posttoday

ชิโกคุ ครั้งแรก (จบ)

31 มีนาคม 2562

หลังจากนั่งเรือกลับจากเกาะโชโดะชิม่า

หลังจากนั่งเรือกลับจากเกาะโชโดะชิม่า นึกถึงสภาพร่างกายที่อ่อนแรงเหนื่อยล้าจากการเดินทางเที่ยวทั้งวัน ถ้าที่พักอยู่ในตัวเมืองหรืออยู่ใกล้ท่าเรือคงดีไม่น้อยจะได้พักผ่อนเลย แต่เนื่องจากสถานที่เที่ยวสุดท้ายของทริปอยู่ที่เมืองโคโตะฮิระ จากท่าเรือทาคามัตสึจึงต้องนั่งรถไปประมาณ 40 นาที เพื่อเข้าพักที่โรงแรมโคไบเท โรงแรมสไตล์เรียวกังญี่ปุ่นมีห้องพักทั้งแบบตะวันตกและแบบเสื่อทาทามิ อาหารอร่อย นอนหลับพักผ่อนสบาย แถมโลเกชั่นยังใกล้ “ศาลเจ้าโคโตฮิรากู” อีกด้วย

สถานที่เที่ยวสุดท้ายของทริปขอจบที่ศาลเจ้าโคโตฮิรากู หรือที่รู้จักกันในนาม “ซานุกิ โนะ คมปิระซัง” ซึ่งแปลว่าศาลเจ้าคมปิระแห่งซานุกิศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่บนภูเขาโคโตฮิระหรือภูเขาโซซุ ที่สูงถึง 521 เมตร ศาลเจ้ามีประวัติยาวนานกว่า 1,300 ปี เดิมทีสร้างขึ้นเพื่อสักการะเทพเจ้า Omononushi เทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยว อุตสาหกรรม สมบัติทางวัฒนธรรม รวมถึงความสงบของชาติ และยังถือเป็นศาลเจ้าของเทพผู้พิทักษ์ท้องทะเล เมื่อสมัยเฮอันได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธ และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “คมปิระไดกงเก็ง” ภายหลังในสมัยเมจิก็ได้ปรับเปลี่ยนตามนโยบายที่ให้แยกศาสนาชินโตกับศาสนาพุทธออกจากกัน เลยกลับไปใช้ชื่อโคโตฮิรากูแบบเดิม แต่ก็ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ศาลเจ้าคมปิระ เช่นกัน

ชิโกคุ ครั้งแรก (จบ)

เช้านี้ไม่ใช่เช้าที่แสนธรรมดา แต่เป็นเช้าที่จะต้องใช้เรี่ยวแรงพลังขาและพลังใจในการเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากศาลเจ้าอยู่บนเขามีขั้นบันไดมากถึง 1,368 ขั้น พอจะจินตนาการได้แล้วใช่ไหม ว่าเช้านี้ไม่ธรรมดาอย่างที่ว่า จากโรงแรมเดินไปไม่ไกลหาได้ไม่ยากถ้าเห็นใครกำลังถือไม้เท้าเดินแสดงว่าเขาก็มีจุดหมายเดียวกันกับเรา ถนนทางขึ้นในระยะแรกจะเรียงรายด้วยร้านค้า ทั้งร้านขายของที่ระลึก ร้านขายขนม หรือร้านขายของตกแต่งที่แกะสลักจากไม้ แต่ก็มีหลายร้านที่ยังไม่เปิด สังเกตเห็นจะมีไม้เท้าให้เช่าอยู่บ้างเป็นบางร้าน ถ้าใครเห็นว่ากันไว้ก่อนมีไว้อุ่นใจก็เช่าได้เลย แต่สำหรับเราหยิบไม้เท้าฟรีมาจากที่โรงแรมแล้ว

เดินไปพลางดูข้าวของระหว่างทาง ทำให้ไม่รู้สึกถึงความเหนื่อยเท่าไร คนที่มาเที่ยวมีทั้งวัยรุ่น วัยเก๋า รุ่นเด็กเล็กเด็กน้อยมากับครอบครัวก็มี ถ้าใครไม่ไหวก็มีบริการเสลี่ยงพาขึ้นไปด้านบนเหมือนกัน แต่จะถึงแค่ประตูทางเข้าศาลเจ้าขั้นบันไดที่ 365 เท่านั้นที่เหลือต้องเดินต่อเอง ผ่านประตูใหญ่โอมงเข้ามา จะเจอกับร้านค้าที่กางร่มขายน้ำตาลเคี่ยวคล้ายลูกอมแผ่นใหญ่ ถัดจากร้านค้าเป็นทางเดินยาว ในช่วงฤดูใบไม้ผลิต้นซากุระจะผลิดอกสวยงามตลอดสองข้างทาง ต่อจากนี้ไปไม่มีร้านค้าให้ซื้อน้ำดื่ม มีแต่ขั้นบันไดที่นำขึ้นไปสู่ศาลเจ้าเท่านั้น

ชิโกคุ ครั้งแรก (จบ)

บันไดหิน บรรยากาศท่ามกล่ามต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ลมอ่อนๆ และอากาศในยามเช้าทำให้การเดินนี้เป็นไปอย่างเรียบง่ายค่อยเป็นค่อยไป เพราะเป็นช่วงเช้าอยู่จึงยังไม่ค่อยมีคนสักเท่าไร ทำให้การเดินทางเต็มไปด้วยความเงียบสงบ ได้ยินเพียงเสียงนกร้องเคล้าด้วยเสียงหัวใจของตัวเองที่เต้นเป็นจังหวะเร็วแสดงถึงความเหนื่อย ขั้นบันไดเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สลับกับทางเดินปกติ มีจุดแวะพักเป็นระยะ ผู้คนที่เดินนำหน้ามา ก็เดินนำหน้าไปจนไม่เห็นหลัง ส่วนคนที่เดินตามหลังก็เริ่มแซงไปไกล เพราะเรามัวแต่หยุดพักสูดหายใจ ทั้งๆ ที่เป็นคนรุ่นๆ แท้ๆ แต่กลับเหนื่อยหอบง่ายมากกว่าคนญี่ปุ่นที่ดูมีอายุเสียอีก บันไดช่วงสุดท้ายนี้มีลักษณะสูงชัน ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งปรากฏเห็นตัวอาคารศาลเจ้า Izutama-jinja อย่างเด่นชัด

ด้านบนบรรยากาศเงียบสงบ ผู้คนบางตา ฉันสำรวจบริเวณรอบๆ ศาลเจ้า มีจุดชมวิวที่เห็นทั่วเมืองโคโตฮิระ ไกลจนเห็นถึงทะเลในเซโตะ ฉันได้ซื้อเครื่องรางถุงสีทองยอดนิยมของที่นี่ติดไม้ติดมือไปด้วย ซึ่งช่วยเรื่องของความสุข ถัดจากอาคารจำหน่ายเครื่องราง จะมีเซียมซีที่มีรูปปั้นสุนัข สุนัขมีความข้องเกี่ยวกับศาลเจ้าตรงที่ว่าในอดีตสุนัขเป็นเหมือนตัวแทนสักการะของผู้ที่ไม่สามารถเดินขึ้นมาข้างบนได้ด้วยตัวเอง โดยผู้คนเหล่านี้จะนำเงินใส่ถุงสีเหลืองแขวนไว้ที่สุนัขเพื่อทำหน้าที่แทนตน แล้วขากลับสุนัขก็จะนำเครื่องรางกลับมาให้

ชิโกคุ ครั้งแรก (จบ)

จริงๆ แล้วความรู้สึกแรกแอบผิดหวังเล็กน้อยที่ด้านบนไม่มีอะไรเลย มีเพียงศาลเจ้า Izutama-jinja ขนาดไม่ใหญ่มาก จุดชมวิว และโซนสมบัติทางวัฒนธรรม มีแค่นี้เองเหรอที่ต้องเหนื่อยเดินขึ้นเขาขึ้นบันไดมาถึง 1,368 ขั้น “ความไม่มีอะไร คือความมีอะไร” สิ่งที่เป็นจุดหมายปลายทางที่เราพยายามเดินเข้าไปหา แท้จริงแล้วระหว่างทางต่างหากที่สำคัญกว่า เส้นทางเดินที่มีอุปสรรคเป็นบันไดหลากหลายขั้น บรรยากาศธรรชาติที่สงบช่วยชำระล้างจิตใจ และคอยย้ำเตือนให้รู้ตระหนักจิต ในอดีตที่มีการเดินทางแสวงบุญเป็นที่นิยมแพร่หลายในภูมิภาคชิโกคุ ศาลเจ้าโคโตฮิรากูแห่งนี้จึงเป็นที่ทดสอบศรัทธาและฝึกเกลาทำสมาธิของนักแสวงบุญได้เป็นอย่างดี

ขาลง 1,368 ขั้นเป็นเรื่องจิ๊บๆ ไปเลย ยิ่งสายผู้คนเริ่มหนาตา แดดก็เริ่มออก ร้านรวงระหว่างทางเริ่มเปิดร้านกันครบ บรรยากาศครึกครื้น มื้อเที่ยงวันนี้ฝากท้องที่โรงเรียนสอนทำอูด้งซานูกิ แน่นอนว่าไม่ใช่แค่จะสั่งอาหารแล้วทานได้เลย แต่เราจะมาทำอูด้งด้วยเท้าของเราเอง! รอยยิ้มที่แสนสดใส กับท่วงท่าการอธิบายที่ใส่ลีลาท่าทาง แม้ใครที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นก็สามารถทำตามได้โดยง่าย ทางร้านจัดเตรียมแป้งไว้ให้แล้ว เราแค่บรรจงนวดให้เป็นก้อน แล้วก็ถึงคิวสองฝ่าเท้าออกแรงนวดแป้ง ไม่ต้องกลัวว่าจะสกปรก เพราะแป้งอยู่ในถุงพลาสติก และอูด้งก้อนนี้คนไหนเหยียบก็กินฝีเท้าของตัวเองไป ดนตรีเพลงฮิตยอดนิยมทั้งเกาหลีญี่ปุ่นสากลดังๆ จังหวะมันส์ๆ ก็มา ทำให้สนุกสนานไปกับการออกแรงเต้นนวดเจ้าก้อนอูด้ง พอได้ที่ก็นวดเป็นแผ่น พับทบไปมาแล้วตัดเป็นเส้น ขนาดไม่ต้องใหญ่มาก เพราะพอเอาไปต้มก็จะบวมขึ้น สุดท้ายได้อูด้งคนละชามถึงเวลาไปลวกเส้น พอสุกก็ทานคู่กับซอสมิโสะท้องถิ่น และเทมปุระร้อนๆ อื้ม...อูด้งที่นี่ไม่เหมือนที่อื่นจริงๆ ด้วย มีความเหนียวหนึบเคี้ยวเพลิน ทานได้เรื่อยๆ ไม่เลี่ยน

ชิโกคุ ครั้งแรก (จบ)

ต่อจากนี้พวกเรานั่งรถบัสจากบริเวณหน้าโรงแรมไปที่สนามบินทาคามัตสึ เพื่อนั่งเครื่องบินภายในประเทศไปลงที่สนามบินนาริตะ แล้วจึงบินกลับไทย ทริปนี้ตะลอนเที่ยวตั้งแต่จังหวัดเอฮิเมะ โคจิ โทคุชิม่า จนมาถึงคะกะวะ เที่ยวครบทั่วภูมิภาคชิโกคุเลย จากที่เคยได้ยินได้ฟังรู้จักแต่ผิวเผิน การได้มาสถานที่จริงทำให้เรารู้จักภูมิภาคนี้มากขึ้นจริงๆ ภูมิภาคที่ไม่ได้มีแค่สถานที่เที่ยวธรรมชาติอันแสนสงบ ยังมีสถานที่เที่ยวอื่นๆ อีกมากมายที่รอคอยให้ไปสัมผัส เป็นทริปแรกที่เข้าใจรู้สึกถึงการพักผ่อนและได้เข้าถึงจิตวิญญาณของตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างทาง แต่ละสถานที่ ผู้คน ต่างช่วยให้เราได้อยู่กับตัวเองเพื่อขบคิดและทบทวนเรื่องราวต่างๆ ไม่แน่ใจว่าชอบความเรียบง่ายหรือแค่หลงเสน่ห์ชิโกคุ หรืออาจเพราะทั้งสองอย่างก็เป็นได้ หากมีโอกาสได้มาญี่ปุ่นอีก ก็จะเลือกภูมิภาคชิโกคุเป็น Destination ต้นๆ ที่ต้องมาเที่ยวซ้ำอีกแน่นอน