posttoday

เคล็ด(ไม่)ลับ... รับมือเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา

15 สิงหาคม 2559

การทำงานถือว่าเป็นการเข้าสังคมประเภทหนึ่ง ในแต่ละวันของการทำงาน เราต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานมากหน้าหลายตา

โดย...กันย์ ภาพ...  คลังภาพโพสต์ทูเดย์

การทำงานถือว่าเป็นการเข้าสังคมประเภทหนึ่ง ในแต่ละวันของการทำงาน เราต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานมากหน้าหลายตา เราใช้เวลาอยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่ที่บ้านเสียอีก บางคนได้เปลี่ยนจากการเป็นแค่เพื่อนร่วมงานมาเป็นเพื่อนของเราจริงๆ นอกเหนือเวลางาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีเพื่อนร่วมงานบางจำพวกที่เราอยากให้เป็นแค่คนรู้จักในที่ทำงานเท่านั้น

เพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหานี้มีอยู่ในทุกองค์กรและมาในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานจอมขัด เป็นเพื่อนร่วมงานประเภทที่ชอบขัดไว้ก่อน ทั้งขัดขวางและขัดแย้ง เพื่อนร่วมงานขี้โม้ เป็นกลุ่มที่ชอบรับปากแต่ไม่ลงมือทำ คือรับไว้ก่อนแต่สุดท้ายทำไม่ได้ หรืออาจเป็นประเภทที่ไม่กล้าปฏิเสธ อีกกลุ่มที่ต้องพูดถึงคือเพื่อนร่วมงานนักอู้ เป็นเพื่อนร่วมงานประเภทเฉื่อย หมดไฟ ไร้จุดหมาย ทำให้เกิดความล่าช้าอยู่เป็นประจำ เช่นนี้เป็นต้น

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทที่ปรึกษาเอพีเอ็ม กรุ๊ป กล่าวว่า ในทางปฏิบัติสิ่งที่เราพอจะทำได้ในการรับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหาเหล่านี้คือในกรณีที่เป็นเพื่อนร่วมงานจอมขัด ก่อนอื่นเราต้องมีความอดทน และเราอาจต้องยอมให้เขาเป็นคนเริ่มเสนอความคิดเห็นได้ก่อนตั้งแต่แรก หลังจากนั้นก็ต้องตกลงกันว่าเมื่อถึงคราวของคุณก็ต้องให้เกียรติกัน

ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานขี้โม้ ซึ่งโดยส่วนมากเกิดจากการที่เขาหรือเธอขาดความสามารถในการวิเคราะห์ บนพื้นฐานที่เป็นจริง หรือไม่สามารถคิดอะไรที่ซับซ้อนได้ สิ่งที่คุณทำได้คือช่วยให้เขาประเมินสถานการณ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง

สำหรับเพื่อนร่วมงานจอมขี้เกียจนั้น ทางหนึ่งที่ช่วยได้คือการร่วมกันวางแผนในการทำงาน แล้วให้นักอู้เป็นคนเสนอระยะเวลาและกำหนดส่งงานด้วยตนเอง เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้นักอู้มีความรู้สึกผูกมัดได้ไม่มากก็น้อย นอกจากนั้น เราอาจจะต้องแบ่งปันจุดมุ่งหมายกับเขา แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นส่วนสำคัญของทีมและมีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของทีมไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ อย่างไร

นอกจากนั้น ก็อยากเสนอเครื่องมือหรือเคล็ด(ไม่) ลับ ในการต้องทำงานหรือติดต่อกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหาเหล่านี้

กำหนดขอบเขต

เพราะว่าคุณไม่สามารถควบคุมเพื่อนร่วมงานได้เสมอไป แต่ว่าคุณสามารถรักษาสัมพันธ์เอาไว้ในระยะที่พอดีได้ ดังนั้นจึงอย่ารู้สึกกดดันที่จะต้องทำงานหรือใช้เวลากับคนพวกนี้ สิ่งที่คุณควรจะต้องทำก็คือจำกัดเวลาและค่อยๆ ทิ้งระยะห่างระหว่างคุณและคนคนนั้นออกไป และถ้าคุณจำเป็นต้องประสานงานกับบุคคลนั้นก็พยายามใช้บทสนทนาสั้นๆ พอ

อย่าประเมินสถานการณ์เกินความจริง

ในบางครั้ง เราไม่อาจหาเหตุผลในพฤติกรรมหลายๆ เรื่องของเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหาได้ นั่นแปลว่า คุณอาจจะต้องเสียเวลา เสียพลังงานไปเปล่าๆ ถ้าคุณพยายามที่จะไปทำความเข้าใจกับพฤติกรรมนั้น ข้อแนะนำคือทำเท่าที่ทำได้ แต่ควรที่จะระวังอารมณ์ของคุณเองให้ดี อย่าไปใส่ใจกับพฤติกรรมของเขาจะดีกว่า

คงไว้ซึ่งความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์

สุขภาพจิตที่ดีนั้นสำคัญมาก ดังนั้น อย่าปล่อยให้เพื่อนร่วมงานที่ไม่ดีมาแสดงความเห็นหรือทำหยาบคายใส่คุณแล้วทำให้คุณรู้สึกตกต่ำลงเด็ดขาด คนที่มีความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์จะน้อมรับและเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองได้ตัดสินใจทำลงไปโดยไม่ยอมให้ความเห็นด้านลบของคนบางคนมาทำให้เขารู้สึกแย่ต่อตัวเอง

จริงอยู่ที่การกระทบกระทั่งในที่ทำงานเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ในบางครั้งที่เกิดสถานการณ์ความคิดเห็นแตกต่างกันกับเพื่อนร่วมงาน หากคุณไม่ลดราวาศอกก็อาจจะเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงก็เป็นได้ ดังนั้น หากพบว่าคุณและเพื่อนร่วมงานกำลังมีเหตุให้ต้องปะทะหรือขัดแย้งกัน เทคนิคที่กล่าวไว้ข้างต้นน่าจะพอช่วยลดหรือทุเลาความรุนแรงลงไปได้ นอกจากนั้นคุณอาจต้องลองมองเรื่องต่างๆ ในมุมของเขาดู เพราะมันอาจจะทำให้คุณมองเห็นแง่คิดใหม่ๆ และเข้าใจในความแตกต่างระหว่างกันได้ดียิ่งขึ้น