posttoday

5 เทคนิคพรีเซนต์ให้น่าสนใจ พลิกชีวิตสู่การทำงานในระดับโลก

02 มีนาคม 2563

เปิดสกิลดีกรีผู้ชนะเฟมแล็บ ไทยแลนด์ นักวิจัยรุ่นใหม่ที่พลิกชีวิตสู่การทำงานใหม่ระดับโลก กับเทคนิค 5 ข้อในการพรีเซนต์ผลงานวิจัยภายใน 3 นาที ให้สนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย เป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเพิ่มทักษะด้านการพูดนำเสนอและการสื่อสาร

การพูดที่มีศิลปะสร้างมูลค่ามากมายให้กับผลงานได้พอๆ กับผลิตภัณฑ์ ดังเช่นนักธุรกิจชื่อดังระดับโลก อย่างอีลอน มัสก์ หรือแจ็ค หม่า ที่หลายคนรอคอยการแสดงวิสัยทัศน์ หรือการพูดนำเสนอผลงานเด็ดๆ ของพวกเขาในทุกปี นอกจากความอัจฉริยะในโลกธุรกิจแล้ว พวกเขายังมีพรสวรรค์ในด้านการพูด การนำเสนอ ซึ่งความสามารถดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์แต่เพียงคนในวงการธุรกิจเท่านั้น แต่วงการวิทยาศาสตร์ที่หลายคนคิดว่านักวิทยาศาสตร์ต้องอ่านตำรา หรือพัฒนาผลงานวิจัยอยู่ในห้องแล็บ ก็ต้องการนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถในการพูด การนำเสนอ และการสื่อสารไม่ต่างจากนักธุรกิจระดับโลกดังที่กล่าวมา

5 เทคนิคพรีเซนต์ให้น่าสนใจ พลิกชีวิตสู่การทำงานในระดับโลก

จัสท์-ณภัทร ตัณฑิกุล นักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ ผู้ชนะการประกวดโครงการเฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2019 ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีสุดล้ำในหัวข้อ “ผลิตเนื้อสัตว์ในห้องแล็บ อาหารแห่งอนาคต” (Meat the Future) แชร์เรื่องราวและโอกาสที่ได้รับมากมายหลังจากเป็นผู้ชนะเฟมแล็บ ไทยแลนด์ รวมถึงเคล็ดลับการพรีเซนต์เรื่องราววิทยาศาสตร์ภายใน 3 นาทีอย่างไร ให้พิชิตใจกรรมการ

จัสท์เข้าร่วมการแข่งขันในโครงการเฟมแล็บ ไทยแลนด์ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ครั้งแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้เข้ารอบไปถึง 10 คนสุดท้าย การกลับมาอีกครั้งถือว่าเป็นการเตรียมตัวที่มากขึ้น และตั้งเป้าหมายสูงสุดที่จะคว้าชัยชนะมาให้ได้ ทั้งการเลือกหัวข้อที่ตัวเองมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง การทำความเข้าใจเรื่องที่จะพูด และการฝึกซ้อม จนทำให้ได้รับชัยชนะในการแข่งขันประจำปี 2019 และได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันในเวทีเฟมแล็บระดับโลก ซึ่งในระหว่างการแข่งขันทั้งที่ไทย และที่สหราชอาณาจักร ตนได้พบกับเพื่อนผู้เข้าแข่งขัน และผู้เชี่ยวชาญในวงการวิทยาศาสตร์มากมาย ที่มีอุดมการณ์การผลักดันผลงานวิจัย และมีความสามารถในการนำเสนอผลงานได้อย่างโดดเด่น อีกทั้งได้เรียนรู้วิธีการบอกเล่าเรื่องราววิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจจากคนเก่งๆ เหล่านั้น นอกจากนี้ ตนยังได้รับโอกาสมากมายที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็น การได้ร่วมงานกับบริษัทที่ใฝ่ฝันในสหรัฐอเมริกา ‘เมมฟิส มีท’ (Memphis Meats) บริษัทที่ทำงานด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากเซลล์ (Cell-based meat) เพื่อการบริโภคอย่างยั่งยืน ตลอดจนได้รับเกียรติให้ไปบรรยายในองค์กรรัฐ และเอกชน อาทิ พิธีกรงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดโดย อพวช. และได้รับเกียรติเป็นวิทยากรร่วมแชร์องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจ จัดโดยบริษัทยูโอบี เคเฮียน ประเทศไทย เป็นต้น

5 เทคนิคพรีเซนต์ให้น่าสนใจ พลิกชีวิตสู่การทำงานในระดับโลก

จากนั้นจัสท์ได้เล่าถึงชีวิตการทำงานที่สหรัฐอเมริกาว่า รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมงานกับบริษัทเมมฟิส มีท (Memphis Meats) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในสหรัฐอเมริกาที่ทำงานด้านการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากเซลล์ เมมฟิส มีท เป็นบริษัทแรกของโลกที่สามารถผลิตมีทบอล เนื้อไก่ และเนื้อเป็ดจากเซลล์ได้ นอกจากนี้ เมมฟิส มีท ยังให้ความสำคัญกับการคัดเลือกทีมงานนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจากหลายประเทศมาร่วมงาน โดยบริษัทจะคัดเลือกผู้ที่มีความเก่งและโดดเด่นในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้ และร่วมกันพัฒนาผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานเก่งๆ จากหลากหลายชาติ ทำให้ค้นพบว่านักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง และมีอนาคตไกล ต้องมีคุณสมบัติ 4 ข้อต่อไปนี้

  1. กล้าที่จะสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ (creator/ innovator)
  2. รักการสื่อสาร และทำงานเป็นทีม นำเสนอผลงาน หรือไอเดียให้กับทีมงานสู่สาธารณะได้อย่างโดดเด่น (collaborator/ presenter)
  3. กล้าลงมือทำ (maker)
  4. รักและหลงใหลในงานที่ทำ มุ่งมั่น อดทน ตั้งใจ ไม่ล้มเลิกง่ายๆ (passion/ grit/ commitment) คุณสมบัติทั้ง

ทั้ง4 ข้อนี้จะทำให้ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริง ไม่ใช่งานวิจัยที่อยู่แค่ในห้องแล็บ

5 เทคนิคพรีเซนต์ให้น่าสนใจ พลิกชีวิตสู่การทำงานในระดับโลก

สำหรับเทคนิค 5 ข้อในการพรีเซนต์ผลงานวิจัย หรือเรื่องราววิทยาศาสตร์ภายใน 3 นาที อย่างไรให้สนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย เนื้อหาถูกต้องชัดเจน (Content) วางโครงเรื่องให้ง่ายต่อการเข้าใจ (Clarity) และนำเสนอได้มีเสน่ห์ น่าสนใจ (Charisma) ได้แก่

1. เลือกหัวข้อที่เราอิน และเข้าใจอย่างแท้จริง

หัวข้องานวิจัยที่เราลงมือทำเอง ใช้เวลากับมันมานาน ทำให้เรามีความมั่นใจในการถ่ายทอดเรื่องราวมากกว่าการนำเรื่องของคนอื่น หรือเรื่องที่กำลังอินเทรนด์ที่ไปอ่านมานำเสนอ อีกทั้งเป็นโอกาสที่จะได้บอกให้โลกรู้ว่าเราชอบเรื่องอะไร และกำลังพัฒนาผลงานอะไรอยู่

2. ตีจุด pain point ชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ

การเล่าถึงปัญหาที่มีอยู่ให้เข้าถึงใจผู้ฟัง นำเสนอให้ผู้ฟังตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหานั้น ๆ และต้องแก้ปัญหาในทันที จากนั้นจัดลำดับเรื่องราวให้ผู้ฟังเห็นว่า ผลงานของเราหรือเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร จะช่วยสร้างความรู้สึกร่วมของผู้ฟังที่มีต่อผลงานเราได้ และทำให้การนำเสนอของเราดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

3. สคริปต์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

การวางโครงเรื่องโดยการเขียนสคริปต์สำคัญมากในการเรียบเรียงเรื่องราววิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน น่าเบื่อ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและสนุกขึ้น สำคัญที่จะวางสคริปต์อย่างไรให้คนฟังกลับบ้านไปเข้าใจเรื่องของเราได้โดยไม่มีคำถามคาใจ แนะนำให้เลือกใช้คำที่ง่าย หลีกเลี่ยงศัพท์เทคนิคต่าง ๆ เรียบเรียงเป็นประโยคง่าย ๆ และนำเสนอเพียงแค่ 1-2 ประเด็นหลัก เลือกไฮไลท์ข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ ออกแบบการขึ้นต้นเรื่อง กลางเรื่อง และปิดท้ายเรื่องอย่างประทับใจและน่าจดจำ เมื่อได้สคริปต์แล้ว ฝึกซ้อมโดยแบ่งจังหวะการพูด การใช้น้ำเสียงหนักเบาให้เหมาะสม

4. สร้างภาพจำ

การสร้างภาพจำ จะช่วยให้ผู้ฟังจดจำเรื่องราวที่เรานำเสนอได้ดียิ่งขึ้น ได้สอดแทรกความเป็นตัวเองในระหว่างการนำเสนอ จะช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้กับการนำเสนออีกด้วย เช่น การดัดเสียง เลียนเสียง การแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ การใช้อุปกรณ์ประกอบที่ช่วยจำ ก็อาจจะนำสิ่งที่ตัวเองชอบมาสร้างกิมมิคในการนำเสนอได้ สำหรับเทคนิคการเป็นตัวของตัวเองของจัสท์ คือการสร้างคาแรคเตอร์การนำเสนอที่สอดคล้องกับผลงาน เช่นตอนที่เธอไปแข่งขันเฟมแล็บที่อังกฤษ เธอเลือกแต่งตัวเป็นเฮอร์ไมโอนี และสร้างธีมการนำเสนอขึ้นมา เกี่ยวกับวิชาเวทมนต์ที่สามารถเสกกระดูกขึ้นมาใหม่ได้ เหมือนกับงานวิจัยที่เธอสร้างกระดูกมนุษย์ขึ้นมาในห้องแล็บ หรือการแต่งตัวเป็นฟาร์มเกิร์ลเลี้ยงไก่ ที่ไม่ได้เลี้ยงในฟาร์ม แต่สร้างเนื้อไก่ขึ้นมาในแล็บ ซึ่งได้รับความประทับใจจากคนฟังเป็นอย่างมาก

5. ซ้อม ซ้อม และ ซ้อม!

ถึงเราจะฝึกซ้อมมากับสคริปต์ แต่การท่องจำทั้งหมดจะทำให้การพูดดูไม่เป็นธรรมชาติ เพราะการพูดเป็นเหมือนการแสดงอย่างหนึ่งที่มีหลายองค์ประกอบ ไม่ใช่แค่การอ่าน! ให้ใช้สคริปต์เป็นโครงสร้างไม่ให้เราหลุดประเด็นที่จะนำเสนอ แต่การฝึกซ้อมอย่างหนักเหมือนนักกอล์ฟที่ซ้อมวงสวิงจนกล้ามเนื้อจดจำวงสวิงได้เอง จะทำให้เราทำออกมาได้เป็นธรรมชาติ ช่วงเวลาก่อนขึ้นเวทีประกวด สิ่งที่ควรทำคือการทำสมาธิ นึกภาพการนำเสนอของเราทั้งหมด และสร้างอินเนอร์มาจากภายใน สร้างความมั่นใจ และทำมันออกมาอย่างเต็มที่!

นอกจากเทคนิคดังกล่าวแล้ว ลองฝึกซ้อมกับคนใกล้ตัว และรับฟีดแบคมาพัฒนาตัวเอง เพราะบางครั้งการที่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์อาจจะทำให้เราติดใช้คำศัพท์วิชาการโดยไม่รู้ตัว การฝึกซ้อมโดยการเล่าเรื่องที่จะนำเสนอให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ จะช่วยให้เราได้รับฟีดมาปรับปรุงการใช้คำ และรูปแบบการนำเสนอให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การออกเสียงภาษาอังกฤษให้ถูกต้องชัดเจน พูดให้ช้าลงกว่าที่พูดปกติเล็กน้อย หากฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยให้เป็นนักสื่อสารที่ดีได้