posttoday

เรากำลังเผชิญกับ "ภาวะหมดไฟในการทำงาน" ใช่หรือไม่?

16 สิงหาคม 2562

"หมดไฟ" ปล่อยไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ แล้วจะแก้อย่างไร ต้องไปดู

"หมดไฟ" ปล่อยไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ แล้วจะแก้อย่างไร ต้องไปดู

ก่อนอื่นต้องเช็กสัญญาณไฟในตัวเองกันก่อนว่า เรามีความรู้สึกแบบนี้หรือไม่?

  1. รู้สึกว่าชีวิตมีความสุขน้อยลง
  2. เบื่อๆ เซ็งๆ ไม่อยากไปทำงาน
  3. ทำงานแบบเบื่อหน่าย ไม่มีสมาธิ
  4. รู้สึกว่าตัวเองด้อยความสามารถ
  5. เห็นอะไรก็หงุดหงิดใจไปเสียหมด

#ถ้าคำตอบบอกว่า ใช่!!!...ปล่อยไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ๆ

เรากำลังเผชิญกับ "ภาวะหมดไฟในการทำงาน" ใช่หรือไม่?

กลายเป็นประเด็นปัญหาทางสุขภาพที่เกิดกับคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดและมีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจ ครอบครัว และประเทศชาติไปแล้ว สำหรับ "ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout)" ซึ่งเป็นผลมาจากความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานที่หนักเกินไปจนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้รู้สึกสูญสิ้นพลังงานในการทำทุกอย่าง หงุดหงิดรำคาญใจ ท้อแท้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับร่างกาย รวมไปถึงพฤติกรรมการกินอาหารและการนอนหลับ

ที่ประชุมองค์การอนามัยโลก จึงได้บรรจุให้อาการหมดไฟในการทำงานเป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ พร้อมบรรจุอยู่ในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับที่ 11 หรือ International Classification of Diseases ซึ่งมีชื่อย่อว่า ICD-11 เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคใหม่ ซึ่งจะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการทั่วโลกในวันที่ 1 ม.ค. 2565

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน มักเกิดจากการปัจจัยดังต่อไปนี้

  • สั่งสมความเครียดจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน
  • โดนกดดันอย่างไม่หยุดหย่อน
  • งานเยอะ งานล้นมือ ทำงานไม่ทัน
  • ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรไม่ทัน
  • โดนบีบบังคับให้ต้องปรับรูปแบบการทำงานที่ขัดกับบุคลิกลักษณะนิสัย
  • งานที่ทำไม่มีการกำหนดขอบเขตภาระหน้าที่ที่ชัดเจน
  • สังคมในที่ทำงานต่างคนต่างอยู่
  • เพื่อนร่วมงานไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
  • มีวันหยุดน้อย เวลาพักผ่อนน้อย

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า ไร้เรี่ยวแรง เกิดความรู้สึกลบ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่สามารถจดจ่อสมาธิต่องานได้เหมือนเคย ต้องฝืนตัวเองให้ทำงานจึงจะทำงานเสร็จได้ หรือต่อให้ทำงานสำเร็จลุล่วงก็ไม่รู้สึกพอใจ อาจรวมไปถึงการนอนไม่หลับ และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย จนนำไปสู่การใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดได้

ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมโรค จึงแนะวิธีการจัดการกับภาวะหมดไฟด้วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต 2 ด้านหลักๆ ได้แก่

  1. ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือช็อปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง  พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่นว่ารู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้
  2. ด้านการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า การปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้นต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงานเพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม

หากปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตแล้วอาการยังทวีความรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา มิเช่นนั้นอาการหมดไฟในการทำงานก็อาจนำมาซึ่งโรคร้ายแรงต่างๆ ชนิดที่คาดไม่ถึงได้

 

 

ภาพ freepik