posttoday

เที่ยวตามแสง แลเมืองอุทัยฯ

30 มีนาคม 2562

เสียงนกดังแทนเสียงไก่ คุ้งน้ำสะแกกรังกำลังอุทัย

เสียงนกดังแทนเสียงไก่ คุ้งน้ำสะแกกรังกำลังอุทัย พระอาทิตย์ใกล้โผล่พ้นต้นปาล์ม

หนึ่งวันในอุทัยธานีเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น ตอนที่เข็มสั้นยังไม่แตะเลขหก แต่ฟากฝั่งตลาดสดเริ่มส่งเสียงและส่งกลิ่นอาหารเช้า

บรรยากาศของ “ตลาดเทศบาลอุทัยธานี” เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ขายที่นำสินค้าเกษตรและอาหารท้องถิ่นมาวางจำหน่าย อย่างพืชผักพื้นบ้าน ผลไม้ลูกโต ปลาแรดเนื้อแน่นที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลายชนิด น้ำเต้าหู้คู่ปาท่องโก๋ ขนมหวานสารพัด หมูสะเต๊ะย่างใบตอง ขนมจีนน้ำยาพร้อมบุฟเฟ่ต์ผักสด

รวมไปถึงอาหารบ้านๆ ที่ไม่เคยได้ยินชื่อวางขายเรียงรายข้างเรือนแถวสีม่วงที่ชาวอุทัยธานีพร้อมเพรียงกันทาเป็นสีเดียวกัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา

ตลาดเช้าเปิดทุกวันตั้งแต่ 6 โมงเช้าไปจนถึงช่วงเคารพธงชาติ ซึ่งระหว่างนั้นช่วง 7 โมงตรงเผง บริเวณท่าเรือแม่น้ำสะแกกรังจะมีการตักบาตรพระทางน้ำ เป็นกิจกรรมประจำวันของกลุ่ม “อุทัยธานีที่รัก” ที่จัดให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมีโอกาสย้อนอดีตกลับไปในห้วงเวลาที่สายน้ำสะแกกรังเป็นแหล่งชุมชน ก่อนที่ถนนหนทางจะเปลี่ยนทิศผู้คนไปยังแผ่นดิน

เที่ยวตามแสง แลเมืองอุทัยฯ

พระสงฆ์จะนั่งเรือพายมาจากวัดโบสถ์ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม มารับบิณฑบาตฆราวาสที่ต่อคิวเรียงแถวทุกวัน และเส้นทางตลาดสดก็เป็นเส้นทางเดินบิณฑบาตของพระสงฆ์จากหลายวัด จึงจะได้เห็นภาพน่ารักของลูกค้าและแม่ค้าพนมมือรับพรพร้อมกันหน้าแผง

นอกจากนี้ บริเวณทางเข้าตลาดเช้ายังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองปุงเถ่ากง ภายในสถาปัตยกรรมสไตล์จีน เป็นการสะท้อนถึงสภาพบ้านเมืองในอดีตที่เคยเป็นเมืองท่า โดยเฉพาะในหมู่พ่อค้าชาวจีนที่เข้าทำธุรกิจโรงสีข้าว

หลังจากตลาดเช้าวาย ร้านค้าในย่านเมืองเก่าอุทัยฯ ก็เริ่มคึกคัก ริมสองฝั่งถนนที่ตัดตรงไปจากแม่น้ำมีทั้งร้านกาแฟโบราณ ร้านข้าวมันไก่ และร้านขายยาหอมเจ้าเก่ายี่ห้อทับทิม

เอนก สวนศิลป์พงศ์ วัย 76 ปี ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านยาหอมตราทับทิม เล่าว่า หมอวิรัติผู้เป็นพ่อนำสูตรทำยาหอมมาจากประเทศจีน จนถึงวันนี้นับเป็นเวลานานกว่า 50 ปี ยังคงทำสูตรเดิมและยังขายแต่ยาหอมส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างคือกระบวนการผลิต จากในอดีตที่ใช้มือบดสมุนไพร แต่วันนี้อาศัยเครื่องจักรช่วยจัดการ

“เมื่อก่อนขายขวดละ 10 กว่าบาท วันนี้ขายขวดละ 20 บาท มีหน้าร้านที่นี่ที่เดียว ไม่มีสาขาที่ไหน แต่ลูกชายเริ่มขยายไปขายออนไลน์ แล้วส่งสินค้าไปทั่วประเทศทางไปรษณีย์” ลุงเอนก กล่าว

“สรรพคุณของมันใครที่ท้องเสีย ให้ตักยาหอมครึ่งช้อนชาผสมน้ำแล้วดื่มจะช่วยอาการดีมาก หรือผสมน้ำดื่มก่อนนอนจะทำให้หลับสบาย ผมดื่มทุกคืน”

เที่ยวตามแสง แลเมืองอุทัยฯ

ยาหอมประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ทั้งโกฐสอ จันทน์เทศ เปลือกอบเชย กานพลู กฤษณา ผิวส้มเขียว ชะเอมเทศ ให้สรรพคุณหลากประการ ทั้งแก้วิงเวียนศีรษะ แก้มึนเมา แน่นหน้าอก ปวดท้อง อาหารเป็นพิษ นอนไม่หลับ บำรุงครรภ์ และบำรุงหัวใจ

จนถึงวันนี้ยาหอมตราทับทิมสูตรหมอวิรัติยังกลายเป็นของขายดีประจำจังหวัด เช่นเดียวกับน้ำยาอุทัยที่เป็นยาสมุนไพรดับกระหายแก้ร้อนในอย่างดี

จากนั้นหากต้องการเข้าร้านกาแฟรุ่นใหม่ แต่อยู่ในบรรยากาศเก่าๆ ต้องเดินเข้า “ร้านกาแฟบ้านจงรัก” ร้านเปิดเฉพาะวันเสาร์-จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เวลา 07.30-17.00 น. ขายกาแฟสดขนมปังปิ้ง ขนมปังเย็น โดยได้ปรับบ้านเก่าชั้นล่างเป็นร้านกาแฟ ส่วนบนชั้น 2 ทำเป็นพิพิธภัณฑ์

ศิลป์ชัย เทศนา ทายาทรุ่นที่ 5ของบ้านหลังนี้ยืนรออยู่บนชั้น 2 เขาตั้งชื่อที่นี่ว่า “พิพิธภัณฑ์บ้านคุณตาหลวงเพชรสงคราม” หลวงเพชรสงครามเป็นคุณตาของคุณตา ท่านเป็นยกกระบัตรเมืองอุทัยธานี สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันบ้านหลังนี้เป็นที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาและเป็นของสะสมของเขาเอง

“ภรรยาของผมชื่อ จงรัก คนที่กำลังช่วยลูกสาวเสิร์ฟอยู่ข้างล่าง” ศิลป์ชัยมองไปที่รูปหญิงสาวยิ้มสวยบนโต๊ะทำงาน

“รูปแบบบ้านเป็นแบบจีนผสมไทย อย่างในตลาดอุทัยฯ ก็จะเห็นตึกแถวอย่างนี้สร้างจากไม้ผสมปูน โดยแต่เดิมสินค้าส่งออกของเมืองอุทัยฯ คือไม้ซุง อย่างท่าซุงในปัจจุบันก็เคยเป็นที่ทิ้งซุง คือตัดไม้ซุงมาแล้วนำไปทิ้งลงแม่น้ำแล้วใช้แพลากซุงล่องไปกรุงเทพฯ”

ถามต่อว่า มาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องมาดูอะไร พ่อศิลป์ชัยตอบทันทีว่า ถ้าไม่รีบไปไหนก็ค่อยๆ ดู พร้อมพาเดินทัวร์อธิบายของแต่ละชิ้นว่า อย่างง้าวดาบที่ติดอยู่บนผนังเหนือบันได เป็นสิ่งของตกทอดมาจากรุ่นทวด ชิ้นบนสุดเรียกว่า ง้าวบกไม่มีตะขอสับช้าง ใช้เป็นอาวุธสงครามของทหารราบและทหารม้า ถัดลงมาคือ ดาบสองคม และกระบี่ เป็นของตกทอดมาจากปู่ทวด

เที่ยวตามแสง แลเมืองอุทัยฯ

“โต๊ะทำงานที่เห็นเป็นโต๊ะมหาดไทยโบราณ สามารถนั่งได้สองฝั่ง มีลิ้นชักสองด้าน โคมไฟด้านบนก็เป็นโคมไฟโบราณ สามารถใช้มือชักรอกเพื่อปรับความสว่าง สมัยก่อนไม่มีดิมเมอร์ ต้องใช้ดิมมือ”พ่อศิลป์ชัยเล่นคำ

“ส่วนเครื่องเงินโบราณส่วนใหญ่เป็นของคุณยาย เครื่องถ้วยลายครามคุณแม่เคยใช้สมัยเด็กๆ และเครื่องมือประกอบอาชีพของปู่ย่าตายายที่เก็บไว้ให้ลูกหลานดู มีเตารีดจีนโบราณที่ต้องใส่ก้อนถ่านเป็นของตกทอดมาจากคุณพ่อของจงรักที่เคยเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องมือทำทองของคุณยาย และลูกคิดของคุณพ่อผมที่เคยเป็นเสมียนโรงสี มีหน้าที่ทำบัญชี”

ส่วนห้องนอนที่ถูกจัดวางข้าวของอย่างมีระเบียบสวยงาม เตียงที่เห็นเป็นเตียงวิวาห์ของคุณพ่อคุณแม่ของศิลป์ชัยเข้าชุดกับตู้เสื้อผ้า ส่วนโต๊ะเครื่องแป้งเป็นของคุณยายสมัยยังสาว ซื้อมาในราคา 6 บาท เรียกว่า โต๊ะเครื่องแป้งกระจกหูช้าง

จากห้องนอนสามารถเดินเชื่อมต่อไปยังเรือนไทยใต้ถุงสูงด้านหลังที่มีอายุ 106 ปีสร้างสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งหลังนี้คือ เรือนหอของคุณยาย

“เรือนนี้ไม่มีนอต ไม่มีตะปู สร้างขึ้นจากไม้มะม่วง จุดที่ต้องโชว์คือ ช่องหนีโจร ไว้หนีโจรลงใต้ถุน” ว่าแล้วพ่อศิลป์ชัยก็ยกแผ่นไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าขึ้นจากพื้น เผยเป็นช่องพอดีตัวให้หย่อนหนีโจร

“แม่เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนจะมีบันไดหย่อนลงไป เรียกว่า บันไดชัก ยิ่งถ้ามีลูกสาวต้องให้ลูกสาวลงไปก่อน เพราะเดี๋ยวโจรจะฉุดตัวไป เพราะสมัยก่อนมีโจรชุม ยกตัวอย่างบ้านของภรรยาผมเคยถูกโจรขึ้นบ้าน 30 คน”

พ่อศิลป์ชัยกล่าวต่อถึงลักษณะใต้ถุนสูงว่า ตัวเมืองอุทัยฯ ถูกน้ำท่วมบ่อย ทุกบ้านจึงสร้างบ้านใต้ถุนสูง เวลาน้ำมาไม่ใช่เรื่องแปลกหรือลำบาก แต่กลับเป็นเรื่องสนุกของเด็กๆ

เที่ยวตามแสง แลเมืองอุทัยฯ

“ผมเกิดบนบ้านหลังนี้ ทำคลอดด้วยหมอตำแย แล้วพ่อนำสายรกใส่หม้อดินฝังไว้ใต้บันได เป็นความเชื่อเรื่องฝังรกรากให้รักถิ่นฐาน ผมมีพี่น้อง 6 คน แต่พ่อฝังรกผมคนเดียว อาจเป็นเหตุผลทำให้ผมดูแลบ้านหลังนี้ต่อ ส่วนด้านข้างเป็นห้องครัว ต้องอยู่บนเรือนเพราะน้ำท่วมประจำ หน้าต่างทุกบานเปิดเข้าตัวบ้านทั้งหมด เพราะถ้าเปิดออกตัวบ้านจะทำให้ไม้ผุเร็ว”

ทุกสิ่งทุกอย่างมีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของพ่อศิลป์ชัย ซึ่งปัจจุบันเขาและครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านอีกหลัง หลังที่ปรับเป็นร้านกาแฟและเรือนหอได้อุทิศให้เป็นพิพิธภัณฑ์มานาน 5 ปี เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น.

จากนั้นเมื่อเข็มสั้นเดินทางไปถึงเลข 6ของหัวค่ำ เป็นเวลาของ “ถนนคนเดินตรอกโรงยา” หรือตลาดเก่าบ้านสะแกกรังเป็นถนนคนเดินเปิดเฉพาะวันเสาร์ เวลา 16.00-20.00 น. เป็นถนนสายสั้นๆ ระยะทางเพียง 150 เมตร แต่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของบ้านไม้โบราณที่ยังคงสภาพเดิมไว้ บ้านบางหลังถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเก็บของใช้เก่าๆ ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี ส่วนบางหลังปรับเป็นร้านอาหารสไตล์วินเทจ

แต่ส่วนใหญ่ร้านค้าจะเป็นแผงลอยหรือไม่ก็ปูผ้าขายแบกับดิน มีสินค้าสารพัดทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ โปสต์การ์ดหนังสือ ของใช้มือสอง ส่วนอาหารก็น่าลิ้มลอง เช่น ขนมถังแตกเจ้าแรกของอุทัยฯข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมเบื้องญวน หมูสะเต๊ะลูกชิ้นปลากราย และปลาแนม

นอกจากนี้ ต้องห้ามพลาดแวะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์โรงยาฝิ่น ที่จะอธิบายที่มาของชื่อตรอกโรงยาแห่งนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีโรงยาฝิ่นควันโขมง

หลายเรื่องราวเกิดขึ้นตั้งแต่เช้ามืดจรดหัวค่ำ ภายในอาณาเขตไม่กว้างขวางของเมืองเก่าอุทัยฯ ผู้มาเยือนจะได้ชิม ช็อป ชม แถมยังได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสัมผัสวิถีชีวิตของลูกแม่น้ำสะแกกรังผ่านน้ำเต้าหู้ยามเช้า กาแฟยามบ่าย และน้ำเปล่าผสมน้ำยาอุทัยยามเย็น จบหนึ่งวันแบบบริบูรณ์