posttoday

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

27 กันยายน 2563

โพสต์ทูเดย์พาไปรู้จัก “อุดรธานี” ให้มากขึ้น พร้อมชม 6 สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในจังหวัดสะอาดประจำปี 2563 พาเยือนดินแดนศักด์สิทธิ์ สักการะพญานาคราช ‘ปู่ศรีสุทโธ’ ล่องแพ ‘น้ำพาน’ ชมดอกไม้บาน ‘ปทุมมา’ แวะสปาแหล่ง ‘เกลือสินเธาว์’ ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

"กรมหลวงประจักษ์ฯ สร้างเมือง ลือเลื่องแหล่งธรรมะ อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่ขิด

ธรรมชาติเนรมิตทะเลบัวแดง แรงศรัทธาศรีสุทโธ ปทุมมาคำชะโนด"

เริ่มด้วยคำขวัญประจำ "จังหวัดอุดรธานี" จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และอีกไฮไลท์คือการเป็นดินแดนแห่งวัดป่า ประตูสู่ประเทศลาว ดินแดนอินโดจีน และดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา และมีหัตถกรรมผ้าขิตที่มีชื่อเสียงขจรขจาย

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เดิมทีพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 5,000-7,000 ปี โดยมีหลักฐานจากการค้นพบที่บ้านเชียงอำเภอหนองหาน และภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีมีอารยธรรมความเจริญในระดับสูง โดยเฉพาะลวดลายของเครื่องปั้นดินเผา สีลายเส้นที่บ้านเชียงที่มีการสันนิษฐานว่าแสดงถึงอายุของอารยธรรมที่อาจจะเก่าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

หลังจากยุคบ้านเชียงแล้ว ที่นี่ก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ กระทั่งล่วงเข้าสมัยทวาราวดี (พ.ศ.1200-1600) สมัยลพบุรี (พ.ศ.1200-1800) และสมัยสุโขทัย (พ.ศ.1800-2000) จากหลักฐานที่พบคือใบเสมาสมัยทวาราวดีลพบุรี และภาพเขียนปูนบนผนังโบสถ์ที่ปรักหักพังบริเวณเทือกเขาภูพานใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ แต่ก็ยังไม่ปรากฏชื่ออุดรธานีในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

จังหวัดอุดรธานี เริ่มปรากฏในประวัติศาสตร์ ราวปี พ.ศ.2117 ครั้งพระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ทรงเกณฑ์ทัพไทยให้ไปช่วยตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา กับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกทัพไปช่วยรบ แต่เมื่อกองทัพไทยมาถึงเมืองหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประชวรด้วยไข้ทรพิษจึงยกทัพกลับ และเมืองหนองบัวลำภูนี้เองสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ

ในปี พ.ศ. 2428 เมืองอุดรธานีปรากฎอยู่ในชื่อ “บ้านหมากแข้ง” หรือ “บ้านเดื่อหมากแข้ง” อยู่ในสังกัดเมืองหนองคายขึ้นอยู่กับการปกครองกับมณฑลลาวพวนโดยสมัยนั้นพวกฮ่อได้รวมตัวก่อการร้ายกำเริบเสิบสานขึ้นอีกในมณฑลลาวพวนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและมีท่าทีจะรุนแรงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้และเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือไปทำการปราบปรามพวกฮ่อ

ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้ว ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสต้องการลาว เขมร ญวน เป็นอาณานิคม เรียกว่า “กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)” ด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาประเทศไว้ จึงทรงสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส และตามสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ มีเงื่อนไขห้ามประเทศสยามตั้งกองทหารและป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตรของฝั่งแม่น้ำโขง หน่วยทหารไทยที่ตั้งประอยู่ที่เมืองหนองคายอันเป็นเมืองศูนย์กลางของหัวเมือง หรือมณฑลลาวพวน ซึ่งมีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการ จำต้องอพยพเคลื่อนย้ายลึกเข้ามาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อบ้านเดื่อหมากแข้ง (ซึ่งเป็นที่ตั้งจังหวัดอุดรธานีปัจจุบัน)

เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะมีแหล่งน้ำดี กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงบัญชาให้ตั้งศูนย์มณฑลลาวพวน และตั้งกองทหารขึ้น ณ หมู่บ้านเดื่อหมากแข้ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมือง “อุดรธานี” ขึ้นที่บ้านหมากแข้ง อยู่ในการปกครองของมณฑลอุดร หลังการเปลื่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2475 แล้วได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกการปกครองในระบบมณฑลในส่วนภูมิภาค ยังคงเหลือเฉพาะจังหวัดและอำเภอเท่านั้น มณฑลอุดรจึงถูกยุบเลิกไปเหลือเพียง “จังหวัดอุดรธานี” สืบมา

...เล่าย้อนถึงที่มากันแล้ว ก็ขอพาทัวร์แหล่งท่องเที่ยว Unseen ที่น่าสนใจแหล่งใหม่ๆ ของจังหวัดอุดรธานีเลยแล้วกัน

เริ่มกันที่ วังนาคินทร์ คำชะโนด

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ ตั้งอยู่ที่วัดศิริสุทโธ ตำบลวังทอง เชื่อว่าเป็นประตูสู่เมืองบาดาล  มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคตามความเชื่อของชาวอีสานและชาวลาว  ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวมีต้นชะโนดขึ้นปกคลุมหนาแน่น โดยลักษณะของต้นชะโนดคือ ลำต้นสูงคล้ายมะพร้าว ผลเหมือนลูกหมาก ส่วนใบเหมือนต้นตาล ภายในคำชะโนดมีต้นชะโนดรวม 1,865 ต้น เป็นสถานที่ประดิษฐานศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ แม่ย่าศรีประทุม ต้นมะเดื่อยักษ์ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนต่างมาขอพรและสมหวังดั่งปรารถนากันมากมาย

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

ปัจจุบันคำชะโนดเพิ่มมาตรการคัดกรอง และคำนึงถึงเรื่องความสะอาดแ สุขลักษณะ มีการฉีดพ่น้ำยาฆ่าเชื้อ การจำกัดผู้เข้าไปภายในเป็นรอบๆ รวมถึงการขอความร่วมมือเรื่องการรักษาระยะห่าง ก่อนกลับทุกคนสามารถเลือกซื้อของฝาก ของที่ระลึก และอุดหนุนฉลากกินแบ่งรัฐบาลได้ตามอัธยาศัย

บ่อเกลือบ้านดุง แหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

บ่อเกลือบ้านดุงถือเป็นบ่อเกลือสินเธาว์แห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทย จังหวัดอุดรธานีเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดของภาคอีสานที่ผลิตเกลือสินเธาว์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยมีพื้นที่ผลิตเกลือประมาณ 3,000 ไร่ อยู่ใน 4 พื้นที่คือ พื้นที่ทำนาเกลือบ้านทุ่ง ตำบลบ้านชัย พื้นที่บ้านฝาง บ้านโพนสูงเหนือ-บ้านโพนสูงใต้ ตำบลโพนสูง พื้นที่บ้านดุงน้อย บ้านศรีสุทโธ ตำบลศรีสุทโธ และบ้านดุงเหนือ ตำบลบ้านดุง

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

คุณสมบัติของเกลือสินเธาว์นั้นมีแร่ธาตุอยู่หลากหลายชนิด มีคุณสมบัติไม่ทำให้ผิวแห้ง ผิวชุ่มชื้น และโคลนสามารถนำมาพอกตัวหมักตัว ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดนำของดีจากชุมชนมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงสปาชั้นดีที่น่าไปลองสักครั้ง

ล่องแพน้ำพานจุดรวมพลคนคลายร้อน

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

อ่างเก็บน้ำพาน ตั้งอยู่ในอำเภอสร้างคอม ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลสร้างคอม  ตำบลนาสะอาด และตำบลเชียงดา มีพื้นที่รวมกว่า 4,300 ไร่ ถือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งของภาคอีสาน สัมผัสวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมพื้นบ้าน ชมเกาะกลางน้ำ (โนน) ศูนย์รวมความเชื่อของคนนาสะอาด สักการะศาลปู่บ่อโอ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บนบานเรื่องการงาน ความสำเร็จ ขอฝนหน้าแล้ง แก้บนด้วยหมูทั้งตัว ภายในอ่างเก็บน้ำยังเป็นแหล่งอาศัยของปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด ด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม จุดล่องแพน้ำพานจึงกลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้าน และเป็นที่เที่ยวอุดรธานีที่นักท่องเที่ยวเลือกมาเยือน

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

กิจกรรมยอดฮิตคือการล่องแพชมวิว ลงเล่นน้ำ ตกปลา ทำอาหาร และกิจกรรมภายในครอบครัว โดยสนนราคาเริ่มเพียง 300 บาท เพิ่มชั่วโมงละ 100 บาท หรือราคาเหมาวันละ 1,000 บาท ให้บริการเวลา 09.00-17.00 น. รองรับนักท่องเที่ยวได้ราว 5,000 คนต่อวัน กิจกรรมล่องแพน้ำพานจะปิดช่วงหน้ามรสุมเพื่อให้ปลาวางไข่ ช่วงเดือนมิถุนายน - กลางสิงหาคม

บ้านห้วยสำราญ ตระการไม้ดอกไม้ประดับ

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เดิมที่บ้านห้วยสำราญชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ทำนาทำไร่มันสำปะหลัง ปี พ.ศ.2523 มีเกษตรกรในหมู่บ้านนำเบญจมาศพันธุ์มูเซอมาปลูกและเกิดรายได้ทำให้เกษตรกรในหมู่บ้านสนใจทำการปลูกไม้ดอก ปัจจุบันบ้านห้วยสำราญเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ของจังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองอุดรธานี หมู่บ้านมีพื้นที่ 625 ไร่ ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเกษตรกรปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายพันธุ์ เช่น มะลิร้อยมาลัย เบญจมาศ ดาวเรือง ดอกพุด คัตเตอร์ (พีค็อก) กุหลาบร้อยมาลัย ไม้ตัดใบ เป็นต้น และยังมีกิจกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ พวงมาลัยไหว้พระ มาลัยกร มาลัยแต่งงาน พานบายศรี ช่อดอกไม้สด พวงหรีด แจกัน ซุ้มประตู้ เป็นต้น ที่นี่มีไม้ดอกไม้ประดับให้ปลูกและเก็บตลอดทั้งปี สลับสับเปลี่ยนตามฤดูกาล ทำให้เกิดเป็นรายได้หลักของหมู่บ้าน

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

และในช่วงนี้ที่นี่ยังมีงาน "ปทุมมาเบ่งบาน เที่ยวห้วยสำราญสุขใจ" ณ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ บ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ ต.หนองไฮ อ.เมืองอุดรธานี ที่รอให้นักท่องเที่ยวได้มาชื่นชมความงดงามของแปลงปลูกดอกปทุมมากว่า 13 สายพันธุ์ที่เบ่งบานรับหน้าฝน และดอกปทุมมาพันธุ์ห้วยสำราญดอกสีชมพูอ่อน ที่มีเฉพาะบ้านห้วยสำราญเท่านั้น

ชมรอยฝ่ามือแดงอายุ 2,500 ปี วัดภูตะเภาทอง

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

วัดภูตะเภาทอง นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมะแห่งใหม่ของจังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านหนองแวงสีชมพู ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ ปัจจุบันมีพระครูเขมกาญจโนภาส (สุพรรณ) เป็นเจ้าอาวาส เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตนิกาย พื้นที่ส่วนมากเป็นลานหิน และหินขนาดใหญ่รูปร่างแปลกตา ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าเดิมเป็นทะเล ต่อมาเกิดการยกตัวขึ้นเป็นลานหินและพื้นดิน ที่นี่รายล้อมด้วยผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีไม้ป่านานาพันธุ์ที่เกิดบนภูเขาหินอย่างเหลือเชื่อ

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

ส่วนสองไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงวัดภูตะเภาทอง คือ “พญานาคราชสีทอง” ชื่อมุจลินท์ ซึ่งหลวงพ่อได้สร้างขึ้นตามนิมิต  บริเวณบ่อน้ำสีครามที่กั้นกลางระหว่างหินใหญ่ 2 ลูก ที่ขอบบ่อเนรมิตพญานาคสีทองขนาดใหญ่ 2 ตัว เมื่อเงาของพญานาคสะท้อนน้ำรวมกับแสงของดวงอาทิตย์ในแต่ละช่วง จะเกิดปรากฏการณ์น้ำสีต่างๆ จากคำบอกเล่าของเจ้าอาวาส ซึ่งต้องให้นักท่องเที่ยวมาพิสูจน์ความอัศจรรย์ด้วยตนเอง

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

“รอยฝ่ามือแดง” ที่กรมศิลปากรตรวจสอบแล้วยืนยันว่ามีอายุประมาณ 2,500 ปี ใกล้เคียงกับผาแต้ม ปรากฏบนหินขนาดใหญ่ที่ตั้งชื่อว่าเรือสำเภา เพราะมีรูปร่างคล้ายเรือ ที่วัดภูตะเภาทองช่วงเสาร์ อาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประมาณวันละ 1,000 คน ส่วนวันธรรมดาก็มีประมาณ 300-400 คน สำหรับที่นี่ใครได้มาต้องอยากกลับมาอีกครั้งเพราะความน่ารักและอบอุ่นของคนในพื้นที่

จุดชมวิวสามจังหวัด ณ วัดเขาช่องชาด

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

วัดเขาช่องชาด  อยู่ที่อำเภอหนองวัวซอ บริเวณสันเขาภูพานคำ เขตอุทยานแห่งชาดภูเก้าภูพานคำ  ห่างจากเทศบาลตำบลอูบมุงราว 6 กม. สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้เบญจพรรณ อาทิ ป่าไผ่ ประดู่ มะค่าโมง แดง ยาง ต้นชาด และกล้วยไม้ มีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ไก่ป่า กระรอก กระแต นก ค้างคาว งู สุนัขป่า ฯลฯ วัดเขาช่องชาด เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นสำนักสงฆ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระอาจารย์บุญมี ฐานะจาโร 

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

จุดไฮไลท์คือ พระใหญ่เขาช่องชาด พระพุทธรูปองค์สีขาว กับราวบันไดพญานาคสีทอง และจุดชมวิวที่มองเห็นภาพทิวทัศน์เขาช่องชาด ซึ่งเป็นกันชนเขตแดนระหว่างสามจังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู และขอนแก่น จุดที่สามารถมองเห็นภาพธรรมชาติภายในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอได้เกือบทั้งหมด อีกทั้งยังมองเห็นเจดีย์วัดดอยบันไดสวรรค์ได้ชัดเจน ส่วนทางด้านตะวันตกสามารถมองเห็นอำเภอโนนสัง อำเภอเมืองหนองบัวลำภู   ทิศใต้มองเห็นเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

เช็กอินอุดรฯ ดินแดนแห่งศรัทธา

ก่อนจบขอทิ้งไว้ด้วยวลีของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ที่ว่า "อุดรเป็นเมืองใหญ่ อยู่เฉยไม่ได้ เกียร์ว่างไม่มี" ... แล้วเราจะกลับไปอีกครั้งเพื่อเที่ยวชมจังหวัดอุดรธานี และขอขอบพระคุณที่ให้เกียรติเราได้เป็นแขกเมืองของท่านเพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องดีๆ ที่หลายคนยังไม่เคยรู้มาก่อน

เรื่องและภาพ : วารุณี มณีคำ