรมากระทบ

2. ความเป็นอิสระในการเลือกตอบสนองจะเกิดขึ้นได้ บุคคลต้องออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ปรับทัศนคติเชิงบวกเพื่อดึงศักยภาพภายในของตนออกมา เล่นเชิงรุก

3. การเล่นเชิงรุก ต้องเริ่มด้วยการปรับมุมมองที่มีต่อตนเองเสียใหม่ เห็นตนเองมีค่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นคงจากภายใน มีภูมิต้านทาน ยอมรับและเผชิญหน้ากับปัญหาตามความเป็นจริงด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง มุ่งมั่นอดทน

4. ความมุ่งมั่นจะเกิดขึ้นได้ เราต้องมีภาพเป้าหมายชัดเจน มองปัญหาเป็นความท้าทาย เอาความยากลำบากเป็นแรงผลักดันและต่อสู้เพื่อการเติบโตและการบรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณค่า

5. การบรรลุเป้าหมายได้ต้องพัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่านมุมมองเชิงระบบเพื่อแก้ปัญหาเชิงซับซ้อนและการมองภาพเชิงองค์รวมเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ เพื่อสร้างองค์กรให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

6. การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ต้องผ่านการมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีมเพื่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกันบนฐานของการเห็นคุณค่าในความแตกต่าง ความเข้าใจและศรัทธา

7. การสร้างองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียวต้องการผู้นำที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้สอดคล้องไปในแนวเดียวกันบนฐานของการเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์

ไม่ว่าเราจะปรับปรุงการทำงาน การบริหารต้นทุน การปรับโครงสร้างองค์กร หรือการจัดกลุ่มธุรกิจใหม่เพื่อรับมือกับสถานการณ์หลังไวรัสโควิด 19 อย่างไร หากเราไม่สามารถสร้างการปรับฟื้นคืนสภาพด้านในของบุคลากรได้แล้ว ก็ยากที่จะนำองค์กรธุรกิจสู่ความมั่นคงยั่งยืนได้อย่างแท้จริง