posttoday

เสพข่าวไม่เครียด รู้ทันข่าวปลอมก่อนตกเป็นเหยื่อ Fake News

12 มีนาคม 2563

จากวลีที่แชร์ต่อกันขำๆ ว่า "โอกาสติดเชื้อ 1% โอกาสประสาทแดก 100%" สะท้อนการเลือกเสพข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ในวันที่เกิดโรคระบาด ว่ายังมีข่าวปลอมที่แพร่ระบาดไม่ต่างอะไรกับเชื้อโรค แล้วเราจะเลือกรับข่าวสารอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Fake News

เช็กก่อนเชื่อ ไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม ด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวในโลกออนไลน์ดังนี้

เช็กแหล่งที่มา

เมื่อรับรู้ข่าวสารต่างๆ ก่อนปักใจเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เราควรตรวจสอบหาแหล่งที่ของข่าวหรือภาพก่อนว่ามาจากแหล่งไหน ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือเพียงใด ใครเป็นผู้เขียน ระบุวันเวลา หรือสถานที่ไว้ชัดเจนหรือไม่ โดยอาจหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เป็นสำนักข่าว, หนังสือพิมพ์, เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ หรือค้นหาจาก Google ว่าข่าวสารดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หากไม่สามารถหาแหล่งที่มาได้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นข่าวปลอม

สำหรับวิธีตรวจสอบที่มาของภาพที่โพสต์ในโลกออนไลน์ว่ามีที่มาจากไหน เป็นภาพเก่า ภาพใหม่ หรือภาพตัดต่อ และใครเป็นเจ้าของภาพตัวจริง สามารถทำได้โดย "คลิกขวาที่ภาพ" จากนั้นเลือกคำว่า "ค้นหาภาพนี้ใน Google" หรือ "Search Google for image" จากนั้นระบบจะทำการค้นหาที่มาของภาพให้ทันที

หาข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนส่งต่อข้อมูล สิ่งที่ควรทำคือการเช็กว่าข่าวสารที่ได้รับมานั้นมีข้อมูลจากแหล่งอื่นอีกหรือไม่ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลจากแต่ละแหล่งข่าวว่าข้อมูลส่วนใดตรงกัน และข้อมูลส่วนใดขัดแย้งกันบ้าง หากพบว่าไม่สามารถหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมได้ ไม่มีสำนักข่าว หรือสื่อใดที่กล่าวถึง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวปลอม

เสพข่าวไม่เครียด รู้ทันข่าวปลอมก่อนตกเป็นเหยื่อ Fake News

วิธีการเช็กว่าเป็นเว็บหรือเพจข่าวปลอมหรือไม่

ที่ผ่านมา มีข่าวเท็จหรือการสร้างข่าวเท็จผ่านเว็บไซต์ข่าวปลอม หรือเพจเฟซบุ๊กปลอมอยู่บ่อยๆ รวมถึงเพจเฟซบุ๊กคนดังที่ถูกสร้างปลอมขึ้นมา จนทำให้มีการกระจายข่าวสารผิดๆ ออกไปในโลกออนไลน์

สำหรับวิธีสังเกตว่าเป็นเว็บข่าวปลอมหรือไม่นั้น อาจดูว่าเว็บข่าวดังกล่าวลงท้ายด้วยอะไร เนื่องจากเว็บข่าวส่วนใหญ่ จะลงท้ายด้วย ".co.th"   ".com" หรือ ".or.th" แต่หากเจอเว็บไซต์ที่ลงท้ายว่า ".online" ให้รู้ไว้เลยว่านั่นเป็นเว็บไซต์ที่มีการปลอมขึ้นมาอย่างแน่นอน

วิธีเช็กที่ดีที่สุด คือการเช็กจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อีกหน่วยงานหนึ่งในการช่วยตรวจสอบหรือแจ้งข่าวที่มีผลกระทบต่อคนในวงกว้าง โดยสามารถติดต่อและติดตามการดำเนินงานได้ที่เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com หรือโทร.02-288-8000

ส่วนกรณีเพจเฟซบุ๊กปลอมนั้น อาจดูตรงตรงเครื่องหมาย "ถูก" สีเขียว ที่อยู่บริเวณด้านหลังของชื่อเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว หากเพจไหนไม่มีเครื่องหมายถูกยืนยัน ก็มีโอกาสเป็นเพจปลอมเช่นกัน

หยุดแชร์ข่าวปลอม

ถ้ารู้ว่าเป็น "ข่าวปลอม" ควรรีบแจ้งให้ผู้คนอื่นทราบถ้าเช็กจนรู้ว่าข่าวที่เห็นเป็นข่าวปลอม คุณควรกระจายข้อเท็จจริงออกไปว่า "นี่คือข่าวปลอม" เพื่อให้ผู้คนในโลกออนไลน์ทราบเรื่อง และหยุดการส่งต่อทันที

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติ อย่าตื่นตระหนกกับข่าวสารที่ได้รับ จนลืมเช็กว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก่อนจะส่งหรือแชร์ต่อไปให้คนอื่น เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดี

เสพข่าวไม่เครียด รู้ทันข่าวปลอมก่อนตกเป็นเหยื่อ Fake News

ผลกระทบของข่าวปลอม

  • ผู้รับได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด อาจส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น แชร์ข้อมูลว่าดื่มน้ำมะนาวช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ ผู้ป่วยอาจเลิกไปรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดกับหมอ ทำให้มะเร็งลุกลามถึงขั้นเสียชีวิต
  • ผู้รับเกิดความตระหนกตกใจ เช่น ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับภัยพิบัติ หรือโรคระบาดต่างๆ อาจทำให้ผู้คนแตกตื่น แห่กักตุนของกินของใช้ หรือไปเข้าคิวฉีดวัคซีนป้องกันโรคซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง ข่าวการเมืองหรือนโยบายของรัฐที่อาจทำให้หุ้นขึ้นหรือลง นักลงทุนเทขายหุ้นหรือซื้อเพื่อเก็งกำไร
  • ผู้ถูกแอบอ้างได้รับความเสียหาย เช่น ถูกล้อเลียน ดูหมิ่น กลั่นแกล้งรังแก (bully) เพราะข้อมูลเท็จที่เกิดจากการตัดต่อให้ดูตลกขบขัน ถูกเกลียดชังจากข้อมูลเท็จเชิงใส่ร้ายป้ายสี หรือตัวอย่างข่าวดาราดังป่วยหนักใกล้เสียชีวิต ทำให้ประชาชนสงสาร มิจฉาชีพฉกฉวยโอกาสเรี่ยไรเงินช่วยเหลือครอบครัวดาราดัง
  • ข้อมูลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เช่น ข้อมูลเท็จทางด้านการเมือง ข่าวสถานการณ์ระหว่างประเทศ อาจนำไปสู่ความไม่สงบสุขในสังคม สร้างปัญหาระหว่างประเทศได้

เสพข่าวไม่เครียด รู้ทันข่าวปลอมก่อนตกเป็นเหยื่อ Fake News

ความผิด

ผู้ที่ผลิตข่าวเท็จ บิดเบือน และนำเผยแพร่บนโซเชียลยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คือนำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ก็ถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดข้างต้นและมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ยังอาจจะได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพ : Freepik